อาหารต้านง่วงเหงาหาวนอน

เมื่อความง่วงเหงาหาวนอนไม่ได้มาเยือนเพียงยามราตรีแต่คุกคามชีวิตประจำวันจนก่อความรำคาญ สามอาจารย์หมอจึงขอแจงให้คุณทราบถึงที่มาของอาการง่วงไม่หยุดและวิธีการรักษาเยียวยาโดยไม่ต้องพึ่งกาแฟกัน

ต้านง่วงเหงาหาวนอนด้วย “ซุปคุณย่า (อู่เจ็งซิ้ง)”

180-recipe-13-s

“ซุปคุณย่า (อู่เจ็งซิ้ง)”

คุณเคยมีอาการง่วงนอนบ่อย ๆ ในเวลาทำงานหรือยังไม่ถึงเวลานอนหรือไม่ บางคนตื่นนอนแล้วยังรู้สึกง่วงและไม่ค่อยสดชื่นบางคนง่วงหาวนอนทั้งวัน บางคนพอวันหยุดก็นอนทั้งวันบางคนง่วงหลังรับประทานอาหารใหม่ๆ พอได้งีบกลับสักพักก็ดีขึ้นบางคนหน้าตาดูไม่สดชื่น หาวทั้งวัน บางคนต้องพึ่ง ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มชูกำลังเพื่อกระตุ้นให้ตื่นหรือสดชื่น แต่พอหมดฤทธิ์การกระตุ้นเหมือนแบตเตอรี่หมดหรือนอตหลุดก็มีค่ะบางคนถึงขั้นวูบหลับก็มี ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายมากถ้าอยู่ในช่วงขับรถหรือกำลังทำงานที่มีความเสี่ยงต่าง ๆ อยู่

อาการง่วงเหงาหาวนอนที่พบโดยส่วนใหญ่มีสาเหตุเพียงไม่กี่ประการ เช่น เป็นหลังรับประทานอาหารใหม่ ๆ ทำงานหนักพักผ่อนไม่เพียงพอ อดนอนมาหลายวันอยู่ในระหว่างการเจ็บป่วยเป็นไข้ อาการโดยทั่วไปมีหลายสาเหตุ เช่น จากยารักษาอาการหวัด (ยาแก้หวัดลดน้ำมูก) แต่ในปัจจุบันแพทย์อาจให้ยาที่ไม่ทำให้เกิดอาการง่วง อยู่ในระหว่างการเจ็บป่วยหรือพักฟื้นจากการเจ็บป่วย หลังรับประทานอาหารซึ่งสาเหตุจากเลือดมาเลี้ยงที่บริเวณกระเพาะอาหารมากในช่วงการย่อยอาหาร ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองลดลง เกิดจากการใช้สมองหนักและพักผ่อนไม่เพียงพอจึงทำให้เกิดอาการสมองล้า เกิดจากนอนพักผ่อนไม่พอ เช่น มักฝันบ่อย ๆ มีเรื่องวิตกกังวล คิดมากเป็นต้น

ในทางการแพทย์แผนไทยมองว่า อาการง่วงเหงาหาวนอนกลางวันนั้น ส่วนหนึ่งเชื่อมโยงกับธาตุลม (ลมพัดขึ้นเบื้องบน) และการทำงานเกินกำลังทั้งด้านร่างกายและสมองโดยปัจจัยหลักเกี่ยวกับวาตะ (การไหลเวียนของเลือดและการทำงานของระบบประสาทสมอง) ถ้าวาตะไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ(วาตะเสียสมดุล) จะส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆได้ เช่น มึนงง วิงเวียน อาการสมองล้าง่วงหาวนอน เป็นต้น เพราะไม่สามารถพัดพาโลหิตไปเลี้ยงสมองได้เพียงพอ

การลดปัญหาที่ทำให้ง่วงหาวนอนมีหลายวิธีดังนี้ เช่น

  • ดื่มเครื่องดื่มที่ทำให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่า เช่น น้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ชา กาแฟ
  • เปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ พร้อมหายใจเข้าลึก ๆ ออกยาว ๆ ประมาณ 5 – 10 นาทีแล้วดื่มน้ำเย็นหรือน้ำผลไม้
  • หาที่ที่จะงีบหลับในช่วงเวลา 20 – 30 นาที แล้วล้างหน้าด้วยน้ำเย็นเพื่อเพิ่มความสดชื่น
  • หาเครื่องดื่มที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองให้สดชื่น ลดการเหนื่อยล้า
  • พยายามเข้านอนในช่วงเวลาไม่เกินสี่ทุ่มเพื่อให้มีเวลาพักผ่อนที่เพียงพอ
  • ถ้ามีความวิตกกังวลควรหาทางลดหรือแก้อาการวิตกกังวล เช่น การฟังเพลงสบาย ๆ หางานอดิเรกทำ ฝึกสมาธิ หรือกิจกรรมอื่นตามที่ชอบ
  • รับประทานอาหารที่บำรุงสมองและกระตุ้นการทำงานของสมอง พร้อมยังส่งเสริมให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่า ซึ่งในทางแพทย์แผนไทยจะแนะนำว่า หากมีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น ให้ปรับมารับประทานอาหารที่มีรสสุขุมร้อน หรือมีน้ำมันหอมระเหยหรือรสเปรี้ยว ซึ่งจะเสริมการทำงานของธาตุลมและธาตุไฟเพื่อปรับสมดุลของธาตุ(การไหลเวียนและระบบประสาท) หรือจะใช้เครื่องยาที่มีสรรพคุณช่วยให้การไหลเวียนโลหิตขึ้นสู่สมองได้ดีขึ้นก็ได้ อย่างเช่นเมนูที่ดิฉันขอนำเสนอในครั้งนี้นั่นเอง

***อาหารแนะนำสำหรับอาการง่วงคือเมนูซุปคุณย่า(อู่เจ็งซิ้ง) ดูสูตรที่นี่***

 

โดย : อาจารย์วันทนี ธัญญา เจตนธรรมจักร ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทย
เรียบเรียง : สิทธิโชค ศรีโช ผู้ช่วยกองบรรณาธิการ : ธนพร บุญปักษ์