กินเค็ม ลดเค็ม โรคไต

กินเค็มหน่อยๆ อร่อยดี! มาดูแนวทางกินเค็มอย่างไรให้ดีต่อใจและไตของคุณ

ลดเค็ม ลดโซเดียม ลดโรค

แนวทางการป้องกันโรคไตที่ดีที่สุด คือ การลดการกินอาหารเค็ม หรือลดการกินโซเดียมลง โดยวิธีการที่ดีและได้ผลสุด คือ การทำอาหารกินเองจากที่บ้าน เพื่อที่จะได้ควบคุมปริมาณการใส่เครื่องปรุงไม่ให้มากเกินความต้องการของร่างกาย

เนื่องจากการกินอาหารนอกบ้าน มักมีการเติมหรือปรุงรสเค็มด้วยน้ำปลาหรือมากไป ซึ่งสูงถึง 2 เท่าของปริมาณที่ร่างกายต้องการ โดยผลเสียที่ตามมาคือ ร่างกายมีโซเดียมสูง ทำให้ความดันโลหิตสูง เพิ่มการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ และส่งผลเสียโดยตรงต่อไต

 

แนวทางการเลือกกินอาหารรสเค็มที่จะช่วยลดโซเดียม แต่ยังอร่อยถูกปาก มีดังนี้

  • พยายามกินอาหารรสธรรมชาติ ปรุงโดยเติมน้ำปลา เกลือ ซอสต่างๆ ให้น้อยที่สุด เป็นการฝึกลิ้นให้คุ้นเคยกับอาหารจืด แม้รสเค็มจะทำให้อาหารอร่อย อาหารจืดๆ รสชาติไม่ชวนกิน เราสามารถแก้ไขโดยการปรุงให้มีรสเปรี้ยวหรือเผ็ดแทน โดยการใส่เครื่องเทศ สมุนไพรต่างๆ จะช่วยให้มีกลิ่นหอม รสชาติดี ชวนกินมากขึ้น

 

  • ลดหรือเลิกการใส่ผงชูรสในอาหาร แม้ผงชูรสเป็นสารปรุงรสที่ไม่มีรสเค็ม แต่ก็มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบอยู่ถึง  15%

 

  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่เขียนฉลากว่า โซเดียมต่ำ เลือกที่มีโซเดียมน้อยทีสุด หรือดูส่วนประกอบ เช่น ถ้าผลิตภัณฑ์ไหนมีโซเดียมมากกว่า 0.5 กรัม หรือเกลือ 1.25 กรัม ต่ออาหาร 100 กรัม ถือว่ามีเกลือและโซเดียมมากไป

 

5 อาหารควรเลี่ยง

  • อาหารสำเร็จรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น ข้าวกล่องสำเร็จรูป บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กซอง
  • อาหารหมักดอง แช่อิ่ม เช่น กะปิ เต้าหู้ยี้ ปลาร้า ไข่เค็ม ผักดอง ผลไม้ดอง แหนม ไส้กรอกอีสาน
  • อาหารตากแห้ง เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม กุ้งแห้ง
  • อาหารหมักเค็ม เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม หมูเค็ม เบคอน ไส้กรอก
  • อาหารกระป๋อง เช่น ปลากระป๋อง ผักดองกระป๋อง

 

2 สิ่งควรลด

  • ลดการจิ้มน้ำจิ้มต่างๆ กับอาหาร เช่น พริกเกลือจิ้มผลไม้ ซอสจิ้มเนื้อสัตว์
  • ลดการกินอาหารทะเลโซเดียมสูง กินแต่พอดี เช่น หอยแครง หอยแมลงภู่

 

เนื่องจากสาเหตุของโรคไตส่วนใหญ่มากจากการป่วยเป็นโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง โดยการกินเค็มจะเพิ่มความเสี่ยงโรคกลุ่มนี้มากขึ้น ดังนั้น นอกจากเลือกกินอาหารแล้ว แนวทางการป้องกันโรคไตยังต้องมาจากการดูแลสุขภาพร่างกายด้วย

  • ตรวจร่างกายทุกปี  โดยวัดความดันโลหิต ตรวจปัสสาวะ ตรวจระดับของเสียในเลือด โดยผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคไตมาก คือ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อ้วน อายุมาก สูบบุหรี่จัด กินยาแก้ปวดข้อเป็นประจำ มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคไต  ควรตรวจปริมาณไข่ขาวในปัสสาวะเพื่อวัดค่าการทำงานของไตเพิ่มด้วย
  • กินหารอย่างสมดุลในแต่ละมื้อ โดยเพิ่มผักและผลไม้ในแต่ละมื้อ เลี่ยงอาหารที่มีไขมันและโปรตีนมากไป เลี่ยงอาหารหมักดอง อาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง อาหารที่ใส่ผงชูรส ของหวานจัดเค็มจัด
  • ดื่มน้ำวันละ 6 – 8  แก้วต่อวัน การดื่มน้ำน้อยจะทำให้ปริมาตรเลือดในร่างกายลดลง เกิดภาวะขาดน้ำ เลือดหนืด ปริมาณเลือดไปเลี้ยงไตน้อยลง  และดื่มน้ำเพิ่มเมื่อเสียเหงื่อ อยู่กลางแดด แต่อย่าดื่มมากเกินไป
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่อย่าหักโหม และไม่ควรออกกำลังกายในช่วงป่วยไข้ โดยการออกกำลังกายจะช่วยลดไขมันและความดันโลหิตได้
  • นอนหลับอย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อป้องกันโรคความดันโลหิตสูงและเพื่อให้อวัยวะในร่างกายได้พักผ่อน
  • คุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ และหลอดเลือดอุดตัน
  • เลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
  • ไม่กลั้นปัสสาวะบ่อย เสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ
  • ไม่ซื้อยาแก้ปวดข้อ ยาคลายเส้น ยาคลายกล้ามเนื้อมากินเอง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพราะยาเหล่านี้ส่งผลเสียต่อการทำงานของไต
  • ระวังเรื่องอาหารเสริม เพราะอาหารเสริมบางอย่างอาจมีเกลือหรือสเตียรอยด์ปะปนอยู่มากเกินไป จนอาจทำลายไต ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเริ่มกินอาหารเสริมทุกครั้ง

 

ข้อมูลจากหนังสือ คู่มือป้องกันและดูแลผู้ป่วยโรคไต

ศ. นพ. ยิ่งยศ อวิหิงสานน์

อ. พญ. ปิยวรรณ กิตติสกุลนาม