คำสาปทั้ง 3 ประเภท ที่ทำให้ ความรักไม่ยั่งยืน
คำสาปในที่นี้ คือสิ่งที่อยู่ภายในส่วนลึกของจิตใต้สำนึก เป็นการวางเงื่อนไขของใจ ที่ควบคุมจิตใจของเราให้เกิดความคิดหรือการกระทำที่ไม่เหมาะสม ซึ่งขัดกับความตั้งใจของเรา ทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง จนทำให้เกิดการเลิกรา เป็นต้นเหตุที่ทำให้ ความรักไม่ยั่งยืน มาดูกันว่าคำสาปทั้ง 3 ประเภท ที่ทำให้ความรักไม่ยั่งยืนมีอะไรบ้าง
-
คำสาปเรื่องโลภะ
ในทางพุทธศาสนา โลภะ คือ พลังงานทางจิตที่รู้สึกพอใจต่อสิ่งเร้าที่เข้ามาทางประสาทสัมผัสทั้งหก ได้แก่ ตา หู จมูก ปาก กาย และความคิด และพยายามจะดึงเข้ามาเพราะต้องการสิ่งนั้นอีก
เช่น การที่หัวใจพองโตเมื่อมีคนบอกว่า “ชุดนั้นน่ารักจัง” เป็นเพราะเสียงของอีกฝ่ายซึ่งเป็นคลื่นเสียงนั้นมากระทบกับประสาทสัมผัสที่เรียกว่าการได้ยินเข้า แล้วคำสาปที่เป็นโลภะก็เริ่มทำงานและเกิดปฏิกิริยาขึ้นว่า “อ๊ะ ช่างเป็นสิ่งเร้าที่ทำให้รู้สึกดีจริง ๆ เอาอีก ๆ เพิ่มสิ่งเร้าด้วยการชมฉันอีกสิ” นั่นเอง
ในเวลานั้นคงจะสงสัยว่าการถูกความโลภควบคุมมีอะไรไม่ดีหรือ
หากเราได้ลองตอบสนองต่อ “การได้รับคำชม” ด้วยความโลภสักครั้งหนึ่งแล้ว การวางเงื่อนไขก็จะจารึกลงไปในจิตใต้สำนึกว่า ไม่ว่าจะทำอะไรก็ “อยากให้ชม อ๊ะ ไม่ใช่สิ ต้องชมนะ” กล่าวคือ เป็นการหว่านเมล็ดให้เรา “รู้สึกเสียใจอย่างบอกไม่ถูก เมื่อไม่ได้รับคำชม”
โลภะคือ การวางเงื่อนไขของใจที่ทำให้เราต้องการสิ่งเร้าที่ถูกป้อนเข้ามาซ้ำแล้วซ้ำเล่า หากไม่ได้รับ จะเกิดความทุกข์อย่างแสนสาหัส
-
คำสาปเรื่องโทสะ
พลังงานที่คอยปฏิเสธ ผลักไส ทำให้เกิดความรู้สึกไม่อยากเห็นหรือไม่อยากรับฟังข้อมูลที่ถูกป้อนเข้ามานั้น ชื่อว่า “โทสะ”
ตัวอย่างเช่น เราคงไม่รู้สึกดีใจหากเห็นอีกฝ่ายทำสีหน้าเบื่อหน่าย และเมื่อนำมาวิเคราะห์ตามหลักพุทธศาสนาแล้ว มันคือการรับภาพที่อีกฝ่ายไม่ได้หันมาทางเรา ไม่แสดงสีหน้าความรู้สึกใด ๆ ผ่านเข้ามาทางตา แล้วนำมาตัดต่อข้อมูลภายในสมองว่า “เป็นข้อมูลที่ไม่ชอบ”
กล่าวคือ โทสะ ไม่ใช่เฉพาะสภาพที่เป็นความโกรธปุด ๆ เท่านั้น แต่รวมถึงพลังงานที่ผลักไสข้อมูลใดข้อมูลหนึ่งของหัวใจเรา แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม
เมื่อเราถูก “โทสะ” เล่นงาน เราจะนึกอยากตำหนิอีกฝ่ายขึ้นมาว่า “นี่ ทำไมดูเบื่อขนาดนั้น” ทว่านั่นเป็นเพียงการวางเงื่อนไขของใจที่เกิดขึ้นมาควบคุมให้รู้สึกอยากผลักไส ปฏิเสธภาพ “สีหน้าเบื่อหน่าย” ที่อยู่ตรงหน้าออกไปเท่านั้น
ลักษณะเด่นของ “โทสะ” คือ นอกจากใจจะเกิดความเครียดอย่างรุนแรงขึ้นมาในทันทีที่คิดว่า “อยากปฏิเสธ” แล้ว ภายในร่างกายยังหลั่งสารพิษที่ทำให้รู้สึกไม่สบายออกมาด้วย ต่อไปมาดูกันว่า พลังงานกิเลสที่เป็น “โทสะ” นี้จะปรากฏออกมาในรูปแบบใดบ้าง
อันที่จริงการผลักไสสภาพที่ไม่เป็นไปตามที่ใจคิด เช่น “ความเหงา” “ความอิจฉา” “ความเสียใจในภายหลัง” ล้วนเกิดจากวัตถุดิบที่ผลิตพลังงานประเภทเดียวกันออกมา
นั่นคือพลังงานโทสะ
ยิ่งมีพลังงานโทสะมากเท่าใด
เรายิ่งตกลงไปในความรู้สึกแง่ลบได้ง่ายมากขึ้นเท่านั้น
-
คำสาปเรื่องโมหะ
ในบรรดากิเลสที่เป็นรากเหง้าทั้ง 3 นั้น กิเลสที่แข็งแกร่งที่สุดคือความหลง หรือที่เรียกว่า โมหะ
กิเลสที่รู้สึกดีกับข้อมูลที่ถูกป้อนเข้ามาทางประสาทสัมผัสทั้งห้า และพยายามดึงข้อมูลนั้นเข้ามาคือ “โลภะ”
กิเลสที่รู้สึกไม่ดีกับข้อมูลนั้นและพยายามผลักไสออกไปคือ “โทสะ”
แต่หากเป็นสภาพใจลอย ไม่สนใจต่อสิ่งเร้าทั้งที่ทำให้รู้สึกดี และที่ทำให้รู้สึกไม่ดีนั้นคือ “กิเลสที่เป็นโมหะ”
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร แต่หากเป็นช่วงที่ยังใหม่อยู่ เราจะมีความสนใจเป็นพิเศษ แต่หากเคยชินขึ้นมา เช่น ทิวทัศน์ที่เห็นทุกวัน หน้าของคนที่เจอทุกวัน ความสนใจก็ค่อย ๆ จางไป
เป็นพลังงานซึ่งเกิดขึ้นในใจที่พยายามเมินเฉยสิ่งเหล่านั้นโดยอัตโนมัติ
เนื่องจากโดยปกติแล้ว ใจเราจะต้องการสิ่งเร้าที่มีพลังรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เป็นแง่บวกหรือแง่ลบก็ตาม จึงชอบแล่นไปตามโลภะหรือโทสะ ดังนั้นเมื่อไม่มีสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดโลภะหรือโทสะมาอยู่ตรงหน้า เราก็จะเมินเฉยต่อความจริงที่อยู่ตรงหน้า แล้วหนีเข้าไปอยู่ในความคิดภายในสมอง ที่เรียกว่าความทรงจำ เมื่อเราไม่รู้สึกสนใจเรื่องที่อีกฝ่ายกำลังพูด รู้สึกว่าไม่มีสิ่งเร้า เราก็จะคิดล่องลอยไปถึงเรื่องในอดีตหรืออนาคตที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย
อีกนัยหนึ่ง สิ่งที่เป็นความสุขสำหรับคู่รักคือ ช่วงที่เริ่มคบกัน ซึ่งยังมีความลังเลและความเขินอายอยู่ เพราะมีสิ่งเร้าที่ยังสดใหม่อยู่มาก เช่น ยังไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับอีกฝ่ายดีพอจึงทำให้อยากรู้มากกว่านี้ อยากรู้ว่าคนคนนี้เป็นคนแบบไหน รู้สึกตื่นเต้นว่าถ้าฉันพูดแบบนี้เขาจะมีปฏิกิริยาอย่างไร
ใจของเราชอบที่จะได้สิ่งเร้าที่รุนแรงเช่นนี้ จึงมักวางเงื่อนไขที่รุนแรงให้กับใจ เช่น การจารึกความรู้สึกที่ตื่นเต้นที่สุดลงไปในจิตใต้สำนึกว่า “อา รู้สึกดีจังเลย อยากได้สิ่งเร้าแบบนี้อีก จะอีกกี่ครั้งก็ได้”
แต่เมื่อความรู้สึกของทั้งสองคนเกิดปฏิกิริยาทางเคมีที่เข้ากันได้ดี กลายเป็นคนรักกันแล้ว ปริมาณของสิ่งเร้าที่ได้รับก็จะค่อย ๆ ลดน้อยลง
อาจจะเป็นวิธีพูดที่ห้วนไปหน่อยว่า เมื่อเรารู้สึกวางใจว่า “เราได้เขามาแล้ว” ความกังวลใจก็หายไป สิ่งเร้าที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้น ซึ่งถ้าจะพูดตามตรงก็คือ พลังงานกิเลสที่เป็นโทสะซึ่งทำให้กังวลว่า “ถ้าเข้ากันไม่ได้ จะทำยังไงดี” นั้น ลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด ความตื่นเต้นจึงลดลงไปด้วยเช่นกัน
ในช่วงเวลานี้ การรู้ทันว่าความตื่นเต้นได้ค่อย ๆ หายไปแล้วอาจเป็นเรื่องยาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก เราจะสังเกตเห็นได้ว่า “การลดลงของความตื่นเต้น” เป็นไปอย่างรวดเร็วมาก
ต่อมา เมื่อเราเจอกันบ่อยขึ้น มองหน้าอีกฝ่ายมากขึ้น หรือกล่าวอีกอย่างว่า จำนวนครั้งที่เดต และจำนวนครั้งที่ร่างกายเป็นหนึ่งเดียวกัน
เพิ่มขึ้น เราก็จะเคยชินกับสิ่งเร้าที่ได้จากอีกฝ่ายไปเรื่อย ๆ แม้ว่าตอนเห็น อีกฝ่ายถอดเสื้อผ้าหรือเปลือยเป็นครั้งแรกจะเกิดความรู้สึกหลาย ๆ อย่าง ขึ้นมาในใจและรู้สึกใจเต้น แต่เมื่อจำนวนครั้งเพิ่มขึ้น ความตื่นเต้นเช่นนั้น ก็ค่อย ๆ หายไป
ข้อมูลจากหนังสือ ไม่อกหักทั้งชีวิต
สั่งซื้อออนไลน์ คลิก
บทความน่าสนใจ
Dhamma Daily : พระพุทธศาสนากับความรัก เกี่ยวข้องกันอย่างไร ?
10 ขั้นตอน ชวนคนรักให้ รักษาศีล หลักการแสดงความรักที่เป็นรูปธรรม
รักแท้เป็นแบบไหน ? ความรักในมุมมองของพระพุทธศาสนา
“ฉันคือร่างกาย เธอคือหัวใจ” ความรักอันยิ่งใหญ่ของ รอง เค้ามูลคดี