ทำความเข้าใจ เวลาไหนที่เราควรได้รับ การกายภาพบำบัด

เวลาที่เราเมื่อยล้าจากการทำงาน หรือมีญาติผู้ใหญ่สูงวัยที่เริ่มปวดข้อ ปวดเอว แม้แต่เด็กๆ อายุ 3 – 4 ปีที่ยังไม่สามารถช่วยเหลือหรือลุกยืนด้วยตัวเองได้ เราอาจเผชิญกับปัญหาทางกายเหล่านี้ได้ในทุกช่วงวัย นอกจากเข้าพบแพทย์เพื่อหาทางเยียวยาแล้ว ยังมีอีกอาชีพหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญและสามารถให้คำปรึกษารวมถึงวิธีแก้ไขที่ตรงจุดแก่เราได้ นั้นก็คือนัก กายภาพบำบัด

 

นักกายภาพบำบัดคือใคร ?

 

นักกายภาพบำบัด ได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเคลื่อนไหว (specialist of movement analysis) โดยจะศึกษาท่าทางการเคลื่อนไหวต่างๆ ของเรานำไปสู่การรักษาที่ตรงจุด และเกิดประโยชน์สูงสุดในการรักษา โดยสังเกตตั้งแต่วิธีการลุก นั่ง เดินและการใช้ชีวิตของคนไข้

ยกตัวอย่างเช่น การวางข้อมือเวลากุมเม้าท์ การนั่งพิงเก้าอี้ หรือแม้แต่ความสั้นยาวของช่วงขาหากไม่เท่ากันหรือมีจุดไหนที่ฝืนร่างกายจนเกินไปจะมีผลทำให้ปวดเมื่อยเรื้อรังได้ นักกายภาพบำบัด คือผู้ให้คำแนะนำและการแก้ไขเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

 

อาการเจ็บประเภทไหนที่ต้องได้รับการ กายภาพบำบัด

เมื่อเคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวก มีอาการเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นจากอุบัติเหตุ การผ่าตัด หรือการใช้ร่างกายที่ไม่ถูกลักษณะ นักกายภาพบำบัดจะเป็นผู้ให้คำแนะนำ โดยมีขอบเขตในการรักษาดังนี้

1.) ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ (Orthopedics System) ได้แก่กลุ่ม office syndrome การบาดเจ็บทางกีฬา (ข้อเท้าแพลง เอ็นเข่าอักเสบ) หมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้น กระดูกทับเส้นประสาท กล้ามเนื้ออักเสบ ข้อเสื่อม เป็นต้น

2.) ระบบประสาท (Neurological System) ผู้ที่ได้รับความเสียหายบริวณสมองและเส้นประสาท อาทิ ผู้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต แขนขาอ่อนแรง เส้นเลือดในสมองตีบ แตก หรือตัน (stroke)

3.) ระบบหัวใจและปอด (Cardiopulmonary System) เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ผ่านการผ่าตัดหัวใจและปอด เช่นน้ำท่วมปอด ถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ ต้องทำการฟื้นฟูกายภาพบำบัดด้วยเทคนิคเฉพาะทางเพื่อให้ผู้ป่วยเริ่มเดินได้เร็วที่สุด

4.) กายภาพบำบัดในเด็ก (Pediatric Physical Therapy) คือกลุ่มเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า ไม่สามารถขยับหรือเคลื่อนไหวร่างกายในบางจุดได้

 

กาพภาพบำบัด มีวิธีรักษาอย่างไร ?

การรักษาโดยการกายภาพบำบัดเริ่มต้นที่การสังเกต ลักษณะท่าทางการเคลื่อนไหวของผู้ป่วย ก่อนจะทำการวินิจฉัยเบื้องต้น และตรวจประเมินร่างกายด้วยวิธีทางกายภาพบำบัด นอกจากนี้ยังมีการเครื่องมือทางกายภาพบำบัด รวมไปถึงการรักษาด้วย manual technique

1.) การสังเกต และการซักประวัติ

เป็นกระบวนการที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อรู้จักตัวตนของคนไข้ การสื่อสารและการรับรู้การสื่อสาร การซักประวัติการรักษารวมไปถึงโครงสร้างและกลไลอาการบาดเจ็บเพื่อนำไปสู่การตั้งสมมติฐาน

2.) การตรวจประเมินร่างกาย

คือการตรวจเพื่อยืนยันสมมติฐานจากการซักประวัติและการสังเกต เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยที่ถูกต้องว่าคนไข้เป็นโรคอะไร เพื่อให้คนไข้เกิดความเข้าใจและการประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา

3.) การรักษาด้วยเครื่องมือทางกายภาพบำบัด

  • เครื่องอัลตราซาวด์ สำหรับบำบัดด้วยคลื่นความถี่ มีคุณสมบัติในการลดบวม ลดการอักเสบ คลายกล้ามเนื้อ ช่วยการไหลเวียนเลือด
  • เครื่อง short wave ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือด และทำให้กล้ามเนื้อและเอ็นกล้ามเนื้อคลายตัว ช่วยให้อุ่นสบายและผ่อนคลาย
  • ประคบร้อนและประคบเย็น ประคบร้อนจะช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นข้อเข่าเสื่อม หรือข้อต่อยึดติดแข็ง ส่วนประคบเย็นจะช่วยแก้อาการปวดหรืออักเสบ โดยควรประคบเย็นประมาณ 15-20 นาที

4.) การรักษาด้วย manual technique

คือการทำกายภาพบำบัดด้วยมือ เพื่อลดอาการบาดเจ็บ ช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย และช่วยเพิ่มไหลเวียนของเลือดและความยืดหยุ่นให้ร่างกาย ได้แก่ การนวด การขยับข้อต่อเพื่อให้ข้อต่อกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิม และการดัดข้อ

 

ทั้งนี้ทั้งนั้นควรหมั่นตรวจเช็คสภาพร่างกายด้วยตนเอง หากรู้สึกติดขัดเรื่องการเคลื่อนไหวร่างกาย ปวดหรือมีอาการอักเสบไม่ควรปล่อยให้เป็นเรื้อรัง และควรเข้าพบนักกายภาพบำบัดเพื่อวินิจฉัยอาการหาสาเหตุและทำการรักษาต่อไป

 

ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก : K&Kbalance