น้ำตาเทียม แก้ตาแห้ง รู้สึกเคืองตา ตาแดง เพราะตาขาดน้ำ ขาดสารหล่อลื่นเคลือบดวงตา ที่ทำให้ตามีความชุ่มชื่น วิธีการช่วยบรรเทาอาการตาแห้งที่เราสามารถทำได้ง่าย คือ “การใช้น้ำตาเทียม”
เเต่ถ้าน้ำตาเทียมหมดอายุ สามารถนำมาใช้ต่อได้หรือไม่ หลายคนอาจสงสัยวันนี้ #ชีวจิตพาทุกคนมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับประเด็นนี้กันค่ะ

น้ำตาเทียม คืออะไร
น้ำตาเทียม คือ สารที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา ทดแทนน้ำตา แก้อาการตาแห้งและระคายเคืองดวงตา น้ำตาเทียมจัดเป็นยา แต่เราสามารถหาซื้อได้โดยไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์นะคะ
ส่วนประกอบในน้ำตาเทียม เป็นกลุ่มสารที่ให้ความชุ่มชื้น เช่น carboxymethylcellulose hydroxyethyl cellulose hydroxypropyl methylcellulose และ dextran
น้ำตาเทียมมีกี่ประเภท?
สำหรับน้ำตาเทียมมี 2 ประเภท ที่ขายอยู่ตามท้องตลาด
1. น้ำตาเทียมชนิดสารละลาย (solutions) ได้แก่ ยาหยอดตาชนิดน้ำ และยาหยอดตาชนิดน้ำและไขมัน
ข้อดี ใช้ง่าย ไม่ผสมหรือมีสารกันบูด สารกันเสีย ที่สำคัญปลอดภัยในการใช้ระยะยาว
ข้อเสีย ออกฤทธิ์หรือให้ความชุ่มชื้นระยะสั้น เราจึงจำเป็นต้องหยอดตาบ่อยๆ เเละถ้าไม่ผสมสารกันเสียจะมีอายุสั้น (12-24 ชั่วโมง) เท่านั้น
2. น้ำตาเทียมในรูปแบบกึ่งแข็ง (Semi-solid) ได้แก่ ขี้ผึ้งหรือเจล
ข้อดี ดวงตาชุ่มชื้นยาวนาน
ข้อเสีย การใช้อาจจะยากนิดหน่อย บางคนอาจจะไม่ชอบ เเละที่สำคัญหลังใช้การมองเห็นอาจลดลงชั่วคราว

อายุการใช้งาน น้ำตาเทียม ใช้นานได้เท่าไหร่
- แบบใช้ครั้งเดียว (Unit dose) ใช้ได้ไม่เกิน 1 วัน มักอยู่ในรูปแบบหลอดขนาดเล็ก ดังนั้น ไม่ควรใช้นานเกิน 24 ชั่วโมง นะคะ
- แบบใช้ได้หลายครั้ง (Multiple dose) มีส่วนผสมของสารกันเสีย เช่น ขวดขนาด 5 มิลลิลิตร หลังเปิดใช้งานแล้วไม่ควรใช้เกิน 30 วัน เพราะอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ได้
ทีนีเราก็รู้กันเเล้วนะคะ ว่าน้ำตาเทียม เปิดฝาใช้เเล้วสามารถใช้ได้นานเท่าไหร่ หมดอายุใช้ได้อีกหรือเปล่า เคลียร์ค่ะ !!
ถ้าไม่มีน้ำตาเทียม เเต่ตาแห้งทำไงดี
#ชีวจิต มีเคล็ดลับมาเเนะนำค่ะ โดยเฉพาะในคนที่ใช้จอคอมพิวเตอร์ จ้องโทรศัพท์เป็นเวลานานๆ ตาแห้ง กะพริบตาน้อย (ปกติเราต้องกะพริบตาประมาณ 10–15 ครั้งต่อนาที ) ดังนั้นวิธีแก้ ให้หลับตาพัก 3–5 วินาที เพื่อให้น้ำหล่อเลี้ยงลูกตาจากเปลือกตา มาฉาบให้ความชุ่มชื้นต่อลูกตา ก็ได้เช่นกันค่ะ
ปล.อย่าลืมใช้ น้ำตาเทียม แก้ตาแห้ง ของใครของมันด้วยนะคะ เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรือเเพร่เชื่อให้กันได้
ที่มา : Mayoclinic โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์