เทคนิคเลือกรองเท้า
ทำไมต้องมี เทคนิคเลือกรองเท้า ? เพราะรองเท้าเปรียบเสมือน อาวุธข้างกายอีกอย่างนึงของเรา หากเราสวมใส่รองเท้าที่ไม่มีความสบาย หรือ ไม่ถูกลักษณะของเท้า อาจทำให้เท้าของเราได้รับอาการบาดเจ็บได้
ดังนั้นเราจึงมีเทคนิคการเลือกรองเท้า แบบง่าย ๆ มาฝาก เพื่อช่วยให้คุณเลือกรองเท้าคู่เก่ง ได้อย่างเหมาะสมกับรูปร่าง แถมยังถูกใจอีกด้วย
เลือกรองเท้าตอนช่วงบ่าย ๆ
เท้าของเราจะขยายใหญ่ขึ้นเล็กน้อย เพราะในขณะที่เดินจะมีเลือดไหลเวียนบริเวณเท้าเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้มั่นใจได้ว่าการเลือกรองเท้าในช่วงนี้ดังกล่าว จะช่วยให้เราได้รองเท้าขนาดที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด
ลองรองเท้าทั้ง 3 ไซส์
เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า รองเท้าแต่ละแบรนด์มักมีขนาด และรูปทรงที่แตกต่างกัน ดังนั้นเพื่อความมั่นใจ คุณควรเลือกลองรองเท้าไซส์ประจำของคุณเสียก่อน จากนั้นลองไซส์ที่ใหญ่ และเล็กกว่า 1 ไซส์ เพื่อเป็นการเช็กว่าไซส์ไหนที่เหมาะกับเท้าคุณมากที่สุด
พยายามเลือกรองเท้าที่มีพื้นนุ่มสบาย
สาเหตุที่ควรเลือกพื้นรองเท้าให้มีความนุ่ม เป็นเพราะว่าจะได้ช่วยป้องกันเท้าของคุณจากการเกิด ตุ่มพอง และผิวหนังด้าน ได้ดีกว่า รองเท้าที่มีพื้นแข็ง
เลือกรองเท้าที่ยาวกว่าเท้าเล็กน้อย
ขนาดของรองเท้าที่ดี ควรมีขนาดที่ยาวกว่าเท้าของเรา ประมาณ 1 เซนติเมตร เนื่องจากในขณะที่เราเดิน เท้าของเราจะเลื่อนไปด้านหน้าประมาณ 7 มิลลิเมตร ดังนั้นการเลือกรองเท้า ให้มีพื้นที่ด้านหน้าเผื่อไว้ จะช่วยให้เท้าของเราไม่ถูกบีบรัดจนเกินไป
อย่านั่งลองรองเท้า
หลังจากเลือกไซส์รองเท้าได้เป็นที่เรียบร้อย อย่าพยายามนั่งลองรองเท้าเพียงอย่างเดียว ให้เราสวมรองเท้าทั้งสองข้าง แล้วลุกขึ้นเดิน บริเวณรอบ ๆ เพื่อตรวจสอบให้มั่นใจว่า รองเท้าคู่ที่คุณจะซื้อนั้น สวมใส่ได้สบายจริง ๆ
เลือกให้เหมาะสมกับรูปเท้าของเรา
ฝ่าเท้าแบนชั่วคราว (แบนเฉพาะเวลาเหยียบพื้น) : ควรใส่รองเท้าที่ช่วยเสริมอุ้งเท้าของคุณ เพื่อช่วยเส้นเอ็นพยุงอุ้งเท้าของคุณ ถือเป็นการลดการปวดเท้าได้อีกด้วย
ฝ่าเท้าแบนถาวร : ควรเลือกรองเท้าที่มีพื้นที่ด้านข้าง ค่อนข้างกว้างสบาย และพยายามเลือกรองเท้าที่มีพื้นนิ่ม หลีกเลี่ยงรองเท้าพื้นแข็ง จะเป็นการดีที่สุด
อุ้งเท้าสูง : ควรเลือกรองเท้าที่เสริมอุ้งเท้าส่วนกลาง เพื่อเป็นการช่วยให้ เท้าของคุณไม่ต้องแบกรับน้ำหนักตัว ในส่วนใดส่วนหนึ่งมากจนเกินไป
อย่าลืมนำเทคนิคดี ๆ เหล่านี้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันกันนะคะ
โดย : KIMBEEL
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ดนตรีบำบัด มีประโยชน์มากกว่าที่คุณคิด