ความดันโลหิตต่ำ โรคบางอย่างไม่ใช่โรค แต่เราชอบเรียกกันผิดๆ ว่า ป่วยเป็นโรค…นั้นโรค…นี้
ที่ชอบเรียกว่าโรคและรู้จักกันดีมากโรคหนึ่ง แม้แต่ชาวบ้านทั่วๆ ไปก็รู้จักคือ โรคความดันโลหิตสูง และอีกโรคหนึ่งซึ่งตรงกันข้าม แต่ไม่ค่อยมีใครรู้จักคือ ความดันโลหิตต่ำ ก็มีอยู่สองโรคนี้แหละที่เกี่ยวกับความดันโลหิต
อาจจะมีใครสักคนหนึ่งชะโงกหน้าเข้ามาสอดแทรกว่า มีสิอีกโรคหนึ่งก็คือ โรคความดันทุรัง ไงล่ะ
อันนี้ผมไม่เกี่ยวนะ ใครจะอยากดันทุรังอยู่ไปโดยไม่รู้ไม่ชี้ผมก็ไม่เกี่ยว หรือใครจะดันทุรังไล่ใครต่อใครออก ผมก็ไม่เกี่ยวอีกเหมือนกัน ผมเกี่ยวอยู่อย่างเดียวคือ ความสบาย หรือไม่สบาย (ป่วย) ของเพื่อนร่วมโลกของผมเท่านั้น
เวลาแพทย์วัดความดันโลหิตของคุณ นั่นก็คือการวัดดูว่า หัวใจของคุณจะปั๊มเอาเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้มากน้อย เป็นปกติ หรือไม่ปกติอย่างไร
เราวัดความดันโลหิตด้วยเครื่องวัด sphygmomanometer เป็นหน่วยวัดเรียกว่า มิลลิเมตรปรอท [มม.ปรอท (mm / Hg)] เวลาหัวใจบีบตัว ตัวเลขหน่วยวัดขึ้นสูง (systolic) เวลาหัวใจคลายตัวหน่วยวัดลงต่ำ (diastolic) ฉะนั้นถ้าเป็นคนวัยหนุ่มท่าทางแข็งแรง ความดันที่ดีที่สุดน่าจะเป็นประมาณ 120 / 88 มม.ปรอท
ความดันโลหิตสูงผิดปกติจะเกิดขึ้นตามวัย อายุมากขึ้นความดันก็จะสูงขึ้น ฉะนั้นระดับความดันซึ่งโดยเฉลี่ยก็ไม่น่าจะเกินตัวบน 140 – 159 และตัวล่างประมาณ 90 – 114 (จากตัวเลขของสหรัฐอเมริกา The Joint National Committee on Detection, Evaluation and Treatment of High Blood Pressure)
เอาละครับ ทีนี้เรามาคุยกันถึงเรื่องความดัน (ไม่ทุรัง) โลหิตต่ำกันได้แล้ว
ปกติผู้ที่มีความดันเป็นประจำประมาณ 100 – 60 มม.ปรอท หรือต่ำกว่า ก็ถือว่าเป็น โรคความดันโลหิตต่ำ ได้แล้ว
วิธีวัด ความดันโลหิตต่ำ ของผู้ป่วยนั้น การวัดที่ถือว่าแน่นอนจะต้องให้คนไข้ยืน แล้ววัดความดันโลหิตในขณะที่กำลังยืนอยู่หรือนั่งตัวตรงอยู่ก็ได้

อาการสำคัญของคนเป็นโรคความดันโลหิตต่ำก็คือ จะเวียนหัวง่าย หน้ามืดตามัว หรือบางทีก็เป็นลมเป็นแล้งเอาง่ายๆ และมีอาการเพลียเหนื่อยล้ามาหลายวันแล้ว
การเวียนหัวมึนหัวและเป็นลมนี้มีข้อสังเกตสองอย่าง คือคุณมี อาการอย่างกะทันหัน หรือว่า คุณเป็นเรื้อรังเป็นนิจศีลอย่างนี้มานานแล้ว
ถ้าเป็นกะทันหัน คือ อยู่ๆ มันก็เป็นขึ้นมาทันทีละก็ ขอให้นึกทบทวนว่า
1. แต่ก่อนนี้คุณเคยเป็นความดันโลหิตสูง แล้วคุณกินยาลดความดันโลหิตสูงมากไปหรือเปล่า คนไข้บางคนเป็นโรคความดันโลหิตสูง หมอสั่งยาอย่างแรงให้หรือบางทีคุณกินยามากเกินคำสั่ง คุณก็จะมี อาการความดันโลหิตต่ำ ต้องรีบบอกแพทย์ของคุณให้ปรับยาให้ทันที
2. คุณมีอาการบวมตามตัว จะเนื่องด้วยโรคไตหรืออย่างใดก็ตามที พอคุณกินยาลดบวม ความดันโลหิตก็เกิดต่ำขึ้นมาทันทีต้องรีบบอกแพทย์ให้ปรับยาอีกเหมือนกัน
3. คุณกินเหล้ามากไปหรือเปล่า
4. คุณกินยาโรคหัวใจหรือเปล่า
5. กินยากล่อมประสาทบ้างหรือเปล่า
6. กินยาคลายเครียดบ้างหรือเปล่า
7. ติดหวัดหรือเป็นไข้หวัดหรือเปล่า
ถ้าคุณมีอาการต่างๆ หรือปฏิบัติตัวตามอย่างใดอย่างหนึ่งมานี้ คุณอาจจะมีอาการความดันโลหิตต่ำเกิดขึ้นโดยกะทันหันได้ ต้องรีบยุติพฤติกรรมหรือหยุดการกระทำเหล่านั้น
แต่ถ้าอาการของคุณไม่ได้เกิดขึ้นโดยกะทันหัน แต่เกิดขึ้นแบบเรื้อรังมานานแล้ว ก็ขอให้ตรวจดูว่า
1. คุณเป็นโรคโลหิตจางหรือเปล่า
2. ภายในร่างกายเคยมีอาการโลหิตไหลหรือเลือดตกในหรือเปล่า
3. น้ำตาลในเลือดต่ำหรือเปล่า (อดอาหาร?)
4. เคยเป็นวัณโรค (TB) หรือเปล่า
5. เคยเป็นโรคเกี่ยวกับไทรอยด์หรือเปล่า
6. เคยมีอาการโรคหัวใจหรือเปล่า
อาการเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นแบบกะทันหันหรือเป็นแบบเรื้อรัง เมื่อได้ทราบสาเหตุต่างๆ แล้วก็ต้องแก้ที่ต้นเหตุ อย่างนี้เป็นต้นเมื่อตรวจแล้วพบว่าเป็นโรคโลหิตจาง ก็ต้องแก้เรื่องโลหิตจางเสียก่อน เหล่านี้เป็นต้น
ต่อไปนี้เป็นการแก้อาการเฉพาะหน้า โดยเฉพาะปวดหัวและเป็นลมหน้ามืด
1. เวลานอน ให้นอนศีรษะสูงกว่าเท้าประมาณ 8 – 12 นิ้ว
2. เวลาตื่นอย่าลุกพรวดพราด ขอให้ลุกขึ้นนั่งช้าๆ นั่งริมเตียง ห้อยขาสักพักหนึ่ง
3. เวลาอาบน้ำให้ใช้น้ำร้อนสลับกับน้ำเย็น
4. ใช้ผ้าขนหนูหยาบๆ ถูทั่วตัวอย่างแรง 2 ครั้ง เช้า – เย็น (อาบน้ำวันละ 2 ครั้ง)
5. กินอาหารหนัก 3 มื้อ และกินอาหารว่าง 2 มื้อ (สายและบ่าย)
สำหรับอาหารนี้ อาหารหนักหมายความว่า เช้า กลางวัน เย็น และอาหารว่างก็น่าจะเป็นของกินเล่น เป็นต้นว่าผลไม้ แอ๊ปเปิ้ล ถั่ว และเมล็ดพืช (เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน) และกล้วยตาก เป็นต้น อย่าลืมเรื่องน้ำดื่ม อย่างน้อยวันละ 4 – 6 แก้ว
นอกไปจากนั้น ในกลุ่มของอาหารนี้ ขอแนะนำเรื่อง วิตามินและแร่ธาตุ ดังต่อไปนี้
1. บีคอมเพล็กซ์ 1 เม็ด
2. บี 1 บี 5 อย่างละ 1 เม็ด
3. วิตามินซี 1 เม็ด 1,000 มิลลิกรัม
4. แคลเซียมและแมกนีเซียม (ใช้ชนิดที่มีสองอย่างรวมกันในเม็ดเดียว)
5. วิตามินอี 1 เม็ด
6. โพแทสเซียม 1 เม็ด
ลองหัดนวดและกดจุด (วันละ 2 ครั้ง)
1. กดร่องข้างต้นคอ (วิธีหาจุด ให้ลากจากติ่งหูเข้ามาหาร่องใต้โคนกะโหลกด้านหลัง) ใช้หัวแม่มือกดสองข้าง จะรู้สึกจี๊ดขึ้นไปถึงกระหม่อม
2. จากจุดใต้รักแร้ ลากเส้นมาถึงกล้ามเนื้อบริเวณเหนือหัวนม นวดด้วยหัวแม่มือบริเวณกล้ามเนื้อหน้าอกสองข้าง
นวดสองข้างสลับกันกับการหายใจยาวๆ ลึกไปถึงสะดือ หายใจยาวเข้า – ออกหลายๆ ครั้ง
3. นวดตรงร่องข้อมือระหว่างนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ นวดจากพังผืดด้านบนลงไปถึงร่องกล้ามเนื้อหัวแม่มือโคนนิ้ว แล้วนวดขึ้นๆ ลงๆ กลับไปกลับมา
ทั้งหมดนี้เป็นการแก้อาการ แต่อย่าลืมแก้ต้นเหตุที่ทำให้เราเป็นความดันโลหิตต่ำด้วย เช่น โลหิตจาง น้ำตาลในเลือดต่ำ วัณโรค หรือไทรอยด์ เป็นต้น
ข้อมูลจาก ดร.สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต
คอลัมน์บทความอาจารย์สาทิส นิตยสารชีวจิต ฉบับ 222
บทความน่าสนใจอื่นๆ