มะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิง และเป็นสาเหตุการตายของผู้หญิงทั่วโลก มะเร็งเต้านม เพื่อเป็นคู่มือให้เฝ้าระวังการเกิดมะเร็งเต้านม จึงควรมาทำความรู้จักให้ดี เต้านมของผู้หญิงทุกคนเริ่มเจริญเติบโตเมื่อมีฮอร์โมนเพศจากรังไข่ปรากฏขึ้น ประมาณอายุ 10-11 ขวบ
10 ขอเท็จจริงที่ควรรู้ “มะเร็งเต้านม”
1. มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งในผู้หญิงที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งของผู้หญิงทั่วโลก การศึกษาพบว่า ภายใน 10 ปีข้าหน้าผู้หญิงจะมีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมดังนี้
– อายุ20 ปี โอกาสเกิด 1 : 1,985
– อายุ30 ปี โอกาสเกิด 1 : 229
– อายุ40 ปี โอกาสเกิด 1 : 68
– อายุ50 ปี โอกาสเกิด 1 : 37
– อายุ60 ปี โอกาสเกิด 1 : 26
– อายุ70 ปี โอกาสเกิด 1 : 24
ส่งผลให้ชั่วชีวิตของผู้หญิงทุกคนมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม 1 ใน 8 (ทุกวันนี้ในผู้หญิง 8 คนจะต้องมีคนเป็นมะเร็งเต้านม 1 คน) และร้อยละ 3.5 มีโอกาสเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม
2. สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา
– มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งในผู้หญิงที่พบมากเป็นอันดับหนึ่ง
– มะเร็งเต้านมพบเป็นร้อยละ 30 ของมะเร็งที่เกิดในผู้หญิงทั้งหมด
– มีมะเร็งเต้านมรายใหม่เกิดขึ้นประมาณ 210,000 คนต่อปี
– เป็นสาเหตุการตายของผู้หญิงอันดับสองรองจากมะเร็งปอด
– ร้อยละ 20 ของการตายด้วยมะเร็งของผู้หญิง เป็นการตายด้วยมะเร็งเต้านม โดยเสียชีวิตปีละกว่า 40,000 คน
– เฉลี่ยแล้วมีคนตายด้วยมะเร็งเต้านมทุก 13 นาทีต่อคน
หากดูตามช่วงอายุ ปัจจุบันสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของผู้หญิงในประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงอายุ 40-55 ปี คือ มะเร็งเต้านม
3. ในคนไทย มะเร็งเต้านมพบมากเป็นอันดับหนึ่งในมะเร็งสตรีโดย 1 ใน 10 ของหญิงไทยทุกคนที่นับอายุจากตั้งแต่เกิดจนถึงเสียชีวิตมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม
4. มะเร็งเต้านมเกิดในผู้ชายได้ด้วย แต่มีน้อยกว่าผู้หญิงมาก และปัจจัยเรื่องเพศไม่มีความแตกต่างเรื่องการหายของโรคหรือการรอดชีวิตจากมะเร็ง
5. อย่าคิดว่าอายุน้อยเกิดกว่าจะเป็นมะเร็งเต้านม แม้จะไม่ใช่โรคของวัยรุ่น แต่อายุน้อยที่สุดของผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านม คือ 20 ปี
6. ร้อยละ 0.5-4 ของมะเร็งเต้านมเกิดในหญิงตั้งครรภ์ แต่การตั้งครรภ์หรือไม่ตั้งครรภ์ไม่มีความแตกต่างเรื่องการหายของโรคหรือการรอดชีวิตจากมะเร็ง
7. การศึกษาพบว่า การตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกจากการตรวจเต้านมด้วยตนเอง ร่วมกับการตรวจเอกซเรย์พิเศษเต้านมที่เรียกแมมโมแกรมเมื่ออายุมากกว่า 40 ปี ทำให้มีโอกาสรอดชีวิตสูงสุด
8. งานวิจัยที่เชื่อถือได้หลายเรื่องพบว่า การตรวจแมมโมแกรมลดการตายจากมะเร็งเต้านมในผู้หญิงอายุ 40-69 ปีได้ร้อยละ 14-32
9. แม้การคลำพบก้อนที่เต้านมจะเป็นอาการแรกของมะเร็งเต้านม แต่ก้อนที่เต้านมมากกว่าร้อยละ 80 ไม่ใช่มะเร็งเต้านม
10. การแพทย์ที่ทันสมัย และการตรวจพบโรคมะเร็งเต้านมได้เร็วส่งผลให้การรักษาได้ผล โอกาสเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมลดลงกว่าสมัยสอบกว่าปีก่อนเป็นอย่างมาก หากรักษาตามมาตรฐาน โอกาสรอดชีวิตภายใน 5 ปีจะมีมากกว่าร้อยละ 96
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม
แม้ยังไม่ทราบว่าสาเหตุอะไรทำให้เป็นมะเร็งเต้านม แต่เชื่อว่ากรรมพันธุ์ ร่วมกับการได้รับฮอร์โมนเอสโทรเจนในจำนวนสูง หรือเป็นเวลานานอาจมีผลทำให้เกิดมะเร็งเต้านม
การแพทย์พบว่า คนเป็นมะเร็งเต้านมมักมีปัจจัยเสี่ยง แต่แม้ไม่มีปัจจัยเสี่ยงคุณก็อาจเป็นมะเร็งเต้านมได้
หากมีปัจจัยต่อไปนี้ โอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมจะสูงขึ้น
1. เพศหญิง พบมะเร็งเต้านมในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 100 เท่า
2. อายุ ยิ่งอายุมากความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมยิ่งมากขึ้น โดยพบว่า 4 ใน 5 คนของคนไข้มะเร็งเต้านมเกิดในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 50 ปี มีเพียงร้อยละ 5 ของมะเร็งเต้านมที่เกิดในผู้หญิงอายุต่ำว่า 40 ปี
3. ฐานะทางเศรษฐกิจ หากมีฐานะดี มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนที่ฐานะไม่ดี 2 เท่า
4. มีความเครียดเรื้อรัง เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนที่ไม่เครียด 2 เท่า
5. น้ำหนักตัวมาก หากอ้วน คุณเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนน้ำหนักปกติ 2 เท่า
6. กลุ่มอาการของโรคเมแทบอลิก (Metabolic Syndrome) คือ อ้วนความดันโลหิตสูง เป็นเบาหวาน หากอยู่ในกลุ่มอาการนี้ มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนที่ไม่เป็น 3 เท่า
7. กินอาหารไขมันสูง เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนที่ไม่กิน 3 เท่า
8. ดื่มเหล้า เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนที่ไม่ดื่ม 1.1-1.3 เท่า
9. ไม่ออกกำลังกาย เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ 2 เท่า
10. มีพันธุกรรม ร้อยละ 10 ของคนไข้มะเร็งเต้านมมีญาติเป็นเมะเร็งเต้านม โดยพบว่าหากญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม จะมีความเสี่ยงสูงกว่าคนที่ไม่มีญาติเป็น 1.5-8.8 เท่า รายละเอียดมีดังนี้
หากปู่ย่าตายายป้าน้าอาเป็น จะมีความเสี่ยง 1.5 เท่า
หากแม่หรือพี่น้องเป็นมะเร็งเต้านมข้างเดียวในช่วงมีประจำเดือน จำมีความเสี่ยง 1.8 เท่า
หากแม่หรือพี่น้องเป็นมะเร็งเต้านมสองข้างในช่วงมีประจำเดือน จะมีความเสี่ยง 8.8 เท่า
หากแม่หรือพี่น้องเป็นมะเร็งเต้านมข้างเดียวในช่วงหมดประจำเดือน จำมีความเสี่ยง 1.2 เท่า
หากแม่หรือพี่น้องเป็นมะเร็งเต้านมสองข้างในช่วงหมดประจำเดือน จำมีความเสี่ยง 4 เท่า
11. คนผิวขาว เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนผิวเหลืองแถบเอเชีย 5 เท
12. หากอาศัยอยู่ในประเทศแถบตะวันตกที่มีอากาศหนาวเย็น เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมอีกข้างมากกว่าประเทศทางตะวันออกหรือแถบเอเชีย 1.5 เท่า
13. เต้านมมีก้อน ผลการตรวจชิ้นเนื้อโดยพยาธิแพทย์พบว่า เป็นถุงน้ำและพังผืดชนิดเนื้อหนาผิดปกติที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งการคลำ หรือการตรวจ หรือการดูชิ้นเนื้อ หากพบว่าเป็นชิ้นเนื้อที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้อื่น 2-5 เท่า
14. เคยเป็นมะเร็งเต้านมข้างหนึ่ง จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมอีกข้างมากกว่าผู้อื่น 5 เท่า
15. เคยได้รับการฉายแสงที่บริเวณทรวงอกก่อนอายุ 32 ปี เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนที่ไม่เคยฉายรังสี
16. โสด หรือแต่งงานแล้วไม่มีลูก เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนมีลูก 3 เท่า
17. มีลูกคนแรกเมื่ออายุมากกว่า 34 ปี เสี่ยงต่อการเป็นเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนมีลูกขณะอายุน้อยกว่า 4 เท่า
18. มีประจำเดือนเร็ว ก่อนอายุ 12 ปี เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมกว่าคนมีประจำเดือนช้ากว่า 12 ปี 1.3 เท่า
19. หมดประจำเดือนช้างเกินอายุ 55 ปี เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนหมดประจำเดือนเร็วกว่า 1.2-1.5 เท่า
20. มีญาติพี่น้องหรือตัวเองเป็นมะเร็งรังไข่ เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้ที่ไม่เป็น
21. มียีนกลายพันธุ์บีอาร์ซีเอ 1 และหรือบีอาร์ซีเอ 2 (BRCA1, BRCA2) มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมสองข้างในช่วงอายุก่อนหมดประจำเดือน
22. ยาคุมกำเนิด อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม แต่หากหยุดยาคุมกำเนิดนาน 10 ปี โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมเท่ากับคนทั่วไป
23. การให้ฮอร์โมนเพศหญิงเอสโทรเจนทกแทนการหมดประจำเดือน (วัยทอง) นานเกิน 5 ปี อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมมากกว่าคนทั่วไป 1.3 เท่า แต่หากหยุดฮอร์โมนนาน 5-10 ปี โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมเท่ากับคนทั่วไป
มะเร็งเต้านมมีกี่ชนิด
มีการแบ่งชนิดของมะเร็งเต้านมดังนี้
1. มะเร็งเต้านมที่ยังไม่ลุกลาม เช่น มะเร็งในท่อนม หรือมะเร็งต่อมนม มะเร็งไม่กระจายผ่านผิวที่ห่อหุ้มออกมาที่เนื้อเยื่ออื่นๆ ของเต้านม ซึ่งการรักษาจะได้ผลดีที่สุด
2. มะเร็งระยะลุกลามของเต้านม มะเร็งชนิดนี้ลุกลามออกจากเยื่อหุ้ม ท่อนม หรือต่อมนม กระจายไปที่เนื้อของเต้านม หรืออาจกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ได้แก่
2.1 มะเร็งระยะลุกลามของท่อนม มะเร็งชนิดนี้พบมากที่สุดคือ 8 ใน 10 ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด มะเร็งชนิดนี้เริ่มที่ท่อนม ลุกลามออกจากท่อนมไปยังเนื้อนมรอบๆ หรืออาจกระจายไปทางหลอดเลือด หลอดน้ำเหลือง
2.2 มะเร็งระยะลุกลามของต่อมนม มะเร็งชนิดนี้เริ่มที่ต่อมนมลุกลามออกมาจากเยื่อหุ้มต่อมนม กระจายไปที่เนื้อของเต้านมหรืออาจกระจายไปทางหลอดเลือด หลอดน้ำเหลืองพบ 1 ใน 10 ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด
มะเร็งเต้านมชนิดลุกลามอื่นๆ ที่พบน้อยมีอีกมากมายหลายชนิด ได้แก่
- มะเร็งเต้านมชนิดอักเสบ พบร้อยละ 1-3 ของมะเร็งเต้านมทั้งหมดเหมือนเป็นเต้านมอักเสบ แต่เต้านมจะแข็ง ผิวหนังที่คลุมเต้านมบวมหนา มีรูบุ๋มลงไปเหมือนเปลือกส้ม มะเร็งชนิดนี้พยากรณ์โรคไม่ค่อยดี มักกระจายไปทางหลอดเลือด หลอดน้ำเหลือง
- มะเร็งเต้านมชนิดผสมผสาน คือ มีหลายอย่างผสมกัน รักษาเหมือนมะเร็งระยะลุกลามของท่อนม
- มะเร็งเต้านมชนิดที่มีเซลล์มะเร็งแบบพิเศษ และมีเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับภูมิต้านทานของร่างกายร่วมด้วย พบร้อยละ 3-5 ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด รักษาเหมือนมะเร็งระยะลุกลามของท่อนม
- มะเร็งเต้านมชนิดมีมูก พบได้น้อยมากๆ เป็นมะเร็งของเซลล์ในเต้านม ซึ่งสร้างมูก การพยากรณ์ของโรคมักดีกว่ามะเร็งเต้านมชนิดลุกลามอื่นๆ
- มะเร็งหัวนม พบร้อยละ 1 ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด เป็นมะเร็งที่เริ่มจากท่อนม แล้วมาโผล่ที่หัวนมและลานนม ลักษณะเป็นสะเก็ด มีน้ำเหลืองหรือเลือดซึม บริเวณที่เป็นมักมีสีแดง ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคผิวหนัง จึงได้รับการรักษามะเร็งช้า
- มะเร็งของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ไขมันในเต้านม พบน้อย รักษาด้วยการผ่าตัด มะเร็งเหล่านี้มักไม่สนองต่อการรักษาวิธีอื่นๆ ไม่ว่าเคมีบำบัด รังสีรักษา หรือฮอร์โมน
- มะเร็งของเส้นเลือดในเต้านม พบน้อยมากๆ เมื่อเจอมักเป็นภาวะแทรกซ้อนต่อจากการรักษามะเร็งเต้านมด้วยการฉายแสง มักเกิดขึ้นหลังฉายแสง 5-10 ปี บางครั้งมะเร็งชนิดนี้ก็เกิดที่ต้นแขนหรือรักแร้ ซึ่งเป็นผลของการฉายแสดงบริเวณต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้
อาการของมะเร็งเต้านม
คำว่าอาการนั้นหลายคนเข้าใจว่าความปวดเจ็บเป็นอาการของมะเร็งเต้านม จึงไม่มาหาแพทย์ เมื่อคลำได้ก้อนที่เต้านม แต่ไม่ปวดไม่เจ็บ นั่นเป็นความเข้าใจผิดที่อาจทำให้ละเลยและมาพบแพทย์ช้าไป อาการของมะเร็งเต้านมนั้นไม่จำเพาะเจาะจง แต่อาจพบได้ดังนี้
- คลำพบก้อนที่เต้านม คนไข้มะเร็งเต้านมที่มาพบแพทย์ประมาณร้อยละ 80 คลำพบก้อนด้วยต้นเอง
- รักแร้บวม เนื่องจากต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้บวมโตขึ้น
- เจ็บจี๊ดที่เต้านม แม้อาการเจ็บปวดส่วนใหญ่ของเต้านมจะไม่ใช่อาการของมะเร็งเต้านม แต่มีคนไข้มะเร็งเต้านมบางส่วนที่มาพบแพทย์ด้วยอาการเจ็บที่เต้านม ในกรณีที่เป็นมะเร็งเต้านม เมื่อคลำหรือตรวจโดยแมมโมแกรมมักพบก้อนที่น่าสงสัยซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เจ็บ ส่วนอาการเจ็บโดยไม่มีก้อนที่เต้านม ไม่ว่าจะโดยการคลำหรือการตรวจด้วยแมมโมแกรมมักไม่ใช่มะเร็ง
- เต้านมเปลี่ยนไป เช่น เปลี่ยนรูปร่าง โตขึ้น แฟบลง บิดเบี้ยว ระดับเต้านมสองข้างที่เคยเท่ากันกลับไม่เท่ากัน ผิวหนังเต้านมบวมร้อนแดง ผิวหนังของเต้านมบุ๋มเหมือนผิวส้ม ผิวหนังหนาขึ้น
- หัวนมเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น หดไป บุ๋ม มีอาการเจ็บ คัน มีผื่น สะเก็ดน้ำเหลือง มีแผล
- มีน้ำผิดปกติไหลออกจากหัวนม โดยทั่วไปหากเป็นน้ำเหมือนนม หรือน้ำเหลือง ในระยะที่ไม่ได้ให้นมลูก มักไม่ใช่มะเร็งเต้านม แต่ถือว่าผิดปกติ ต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจระบบฮอร์โมน น้ำที่ออกจากหัวนมในกรณีมะเร็งเต้านมซึ่งพบน้อยมากมักจะเป็นน้ำปนเลือด
- มีแผลเรื้อรังที่เต้านมไม่หาย
ระยะของมะเร็งเต้านม
ระยะที่0 เป็นมะเร็งระยะเริ่มแรกที่ไม่ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อเต้านม วินิจฉัยโดยการติดเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยา หรือเป็นมะเร็งหัวนมที่ไม่มีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง และไม่มีการกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ตั้งแต่ระยะที่ 1 เป็นต้นไปเป็นมะเร็งระยะลุกลาม
ระยะที่1 ก้อนมะเร็งเต้านมโตน้อยกว่า 2 เซนติเมตร ไม่มีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง และไม่มีการกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ
ระยะที่2 แบ่งเป็นชนิด 2a และ 2b
2a มีสองกรณีดังนี้
- ไม่พบก้อนมะเร็งเต้านม หรือก้อนมะเร็งเต้านมโตน้อยกว่า 2 เซนติเมตร แต่มีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง
- ก้อนมะเร็งโต 2-5 เซนติเมตร ไม่มีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง และไม่มีการกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ
2b มีสองกรณีดังนี้
- ก้อนมะเร็งโตมากกว่า 2 เซนติเมตร และมีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้แบบผิวๆ
- ก้อนมะเร็งโตมากกว่า 5 เซนติเมตร ไม่มีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง และไม่มีการกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ
ระยะที่3 แบ่งเป็นชนิด 3a และ 3b
3a มีการตรวจพบดังนี้
ไม่พบก้อนมะเร็งเต้านม หรือก้อนมะเร็งเต้านมโตน้อยกว่า 2 เซนติเมตร จนถึงมากกว่า 5 เซนติเมตร มีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้แบบกินลึก แต่ไม่มีการกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ
3b ก้อนมะเร็งขนาดใดก็ได้กินทะลุออกมาที่ผิวหนัง มีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองหรือไม่ก็ได้ แต่ยังไม่มีการกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ
ระยะที่4 (ระยะสุดท้าย)
มีการกระจายไปไกล เช่น ไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณไหปลาร้า กระดู ตับ ปอด สมอง
การรักษามะเร็งเต้านม
การรักษามะเร็งเต้านมมี 5 แบบดังนี้
- การผ่าตัด
- รังสีรักษา
- เคมีบำบัด
- ฮอร์โมนบำบัด
- ภูมิต้านทานบำบัด
ข้อมูลจาก หนังสือต้านมะเร็งเต้านม สำนักพิมพ์อมรินทร์สุขภาพ
บทความน่าสนใจอื่นๆ