ไก่ต้มข่า

ไก่ต้มข่า สูตรแกงอร่อยเด็ดแบบไทยๆ ที่ต้องลอง

อาหารไทย เมนู ไก่ต้มข่า เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยรับประทาน แต่ถ้าใครอยากจะลองโชว์ฝีมือดูเองบ้าง มาดูวิธีทำ ไก่ต้มข่า กันค่ะ

ไก่ต้มข่า อาหารไทยที่คุ้นเคยเป็นอย่างดี เป็นแกงไก่ใส่กะทิปรุงรสด้วยผักสมุนไพรต่างๆ เช่น ข่าอ่อน กระเทียม หอม คล้ายกับเครื่องต้มยำ นิยมทำรับประทานกันอย่างแพร่หลาย ทานคู่กับข้าวสวยร้อนๆ เข้ากันได้ดีเลยทีเดียว

 

ไก่ต้มข่า

ขั้นตอนการทำเมนู ไก่ต้มข่า

ส่วนผสม (สำหรับ 4 ที่) เตรียม 30 นาที ปรุง 20 นาที

ส่วนผสม (สำหรับ 4 ที่) เตรียม 30 นาที ปรุง 20 นาที

ไก่สาวแล่เอาแต่เนื้อหั่นชิ้นพอคำ 2 ถ้วย
หัวกะทิ 3 ถ้วย
ข่าอ่อนหั่นแว่นบาง 1 ถ้วย
เห็ดฟางหั่นครึ่งดอก 1 ถ้วย
กระเทียมกลีบเล็ก 7 กลีบ
พริกขี้หนู 7 เม็ด
หอมเล็กซอย 1/4 ถ้วย
น้ำสต๊อกเคี่ยวจากกระดูกไก่ 2 ถ้วย
น้ำมะนาว น้ำปลา พริกขี้หนูบุบสำหรับทำลูกโดด
ผักชีซอย ต้นหอมซอย ตามชอบ

วิธีทำ ไก่ต้มข่า

ผสมหัวกะทิกับน้ำสต๊อกไก่ให้ได้กะทิกลางใส่ลงในหม้อ ยกขึ้นตั้งไฟ พอเดือดใส่กระเทียมโขลกรวมกับพริกขี้หนู แล้วใส่เนื้อไก่ลงต้มจนเดือดและหรี่ไฟลง เคี่ยวสักพักพอไก่นิ่ม เร่งไฟขึ้นใส่ข่าซอย หอมเล็กซอย เห็ดฟาง รอจนเห็ดสุก ปิดไฟปรุงรสด้วยน้ำปลา พริกขี้หนูบุบ ชิมรสดูตามชอบตักใส่ถ้วย โรยผักชีและต้นหอมซอย รับประทานกับข้าวสวยร้อน ๆ

***ฤดูหนาวใช้น้ำอุ่นคั้นกะทิ กะทิมะพร้าวคือไขมัน ดังนั้นในช่วงที่อากาศหนาวไขมันจะจับตัวแข็ง ทำให้คั้นน้ำกะทิแล้วไม่ได้มัน จึงควรใช้น้ำอุ่นช่วยคั้นกะทิ

พลังงานต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 610.30 กิโลแคลอรี
โปรตีน 19.36 กรัม ไขมัน 56.66 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 13.77 กรัม ไฟเบอร์ 0.76 กรัม

ไก่ต้มข่า

เรื่องน่ารู้ของกะทิ

แม้ในปี 2558 มีนักวิทยาศาสตร์อ้างว่า ได้ค้นพบรสชาติใหม่คือ รสมัน แต่รสดังกล่าวยังไม่จัดอยู่ในรสชาติพื้นฐาน
อย่างไรก็ตาม ในอาหารไทยนั้นรสมันนั้นช่วยเพิ่มความอร่อยอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะที่ใช้กันมากก็คือ รสมันอมหวาน กลิ่นหอมจากกะทินั่นเอง

1.ใช้มะพร้าวแก่แค่ไหนคั้นกะทิ ความแก่อ่อนของมะพร้าวมีผลต่อความมันของกะทิ ยิ่งแก่มากกะทิยิ่งมันมาก หากได้มะพร้าวที่แก่แห้งคาทะลายจะมีความมันสูงที่สุด แต่ในขณะเดียวกันยิ่งมะพร้าวแก่เท่าใด ความหวานของกะทิก็จะลดน้อยลง ดังนั้นหากจะนำมาทำขนมหรืออาหารบางประเภทที่ต้องการความหวานจากกะทิ เช่น ขนมจีนซาวน้ำ ต้มกะทิใต้ ฯลฯ ควรเลือกมะพร้าวที่แก่แต่ยังไม่ลงจาว เมื่อปอกกะลาออกแล้ว ผิวมะพร้าวยังคงสีน้ำตาลอ่อนยังไม่เข้มมาก แต่หากทำอาหารประเภทแกงที่ต้องการให้แตกมันให้ใช้มะพร้าวที่แก่หรือลงจาวอ่อนแล้วได้ มะพร้าวชนิดนี้กะลาจะดำ เมื่อผ่ากะลาแล้วผิวเยื่อที่หุ้มมะพร้าวจะมีสีดำ

2. มะพร้าวที่งอกและลงจาวแล้วเนื้อจะเริ่มลดความมันลงเรื่อย ๆ เนื่องจากส่วนที่เราเรียกว่าเนื้อมะพร้าวและน้ำมะพร้าวนั้น แท้จริงคือเอ็นโดสเปิร์มของมะพร้าว ซึ่งทำหน้าที่เป็นเสมือนอาหารของต้นอ่อนมะพร้าว ดังนั้นเมื่อ มะพร้าวงอกและลงจาว ยิ่งจาวใหญ่เท่าใดคุณภาพของเนื้อมะพร้าวจะยิ่งลดลง เพราะสารอาหารที่กักเก็บไว้
ถูกดึงไปใช้

3. ฤดูหนาวใช้น้ำอุ่นคั้นกะทิ กะทิมะพร้าวคือไขมัน ดังนั้นในช่วงที่อากาศหนาวไขมันจะจับตัวแข็ง ทำให้คั้นน้ำกะทิแล้วไม่ได้มัน จึงควรใช้น้ำอุ่นช่วยคั้นกะทิ

4. หัวกะทิแท้ คือ การคั้นกะทิจากมะพร้าวขูดแบบไม่ใส่น้ำเลยวิธีนี้จะทำให้ได้กะทิมะพร้าวที่เข้มข้นที่สุด เหมาะกับการนำไปปรุงอาหารที่ต้องการความข้นของกะทิเป็นสำคัญ

5. มะพร้าวขูดขาว คือ มะพร้าวที่ปอกเยื่อหุ้มเนื้อสีน้ำตาลเข้มออกไปเหลือแต่เนื้อสีขาว มะพร้าวนี้เมื่อนำไปคั้นกะทิ กะทิจะไม่มีฝุ่นตะกอนสีน้ำตาลซึ่งมักทำให้ระคายคอ ใช้ในการทำขนมเป็นส่วนมาก

6. กะทิแตกมัน หมายถึง การนำหัวกะทิลงเคี่ยวในกระทะหรือหม้อคนไปมาเสมอจนกระทั่งเกิดน้ำมันขึ้นบริเวณหน้ากะทิ แต่น้ำกะทิยังเป็นสีขาวและเหลวอยู่ ซึ่งอาหารประเภทแกงของไทย เมื่อกะทิแตกมันแล้วจะนำพริกแกงที่โขลกไว้ลงผัดให้ขึ้นสีสวยและมีกลิ่นหอมก่อนเติมเครื่องแกงและเครื่องปรุงอื่นๆ ลงไปหากเคี่ยวกะทิต่อไปหลังจากแตกมัน กะทิจะเริ่มข้นงวดและมีชั้นน้ำมันมากขึ้น เรียกว่า ขี้โล้

7. ทึนทึก คือ มะพร้าวที่เลยขั้นอ่อนมาจนถึงวาระสุดท้าย ก่อนจะเข้าสู่วัยมะพร้าวแก่ หรือที่เรียกกันว่า มะพร้าวห้าว มะพร้าวทึนทึกมีความมัน แต่ยังคงรสหวาน เนื้อสัมผัสยังเคี้ยวกินได้ ไม่สากคอจึงนิยมนำมาทำขนมต่าง ๆ

8. เนื้อกุ้ง และหนังหมู เป็นคำเรียกเปรียบเปรยเนื้อมะพร้าวอ่อน เนื้อกุ้ง คือ เนื้อมะพร้าวอ่อนใส โดยให้เทียบกับเนื้อกุ้ง ส่วนหนังหมูคือ คำเปรียบเนื้อมะพร้าวอ่อนที่แก่ขึ้นมาจากเนื้อกุ้ง มีลักษณะเป็นแผ่นเนื้อเหนียว หนาประมาณครึ่งเซนติเมตร กัดกินได้ มีเนื้อสัมผัสกรุบนุ่มนิยมนำมะพร้าวน้ำหอมที่มีเนื้อเช่นนี้ไปทำมะพร้าวเผา

ประโยชน์ของ ข่า

ข่า เป็นเครื่องเทศที่คนไทยนิยมใช้มากกว่า ขิง อาจเป็นเพราะ ข่านั้น ปลูกง่าย ทนทาน และไม่ต้องการ การดูแลมากนัก มีอายุยืนยาว ไม่มีการลงหัว สามารถขุดมากินมาใช้ได้ตลอดปี จึงนิยมใช้ข่าในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่เป็นทั้งเครื่องเทศดับกลิ่นคาว โดยใช้หัวข่าใส่ในต้มยำ ต้มข่า ต้มแซ่บ ใส่ในหม้อก๋วยเตี๋ยว เครื่องแกง น้ำพริกต่าง ๆ นอกจากนี้ เรายังกินหน่อข่า ดอกข่า เป็นผักแกล้ม ใส่ในข้าวยำของคนใต้ โดยใช้ใบข่าซอยใส่ลงไปหรือคั้นน้ำจากใบใส่ลงไปด้วย

สรรพคุณทางยา

ระบบทางเดินอาหาร

ข่า ช่วยในการย่อย ขับลม แก้จุกเสียดแน่นท้อง แก้ลมป่วง แก้บิด ขับน้ำดี แก้สะอึก เป็นสมุนไพรที่จะไปบำรุงไฟธาตุ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความแข็งแรงของร่างกาย ในกรณีที่จุกเสียดท้อง ปวดท้อง สามารถนำข่ามาทำเป็นยาผง ยาลูกกลอน ยาต้ม ยาชงกินก็ได้ หรือจะนำข่ามาตำ หรือฝนกับน้ำปูนใส กินเพื่อรักษาอาการดังกล่าวก็ได้

ระบบทางเดินหายใจ

ช่วยแก้ไอ แก้หวัด ลดน้ำมูก แก้หอบหืดได้เช่นเดียวกับขิง เนื่องจากมีรสร้อน จึงเหมาะที่จะบรรเทาอาการหวัดได้เป็นอย่างดี คนสมัยก่อนนิยมนำข่ามาต้มน้ำ เป็นยากินเพื่อแก้หวัดลดน้ำมูก

ส่วนอาการไอ นิยมฝนข่ากับน้ำผึ้งกินเพื่อกัดเสลด โดยอาจเจือน้ำมะนาวกับเกลือลงไปเล็กน้อย นอกจากนี้ข่ายังช่วยขยายหลอดลมได้อีกด้วย

ระบบหัวใจและหลอดเลือด

ข่า เป็นยาร้อนทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี ช่วยขับเหงื่อ ช่วยขับเลือดเสียในหญิงหลังคลอดด้วย 

ระบบประสาท

ช่วยลดอาการปวด ไม่ว่าจะปวดเมื่อยตามตัว ปวดข้อ ปวดฟัน  ปวดท้อง ปวดท้องประจำเดือน รวมทั้งอาการปวดบวม ซึ่งถ้ามีอาการเท้าแพลง ปวดกล้ามเนื้อ คนสมัยก่อนจะตำข่ามาพอกบริเวณที่มีอาการ  อีกทั้ง ข่าเป็นส่วนประกอบสำคัญของยากิน ยาประคบ อบ อาบ พอก เพื่อแก้อาการปวดและลดการอักเสบ

ระบบผิวหนัง
          
ช่วยแก้ลมพิษ แก้ผดผื่นคัน แก้กลากเกลื้อน แมลงสัตว์กัดต่อย พิษแมลงมุม เป็นต้น ซึ่งการใช้ข่าในด้านนี้ ต้องเป็นข่าแก่เท่านั้นจึงจะได้ผลดี

ขอบคุณข้อมูล Kapook

สูตรอาหารแนะนำ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.