เช็กก่อนหน้าพัง! เผยลิสต์ 10 ชนิดสารเคมีอันตรายในเครื่องสำอาง

สารเคมีอันตรายในเครื่องสำอาง

เครื่องสำอาง เสกใบหน้าให้สวยได้ ก็ทำใบหน้าพังได้เช่นกัน หากเลือกใช้เครื่องสำอางที่ไม่ได้คุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน มีสารเคมีอันตรายในเครื่องสำอาง นอกจากใบหน้าหมดสวย บางชนิดอาจถึงขั้นอันตรายต่อชีวิต

 

สารเคมีอันตราย 10 ชนิดที่พบบ่อยๆ ในเครื่องสำอาง

สารอันตรายในเครื่องสำอาง พาราเบน
พาราเบน สารอันตรายในเครื่องสำอาง
  1. Paraben (พาราเบน)

พาราเบนเป็นสารเคมีที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราและแบคทีเรีย ทำให้ยืดอายุผลิตภัณฑ์ได้นานโดยไม่ต้องแช่เย็น นอกจากนี้ยังมีราคาถูกจึงพบได้ทั่วไปในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งผลิตภัณฑ์ในการบำรุงผิวทั้งหน้าและกาย เครื่องสำอาง แชมพูสระผม ครีมนวดผม ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย โดยสารพาราเบนหากใช้เป็นประจำแล้ว นอกจากจะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง ผลงานวิจัยยังพบว่า พาราเบน เป็นสารก่อมะเร็ง และรบกวนการทำงานของสมดุลฮอร์โมนในร่างกายด้วย

เราสามารถสังเกตที่ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ หากพบคำว่า methylparaben, propylparaben, และ butylparaben เป็นต้น เหล่านี้คือสารพาราเบนที่แฝงตัวอยู่ในเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อความสวยงามต่างๆ

 

  1. PEGs

PEGs หรือ Polyethylene glycols  มักพบในผลิตภัณฑ์ประเภทครีมและมอยส์เจอร์ไรเซอร์ ซึ่งPEG ถือว่าเป็นสารเคมีจากปิโตรเลียมชนิดหนึ่ง ตัวPEGs แม้มีความเป็นพิษต่ำ แต่ส่วนประกอบที่เรามักพบว่าปนเปื้อนมาด้วยคือ  1,4 dioxane  ซึ่งเป็นสารอันตรายเพราะเป็นสารก่อมะเร็ง

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ส่วนมากไม่ใส่ PEGs ลงไป หรืออาจใส่ในปริมาณที่น้อยมากๆ ซึ่งดูได้จากส่วนผสมข้างขวดบรรจุภัณฑ์นั่นเอง

 

  1. Mineral Talc  แร่ทัลก์

มิเนอรัล ทัลก์ หรือแร่ทัลก์ เป็นสารที่พบได้ในแป้งฝุ่น โดยเป็นส่วนประกอบถึง 90%เลยทีเดียว นอกจากนี้ยังพบได้ในเครื่องสำอางประเภทอายแชโดว์ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นสำหรับผู้หญิง ซึ่งหากใช้เครื่องสำอางที่มีแร่ทัลก์ บ่อยๆ อาจส่งผลให้เราสูดสารเหล่านี้เข้าไป ก่อให้เกิดปัญหาโรคในระบบทางเดินหายใจได้ ยิ่งถ้าได้รับสารติดต่อกันเป็นเวลานานๆ จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดมากขึ้น

 

  1. Sodium Lauryl Sulfate (SLS)

สารโซเดียมลอรัลซัลเฟต หรือ เอสแอลเอส เป็นสารที่พบอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการทำความสะอาด ขจัดสิ่งสกปรกทั่วไป เช่น แชมพู สบู่ ยาสีฟัน ซึ่งสารเคมีตัวนี้สามารถทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองได้ อาจเป็นผื่นแดงบริเวณนั้นๆ  หรือในกรณีที่เป็นคนผิวแพ้ง่าย อาจเกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงในบริเวณผิวที่บอบบางได้

  1. Hydroquinone

ไฮโดรควิโนน เป็นตัวยาที่ใช้ในการรักษารอยดำ ฝ้า กระ หรือเม็ดสีที่เข้มผิดปกติบริเวณผิวหนัง มักพบในครีมทารักษาฝ้า ครีมลอกหน้าขาว ซึ่งการใช้สารไฮโดรควิโนนที่มีความเข้มข้นสูงเกินไป หรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้ผิวเกิดอาการระคายเคือง ผิวหนังแดงง่าย ในกรณีที่เป็นหนักอาจเกิดฝ้าถาวรได้

 

  1. ปรอท

เป็นโลหะหนักที่พบได้ในมาสคาร่า และพวกผลิตภัณฑ์ที่ทำให้รอยดำจาง เช่น ยารักษาฝ้า กระ รอยดำที่ไม่ได้มาตรฐาน  เช่น ครีมทาหน้าตามตลาด หรือที่ขายในอินเตอร์เน็ท ซึ่งมักชวนเชื่อด้วยคำโฆษณาว่า ทำให้ผิวขาว หน้าใสไร้สิวได้ภายใน 7 วัน ซึ่งเป็นผลมาจากปรอท

หลังจากใช้ไปสักพัก ปรอทจะทำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ เกิดฝ้าถาวร ผิวบางลง แต่ปรอทไม่ได้รับการยอมรับจากวงการแพทย์ให้ใช้ในผลิตภัณฑ์ทั่วไปได้ เพราะเป็นสารอันตรายมาก สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งการสูดดมและทาบริเวณผิวหนัง เป็นสารก่อมะเร็งและทำลายระบบประสาท ทำให้ตับและไตอักเสบ เกิดโรคโลหิตจาง ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์ใช้ครีมที่มีสารปรอท ก็อาจส่งผลไปยังลูกน้อยเสี่ยงภาวะปัญญาอ่อนและสมองพิการด้วย

  1. Fragrance

น้ำหอมสังเคราะห์เพื่อกลิ่นหอม พบได้ในเกือบทุกผลิตภัณฑ์ที่มีความหอม เพื่อให้มีกลิ่นที่น่าใช้มากขึ้นน้ำหอมสังเคราะห์นี้ไม่ได้ก่อให้เกิดพิษกับผู้ใช้ทุกคน ในบางคนใช้แล้วอาจมีอาการเวียนศรีษะ คลื่นไส้ หรืออาจเกิดผดผื่นจากอาการระคายเคืองได้ ดังนั้น  หากเกิดอาการแพ้ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีสารให้ความหอม หรือใช้กลิ่นหอมที่มาจากธรรมชาติดีกว่า โดยสังเกตคำว่า  fragrance หรือ phthalate หากพบในส่วนประกอบ หมายความว่า ผลิตภัณฑ์นั้นมีน้ำหอมสังเคราะห์

 

  1. Polyvinyl Pyrrolidone หรือ PVP

สารโพลี่ไวนิลไพโรลิโดน หรือ พีวีพี มีคุณสมบัติเป็นตัวทำละลาย เป็นสารที่พบได้ทั่วไปในผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม เจล แว็กซ์  ซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งการซึมผ่านผิวหนังและการสูดดม ส่งผลให้รูขุมขนอุดตัน ผมร่วง หรือเกิดการระคายเคืองผิวหนังได้ โดยเฉพาะบริวณหน้าผาก ข้างหู และลำคอ

 

  1. สเตียรอยด์

สเตียรอยด์มีทั้งประโยชน์และโทษ ในทางการแพทย์เราใช้สเตียรอยด์ในการรักษาโรคต่างๆ มากมาย ทั้งในผู้ที่มีผื่นแพ้ผิวหนัง โรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกัน แต่ในทางกลับกัน ถ้าใช้ในปริมาณที่มากเกินไป ใช้ไม่ถูกวัตถุประสงค์ก็ก่อให้เกิดอันตรายได้

โดยเรามักจะพบสเตียรอยด์ในยารักษาสิว แก้ผื่นคัน ยารักษาหน้าขาวที่ไม่ได้มาตรฐาน เมื่อใช้ระยะแรกอาจทำให้ดูหน้าขาวใสไร้สิว แต่หากใช้ไปนานๆ แล้วหยุดยาดังกล่าวเพราะคิดว่าหน้าสวยใสแล้ว ผลที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม เพราะสเตียรอยด์จะทำให้โครงสร้างผิวอ่อนแอ เส้นเลือดฟอยขึ้นเป็นรอยแตกสีแดง เกิดเป็นสิวอักเสบ ผิวหนังติดเชื้อได้ง่าย  ซึ่งการรักษาผิวหนังที่ติดสเตียรอยด์ทำได้ค่อนข้างยาก ราคาแพง และต้องอาศัยระยะเวลา ซึ่งสภาพผิวอาจไม่ได้กลับมาแข็งแรงเท่าเดิม

 

  1. PABA

พาบาเป็นสารเคมีที่พบในครีมกันแดด ช่วยในการป้องกันรังสี UVB ซี่งเราจะพบอยู่ในชื่อ padimate O, 4-aminobenzoic acid หรือ para-aminobenzoic acid โดยพบว่าพาบามีผลกับการทำงานของต่อมไทรอยด์ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังได้ แต่ถึงอย่างนั้นสารพาบาก็เป็นส่วนผสมที่ใช้ในครีมกันแดดมาเป็นเวลานานแล้ว และหากใช้ในปริมาณที่ปลอดภัยตามเกณฑ์กำหนด ก็ไม่ส่งผลอันตรายต่อผิวหน้าหรือผิวกาย  แต่ถ้าเป็นคนผิวแพ้ง่ายเลือกใช้ครีมกันแดดที่ไม่มีพาบาดีกว่า

 

จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ว่า มีสารเคมีอันตรายอยู่รายล้อมเราตั้งแต่หัวจรดเท้าเลยทีเดียว  ดังนั้น การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาใช้กับผิวหน้าผิวกายหรือเส้นผม ควรดูส่วนประกอบข้างบรรจุภัณฑ์ให้ดี ไม่ให้มีรายชื่อสารอันตราย รวมถึงดูวันหมดอายุและสภาพกลิ่น สี เนื้อสารต่างๆ ด้วยว่าไม่ผิดปกติ  ที่สำคัญ คือ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่น่าเชื่อถือได้ ตัวผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐานผ่านกระบวนการการวิจัยที่ได้รับการยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์จากสารเคมี หรือสารที่มาจากธรรมชาติ

คิดไว้เสมอว่า เราเลือกสวยได้ตามงบประมาณและความต้องการของผิวได้ ของแพงอาจไม่ใช่ของดีเสมอไป แต่ของถูกเกินไปอาจเป็นของอันตรายได้ 

หากใครซื้อเครื่องสำอางหรือครีมทาหน้ามาแล้ว ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ตัวเองใช้อยู่นั้นเข้าข่ายครีมอันตรายต่อผิวหรือไม่  สามารถใช้ชุดทดสอบเครื่องสำอางจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ โดยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2951-0000, 0-2589-9850-8 หรือ คลิกที่นี่

 

ข้อมูลโดย

แพทย์หญิงธัญรัชต์ จันทโรทัย

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ความงามและชะลอวัย

AMMATA CLINIC