แก้ปวดหัวไมเกรน ด้วยการปรับพฤติกรรมเสี่ยงและเลี่ยงสิ่งกระตุ้น
อย่างที่รู้กันว่าวัยทำงานต้องเผชิญกับเรื่องต่างๆ มากมาย ทั้งเรื่องงานที่ต้องจดจ่ออยู่กับมันเป็นเวลานานกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือเรื่องการใช้ชีวิตในเวลานี้ที่ต้องหมกตัวอยู่กับบ้านและไม่สามารถออกไปเดินพักผ่อนหย่อนใจได้ตามปกติ จนส่งผลให้เกิดความเครียดสะสม บั่นทอนสุขภาพกายและสุขภาพใจ จนทำให้โรคภัยต่างๆ ถามหา แต่ก็มีอยู่โรคหนึ่งที่เป็นโรคยอดฮิตคอยตามติดและรังควานชีวิตวัยทำงาน นั่นก็คือ “ไมเกรน”
บอกเลยว่าเมื่อไหร่ที่ปวดหัวไมเกรนขึ้นมา เมื่อนั้นแหละจะรู้ว่าความทรมานเป็นอย่างไร เพราะมันจะทำให้เราปวดหัวตุบๆ ข้างเดียวนานเป็นชั่วโมงๆ บางคนอาการหนักยิ่งกว่านั้นเพราะมีการปวดร้าวไปที่กระบอกตาและท้ายทอย หมดอารมณ์ไม่มีแรงทำงาน อยากกินยาแล้วนอนพักผ่อนเพื่อให้อาการหายไป
สำหรับใครที่สงสัยว่าทำไมเราถึงมีอาการปวดหัวไมเกรน นั่นก็เพราะว่า เกิดจากความผิดปกติชั่วคราวของระดับสารเคมีในสมอง ทำให้ก้านสมองถูกกระตุ้น หลอดเลือดในเยื่อหุ้มสมองมีการบีบและคลายตัวมากกว่าปกติ จึงทำให้เกิดอาการปวดหัวตุ๊บ ๆ หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียน แพ้แสง จากก้านสมองที่ถูกกระตุ้น
ซึ่งสิ่งที่กระตุ้นให้ไมเกรนกำเริบขึ้นมานั้นมีอยู่ 7 ปัจจัย ก็คือ 1.แสงไฟ แสงแดดจ้า 2.อากาศร้อนจนเกินไป (ร้อนชื้น ช่วงก่อนฝนตก) 3.อาการปวดตึงกล้ามเนื้อหรือออฟฟิศซินโดรม 4.อาหาร ชีส แอลกอฮอล์ ชา กาแฟ (คาเฟอีน ถือเป็นสารที่กระตุ้นอาการไมเกรนได้) 5.ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ 6.ประจำเดือน 7.ช่วงเวลาภายหลังจากการคลอดบุตร
นอกจากนี้ ไมเกรน ยังมีลำดับการแสดงอาการ 4 ระยะ ก็คือ
1. ระยะบอกเหตุล่วงหน้า (Prodrome): มักจะมีอาการบอกเหตุประมาณ 1 – 2 วันก่อนเป็นไมเกรน อย่างเช่น การปวดตึงตามต้นคอ หรือมีอารมณ์แปรปรวน
2. อาการเตือนนำ (Aura): บางคนจะมีอาการมองเห็นผิดปกติ เช่น เห็นแสงระยิบระยับ เห็นแสงไฟสีขาวมีขอบหยึกหยัก หรือภาพเบลอหรือบิดเบี้ยว แต่บางคนก็ไม่มีอาการเตือนนำ
3. อาการปวดศีรษะ (Headache): เป็นเหมือนช่วงไคลแม็กซ์ของอาการปวดหัวไมเกรน ทำให้ปวดหัวตุ๊บ ๆ หรือปวดหัวข้างเดียว จนไม่สามารทำงานได้ตามปกติ อาจเกิดร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน และจะแพ้ต่อสิ่งเร้าต่างๆ เป็นพิเศษ อย่างเช่น แสงจ้า เสียงดัง
4. เข้าสู่ภาวะปกติ (Postdrome): ภายหลังจากที่เริ่มหายปวดแล้ว ก็มักจะมีอาการอ่อนเพลีย วิงเวียน เกิดอาการสับสน หรือไวต่อสิ่งเร้าต่างๆ เหมือนระยะที่สาม
อย่างไรก็ตาม การปวดหัวไมเกรนนั้นก็มีวิธีแก้เช่นกัน เพียงแค่เราปรับพฤติกรรมหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้ไมเกรนกำเริบขึ้นมา ด้วยการจดบันทึกการปวดหัวในแต่ละครั้งนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร เช่น ก่อนปวดเรานอนหลับพักผ่อนไม่เพียง หรือเราอยู่ในที่ๆ อากาศร้อนหรือเย็นจนเกินไป การจ้องมองแสงจ้า หรือการทำงานหนักจนเกิดความเครียด ก็ให้เราหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้น
แต่หากอาการปวดหัวเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ควรพักผ่อนในที่ที่มีบรรยากาศเงียบสงบ ทานยาบรรเทาอาการปวดตามที่แพทย์แนะนำ แต่หากอาการปวดหัวยังรุนแรงต่อเนื่องและไม่ทุเลาลง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง
ข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพระราม 9
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม
- 4 ผลเสียจากการทำงานดึก อันตรายกว่าที่คิด แม้สมองแล่นก็ควรนอน
- 5 โรคร้ายวัยทำงาน ไม่อยากตายไวต้องหันมาใส่ใจสุขภาพ
- 10 วิธีหยุดความเหนื่อยล้า หลังเลิกงาน
- 7 สัญญาณ สุขภาพผิว ที่บ่งบอกว่าผิวของเราต้องการการดูแลด่วน
- 9 ข้อที่วัยทำงานควรจำไว้ แล้วจะห่างไกลจาก “โรคอ้วน”
- Work From Bed อาจสบาย แต่สุดท้ายร่างกายจะพังแบบไม่รู้ตัว
- ระวังเอาไว้! “นั่งนาน” เกินไป นอกจากปวดบ่า ไหล่ หลัง แล้วยังทำให้ชีวิตสั้นลง