ปวดกระดูก-ปวดกล้ามเนื้อ

อาการปวดแบบนี้ ปวดกระดูก หรือปวดกล้ามเนื้อกันแน่นะ?

อาการปวดแบบนี้ ปวดกระดูก หรือปวดกล้ามเนื้อกันแน่นะ?

หลายคนอาจเคยมีความกังวลว่าอาการปวดที่เป็นอยู่ เป็นที่กระดูก หรือกล้ามเนื้อ เช่น หากเราปวดหลัง เราปวดกล้ามเนื้อหลัง หรือปวดเพราะกระดูกสันหลังมีปัญหาซะแล้ว งั้นวันนี้เรามาดูวิธีแยกอาการด้วยกันเลย ว่าปวดแบบนี้มาจากอะไรกันแน่

1.อาการปวดที่กระดูก

มักเป็นการปวดแบบลึก และระบุจุดได้ชัดเจน เช่น บริเวณตามข้อต่อต่างๆ กระดูกสันหลัง เวลาขยับข้อต่อจะมีอาการปวดที่มากขึ้น มักจะมีระดับความรุนแรงการปวดและระยะเวลาการปวดมากกว่ากล้ามเนื้อ

– ทำอย่างไรเมื่อมีอาการปวดกระดูก?
หากมีอาการปวดจนทนไม่ไหว หรือปวดนานเกินกว่า 48 ชั่วโมง ให้รีบพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน เพื่อทำการตรวจประเมินทันที

– สาเหตุของการปวดกระดูก
เกิดได้หลายสาเหตุ บางกรณีอาจเกิดจากอุบัติเหตุที่มีแรงกระแทก หกล้ม ซึ่งมักเจอในผู้สูงอายุที่อาจมีภาวะกระดูกพรุน หรือกลุ่มคนที่นั่งทำงานนานๆ หรือคนที่ยกของผิดท่าก็อาจเสี่ยงเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้

– วิธีการป้องกัน
ควรบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดี ควบคู่กับการออกกำลังกายสร้างความแข็งแรงกล้ามเนื้อ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อกระดูกสันหลัง เช่น การยกของแบบหลังงอ หรือการนั่งต่อเนื่องนานๆ

ปวดหลัง

2. อาการปวดที่กล้ามเนื้อ

มักพบบ่อยกว่าการปวดกระดูก ลักษณะการปวดมักเป็นแบบปวดเมื่อย ปวดตึง ความรุนแรงของการปวดไม่ได้มากเท่ากับการปวดกระดูก และสามารถหายเองได้ภายใน 2-3 วัน

– ทำอย่างไรเมื่อมีอาการปวดกล้ามเนื้อ ?
หากมีอาการปวดแบบเฉียบพลันจากอุบัติเหตุหรือเล่นกีฬา แนะนำให้ประคบเย็นภายใน 24 ชั่วโมงแรก เพื่อลดการบวมอักเสบ แต่หากอาการปวดเป็นแบบปวดตึง แนะนำให้ประคบร้อนเพื่อคลายความตึงของกล้ามเนื้อ

– สาเหตุของการปวดกล้ามเนื้อ
หากปวดแบบเฉียบพลันมักมาจากการเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกาย ส่วนการปวดตึงมักมาจากการนั่งในท่าเดิมนาน ความเครียด ซึ่งอาการปวดตึงหากไม่รีบรักษาอาจส่งผลต่อกระดูกได้ในอนาคต

– วิธีการป้องกัน
ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกีฬาที่หักโหมเกินไป เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อใช้งานหนักเกินพอดี หรืออบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกายเพื่อลดการบาดเจ็บกล้ามเนื้อ ส่วนคนที่นั่งนานๆ การยืดและนวดกล้ามเนื้อก็ช่วงลดการปวดตึงกล้ามเนื้อได้เช่นกัน

แต่ไม่ว่าจะปวดแบบไหน ควรเฝ้าสังเกตและติดตามอาการภายใน 24-48 ชั่วโมงแรก หากอาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูก กล้ามเนื้อ หรือนักกายภาพบำบัด จะดีและปลอดภัยที่สุด

ข้อมูลจาก : โรงพยาบาลวิมุต

ปวดกล้ามเนื้อ

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม