กินมะนาว อย่างไร ต้านโรคดีเยี่ยม
มะนาว เป็นหนึ่งของวัตถุดิบคู่ครัวที่มีอยู่แทบทุกบ้าน เพราะสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายวิธี ทั้งเป็นเครื่องปรุงรส ผสมเครื่องดื่ม หรือจะดองไว้กินเล่นก็ได้ แต่รู้ไหมว่า หาก กินมะนาว อย่างมีเทคนิค จะช่วยต้านโรคต้านอาการได้สารพัด
ว่าด้วยมะนาวกับครัวเรือนไทย
มะนาว มีผลกลม สด ฉ่ำน้ำ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3.5-5 ซม. เปลือกบาง เรียบ สีเขียวเป็นมัน มีต่อมน้ำมันกระจายทั่วไปที่ผิวผล เมื่อสุกสีเหลือง ภายในผลแบ่งเป็นห้องแบบรัศมีมีถุงเป็นเยื่อบาง ๆ รูปยาวเรียวขนาดเล็กจำนวนมาก ภายในมีน้ำรสเปรี้ยวบรรจุอยู่ เมล็ดกลมรี สีขาว มีหลายเมล็ด น้ำจากผลมะนาวที่โตเต็มที่ มีรสเปรี้ยวจัด เปลือกผลมีรสขม
ตำรายาไทยผิวมะนาวจัดอยู่ใน “เปลือกส้ม 8 ประการ” ประกอบด้วย ผิวส้มเขียวหวาน ผิวส้มจีน ผิวส้มซ่า ผิวส้มโอ ผิวส้มตรังกานู ผิวมะงั่ว ผิวมะกรูด และผิวมะนาว (หรือผิวส้มโอมือ) มีสรรพคุณแก้ลมกองละเอียด กองหยาบ แก้เสมหะโลหะ ใช้ปรุงยาหอม แก้ทางลม
นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้ผิวมะนาว ในยารักษาอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” มีส่วนประกอบของผิวมะนาว อยู่ใน ”เปลือกส้ม 8 ประการ” ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง
ใช้มะนาวเป็นยาสามัญ กับวิธีกิน 5 แบบ ต้าน 5 อาการ
ท้องร่วง
1.แก้อาการท้องร่วงด้วยการดื่มน้ำมะนาว
โรคกระเพาะ
2.ช่วยรักษาโรคกระเพาะด้วยการนำเปลือกมะนาวมาชงกับน้ำอุ่นและดื่มเป็นยา
อ่อนเพลีย
3.ช่วยบรรเทาอาการอ่อนเพลียด้วยการดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำตาล
มีกลิ่นปาก
4.ใช้เป็นยาบ้วนปาก ด้วยการใช้น้ำมะนาว 3-4 หยด ก็จะทำให้ช่องปากสะอาดมากยิ่งขึ้น
ท้องผูก
5.ช่วยรักษาอาการท้องผูกด้วยการดื่มน้ำมะนาวผสมเกลือเล็กน้อยก็เป็นยาระบายชั้นดี
ใช้มะนาวให้ปลอดภัย
โดยทั่วไปปริมาณของมะนาวที่ได้รับเข้าสู่ร่างกายจากอาหารที่รับประทานในชีวิตประจำวันมักไม่เป็นอันตรายต่อทั้งเด็กและผู้ใหญ่ นอกจากนี้ การรับประทานเปลือกมะนาวในปริมาณแต่พอดี โดยมีจุดประสงค์เพื่อการรักษาทางการแพทย์เองก็อาจไม่เป็นอันตรายเช่นกัน แต่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ หากอยู่ในกรณีต่อไปนี้
- การรับประทานมะนาวในหญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรนั้นยังไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพียงพอต่อการรับรองความปลอดภัย ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการใช้ที่มากกว่าปริมาณปกติที่พบในอาหารต่าง ๆ
- การทาน้ำมันมะนาวลงบนผิวหนังโดยตรงอาจไม่ปลอดภัยในคนที่มีผิวหนังแพ้ง่าย ซึ่งสามารถส่งผลให้ผิวหนังไวต่อแสงแดดอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีผิวค่อนข้างขาว หลังจากการใช้น้ำมันมะนาวทาลงผิวหนังจึงควรทาครีมกันแดดและสวมใส่เสื้อผ้ามิดชิดเพื่อป้องกันก่อนออกไปเผชิญกับแสงแดด
- ควรใช้ยาต่อไปนี้อย่างระมัดระวัง เมื่อใช้ร่วมกับมะนาว
- ยาบางชนิดอาจเพิ่มความไวต่อแสงแดดของผิวหนัง และเมื่อมีการทาน้ำมันมะนาวอาจเพิ่มความไวต่อแสงแดดได้เช่นกัน ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงผิวไหม้ เป็นผื่น หรือพุพองบริเวณผิวหนังที่ถูกแสงแดด โดยยาที่อาจทำให้แพ้แสงแดด ได้แก่ ยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) ซิโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) นอร์ฟลอกซาซิน (Norfloxacin) ลี ออฟลอกซาซิน (Ofloxacin) ลีโวฟลอกซาซิน (Levofloxacin) มอกซิฟลอกซาซิน (Moxifloxacin) ไตรเมโทรพริม (Trimethoprim/Sulfamethoxazole) เตตราไซคลีน (Tetracycline) และเมทอกซาเลน (Methoxsalen) เป็นต้น
- ยาที่จะถูกเปลี่ยนภายในตับ โดยมะนาวอาจส่งให้ระยะเวลาในการเปลี่ยนรูปของยาเหล่านี้ลดลง การดื่มน้ำมะนาวขณะรับประทานยาบางชนิดที่เปลี่ยนรูปในตับจึงอาจทำให้มีผลข้างเคียงมากขึ้น เช่น ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) เฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) ไตรอาโซแลม (Triazolam) ดังนั้น ก่อนรับประทานมะนาวควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยาที่ใช้อยู่ด้วย
- ปริมาณในการใช้หรือรับประทานมะนาวที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย เช่น อายุและสุขภาพของผู้ใช้ ซึ่งตอนนี้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับปริมาณที่เหมาะสมในการใช้ยังมีไม่มากพอที่จะระบุได้ ผู้ใช้ก็ควรคำนึงถึงความปลอดภัยและปริมาณการใช้ที่ไม่มากเกินไป หากเป็นรูปแบบอาหารเสริมควรปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัดและไม่ลืมปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ อย่าแน่ใจเพียงเพราะเห็นว่าเป็นวัสดุจากธรรมชาติ
อ้างอิง : ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี , medthai.com , pobpad.com