เกลียดวันจันทร์

เกลียดวันจันทร์ : ทำไมวันจันทร์ถึงไกลจากวันศุกร์ แล้ววันศุกร์มันถึงใกล้วันจันทร์

เกลียดวันจันทร์ : ทำไมวันจันทร์ถึงไกลจากวันศุกร์
แล้ววันศุกร์มันถึงใกล้วันจันทร์

“เกลียดวันจันทร์” ประโยคนี้ชาวออฟฟิศแทบทุกคนต้องเคยพูดออกมา เพราะวันจันทร์ถือเป็นวันเริ่มต้นทำงานในสัปดาห์ใหม่ แถมยังเป็นวันแรกที่เริ่มงานหลังจากหยุดพักผ่อนมาจากวันเสาร์-อาทิตย์ พอเริ่มต้นงานวันจันทร์ เราก็ต้องมาตั้งตารอเวลาไปอีก 5 วัน กว่าจะได้หยุดอีกครั้ง คนเลยเกลียดวันจันทร์กันเยอะ

แต่วันศุกร์นี่กลับให้อารมณ์ที่ต่างกัน เพราะนับเป็นวันสุดท้ายของการทำงานในสัปดาห์นั้น และเป็นวันที่เราสามารถปล่อยตัวปล่อยใจให้ชิลล์ๆ ไปกับงานได้ เพราะอีกไม่กี่ชั่วโมงเราก็จะได้หยุดพักผ่อนแล้ว และยังเป็นวันที่เราสามารถชวนเพื่อนไปปาร์ตี้ในช่วงหลังเลิกงานแบบไม่ต้องคิดอีกด้วยว่าพรุ่งนี้จะตื่นไหวมั้ย จะไปทำงานยังไง เรียกได้ว่าเป็น “วันศุกร์หรรษา” ที่แท้ทรู

เกลียดวันจันทร์
ที่พูดถึงไปนี่ Goodlife ได้อ้างอิงเวลาทำงานของออฟฟิศทั่วไปที่ใช้ระบบ ทำงาน 5 วัน หยุด 2 วัน จะเห็นว่า “วันจันทร์นั้นมันห่างจากศุกร์ แต่วันศุกร์มันดันใกล้กับวันจันทร์” แค่นี้เอง และทำไมมันถึงเป็นแบบนั้น บางทีเราอาจจะต้องย้อนไปดูถึงประวัติศาสตร์ของการกำเนิดวันทั้ง 7 กันเลยทีเดียว

การกำเนิดวันทั้ง 7 ต้องย้อนกลับไปไกลมากถึงประมาน 4,000 ปีก่อนนู้นนนนนน ตั้งแต่ยุคบาบิโลน ในสมัยนั้นมนุษย์มีความเชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และมีดาวเคราะห์ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า 5 ดวง รวมดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ทั้งหมดก็จะเป็น 7 ดวง

ก็เลยจัดการแบ่งเป็นวันทั้ง 7 ตามดวงดาวที่เห็น และบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรว่า 1 สัปดาห์มี 7 วัน และวันทั้ง 7 ก็ยังมีชื่อและความหมายสอดคล้องกับดวงดาวทั้ง 7 อีกด้วย

ปฏิทิน
นี่จึงอาจเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า “ทำไมวันจันทร์ถึงห่างไกลจากวันศุกร์ แล้ววันศุกร์มันถึงใกล้วันจันทร์” แต่นั่นยังไม่พอ เราต้องกลับมาดูจุดเริ่มต้นของวันหยุดกันด้วยว่าทำไม วันหยุดถึงมีเพียงแค่เสาร์และอาทิตย์

ในสมัยก่อนนั้นโลกของเรายังเป็นสังคมเกษตรกรรม อยากทำก็ทำ อยากหยุดเมื่อไหร่ก็หยุด แต่เรื่องราวของวันหยุดอาจมีจุดเริ่มต้นและเกี่ยวข้องกับศาสนา แต่ละศาสนาจะต้องมีอย่างน้อย 1 วันในสัปดาห์ ที่ทุกคนจะต้องไปทำพิธีกรรม เพราะเชื่อว่าพระเจ้าใช้เวลาหกวันในการสร้างสวรรค์ แผ่นดิน มหาสมุทร และพักผ่อนในวันที่เจ็ด

จนกระทั่งในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เพิ่งผ่านมาได้ไม่กี่ร้อยปี คนเริ่มทำงานในโรงงานและต้องใช้แรงงานหนักมากขึ้น การทำงานแบบเช้าถึงเย็นตลอดทั้งสัปดาห์จึงไม่ตอบโจทย์ ทำให้คนงานเริ่มรวมตัวกันประท้วง จนบริษัทหรือเจ้าของโรงงานต้องแก้ไขเวลาทำงานและเพิ่มวันหยุดในที่สุด

ส่วนในไทยนั้นเมื่อก่อนมีการใช้วันพระเป็นวันหยุดราชการ แต่ได้มีการเปลี่ยนเป็นวันอาทิตย์ เมื่อปี พ.ศ. 2411 หรือในช่วงต้นรัชกาลที่ 5 นั่นเอง

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม