ตะลิงปลิง

ตะลิงปลิง ผลไม้รสเปรี้ยวมากประโยชน์ แต่ก็มีโทษที่คุณควรระวัง!!

ตะลิงปลิง

ตะลิงปลิง เป็นไม้ผลยืนต้นขนาดเล็ก อยู่ร่วมวงศ์เดียวกับมะเฟือง สามารถปลูกได้ทั่วไปในประเทศไทย นิยมนำมารับประทานตั้งแต่โบราณเป็นพืชที่รู้จักมาก มีรสเปรี้ยวจัด บางพื้นที่จะใช้ปรุงอาหารแทนมะนาว หรือ รับประทานสดๆจิ้มกับพริกเกลือ แต่นอกจากเป็นอาหารแล้ว ยังมีประโยชน์ดีๆแฝงอยู่อีกเพียบ มาดูกันเลยค่ะ ^^

ชื่อเรียกแต่ละท้องถิ่น

  • มูงมัง (เกาะสมุย)
  • กะลิงปริง ลิงปลิง ลิงปลิง ปลีมิง (ระนอง)
  • บลีมิง (นราธิวาส)
  • มะเฟืองตรน, หลิงปลิง (ภาคใต้)

มาทำความรู้จักกับตะลิงปลิงกันเสียก่อน…

“ตะลิงปลิง” เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูงประมาณ 5-10 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก กิ่งก้านเปราะหักง่าย มีขนนุ่มตามกิ่ง

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกมีใบย่อยเรียงตัวกันเป็นคู่ ใบย่อยรูปหอก ปลายใบแหลม โคนมน จะเรียงจากขนาดเล็กไปหาขนาดใหญ่ ที่โคนจะมีขนาดเล็ก ใบกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาว 2-5 เซนติเมตร มีสีเขียวอ่อนมีขนนุ่มๆ ปกคลุมอยู่

ดอก ออกเป็นช่อตามลำต้นและกิ่ง (ดอกขนาดเล็กหลายช่อ) แต่ละช่อยาวราว 6 นิ้ว ดอกมี 5 กลีบ มีสีแดงเข้ม มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบสีเขียวอมชมพู เกสรกลางดอกมีสีเขียวแดง ดอกมีกลิ่นหอม ผลกลมยาวเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร

ผลสีเขียว เป็นพูตามความยาวผล 5 ร่อง ออกเป็นช่อห้อย เมื่อสุกมีสีเหลือง ฉ่ำน้ำ เมล็ดแบน ผลมีรสเปรี้ยวจัดเพราะมีกรดออกซาลิกอยู่สูง ให้ผลในฤดูหนาว

ตะลิงปลิงในมุมมองของอาหาร

ยอดอ่อนและก้านดอกใช้ต้มจิ้มน้ำพริก ในประเทศไทยส่วนที่นิยมใช้กินคือผลอ่อน ผลตะลิงปลิงมีรสเปรี้ยวจัด นิยมใช้แกงส้ม แกงคั่ว ทำน้ำพริก ต้มหมู ต้มเนื้อ ยำต่างๆ นำมาดอง หรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ กินกับขนมจีน ใส่ในน้ำบูดู หรือใช้แทนมะนาวในเมี่ยงคำ (ภูเก็ต)

 

ตะลิงปลิง

สรรพคุณในตำรายาไทย

ราก : สรรพคุณแก้พิษร้อนใน กระหายน้ำ ฝาดสมาน บำรุงกระเพาะอาหาร แก้เลือดออกตามกระเพาะอาหาร ลำไส้ ดับพิษร้อนของไข้ แก้ริดสีดวงทวาร แก้คัน แก้คางทูม แก้ไขข้ออักเสบ รักษาสิว รักษาซิฟิลิส บรรเทาโรคเกาต์ บรรเทาการอักเสบของลำไส้ใหญ่

ใบ : สรรพคุณใช้พอกแก้คัน ที่ประเทศฟิลิปปินส์ใช้พอกรักษาคางทูม โรคข้อรูมาตอยด์ และรักษาสิว ใช้ภายในโดยนำมาต้มดื่มรักษาอาการอักเสบของลำไส้ใหญ่ รักษาซิฟิลิส แก้ไขข้ออักเสบ น้ำต้มใบใช้อาบให้กับผู้ป่วยที่มีไข้

ดอก : นำมาชงเป็นชา สรรพคุณแก้ไอ

ผล : สรรพคุณเจริญอาหาร บำรุงกระเพาะอาหาร ฝาดสมานและลดไข้ แก้เสมหะเหนียว ฟอกโลหิต ยาบำรุงแก้ปวดมดลูก แก้ไอ บรรเทาโรคริดสีดวงทวาร แก้ลักปิดลักเปิด ชาวเกาะชวากินผลร่วมกับพริกไทยเพื่อขับเหงื่อในผู้มีอาการซึมเศร้า

ตะลิงปลิงถึงผลจะเล็กจิ๋ว แต่ประโยชน์ของมันนั้นหากรู้แล้วจะต้องทึ่ง! มาดูกันเลย…

  • ช่วยให้เจริญอาหารมากขึ้น จึงเหมาะสำหรับคนที่มีอาการเบื่ออาหารและทานอาหารได้น้อยกว่าปกติ
  • ช่วยบำรุงและบรรเทา อาการปวดมดลูก ได้อย่างดีเยี่ยม
  • มีสรรพคุณในการบรรเทาอาการอักเสบของลำไส้ โรคริดสีดวงทวาร โรคเกาต์ โรครูมาตอยด์ และไขข้ออักเสบได้อย่างดีเยี่ยม
  • สามารถแก้อาการร้อนใน หรือกระหายน้ำได้เป็นอย่างดี
  • มีส่วนช่วยในการละลายเสมหะ ในคนที่มีอาการเจ็บคอ เป็นเสมหะ และให้ความรู้สึกชุ่มคอมากขึ้น
  • บรรเทาอาการไอและอาการเจ็บคอ โดยเฉพาะในคนที่เป็นโรคหวัด
  • ช่วยลดระดับของน้ำตาลและไขมันในเลือดได้อย่างดีเยี่ยม จึงเหมาะกับผู้ที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานและความดันเป็นที่สุด หรือในคนปกติก็จะช่วยป้องกันการป่วยด้วย 2 โรคนี้ได้ดี
  • การวิจัยที่สิงค์โปรได้ทำการทดลองกับหนู โดยใช้สารสกัดเอทานอลในใบตะลิงปลิง พบว่าสามารถช่วยลดระดับไขมันและระดับน้ำตาลในเลือดได้
  • จากประเทศฟิลิปปินส์มีงานวิจัยที่พบว่า น้ำของตะลิงปลิงเมื่อใช้ทดลองกับสุกรและหนูหลังผ่านการผสมพันธุ์แล้วปรากฏว่าไม่สามารถทำให้ติดลูกได้ถึงร้อยละ 60 ซึ่งอาจจะเป็นผลของสเตอรอยด์ไกลโครไซด์และกรดออกซาลิกที่มีในน้ำตะลิงปลิง มีฤทธิ์ในการคุมกำเนิด ได้นั่นเอง

 

ข้อควรระวังในการบริโภคตะลิงปลิง

มีความเชื่อว่า ตะลิงปลิงมีสรรพคุณหลายอย่าง จึงเป็นที่นิยมนำมารับประทานทั้งไม่ว่าจะเป็นรากใบ ดอก ผล และในรูปแบบของการนำมาประกอบอาหาร หรือทำเป็นน้ำผลไม้ ในทางการแพทย์ยังไม่มีผลงานวิจัยในมนุษย์ในเรื่องของประโยชน์จากตะลิงปลิงในการนำมารักษาโรคต่างๆได้อย่างชัดเจน

แต่ผลข้างเคียงที่พบบ่อย คือ “ภาวะไตวาย” จากการนำผลตะลิงปลิงมาคั้นเป็นน้ำดื่ม เนื่องจาก ผลของตะลิงปลิง มีกรดอ๊อกซาลิค(oxalic acid)ในปริมาณที่สูงมาก ซึ่งทำให้เกิดอันตรายต่อไต เกิดภาวะไตวายเกิดขึ้น เป็นอันตรายได้ดังนั้นคำแนะนำในการบริโภคตะลิงปลิงคือ

  • ไม่ควรรับประทานตะลิงปลิงปริมาณมาก
  • ไม่ควรนำผลตะลิงปลิงมาคั้นทำเป็นน้ำผลไม้ดื่ม
  • ไม่ควรรับประทานตะลิงปลิงตอนท้องว่าง
  • ไม่ควรรับประทานตะลิงปลิงในภาวะที่ร่างกายขาดน้ำ
  • ผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตผิดปกติไม่ควรรับประทานตะลิงปลิง หรือ มะเฟือง เพราะเป็นพืชที่มีกรดอ๊อกซาลิคสูงทั้งคู่ ซึ่งจะทำให้เกิดการทำงานของไตที่ผิดปกติมากขึ้น จนนำไปสู่ภาวะไตวายไตล้มเหลวในที่สุด

 

ลูกตะลิงปลิง 100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย ดังนี้

กิโลแคลอรี 11 ประกอบด้วยเส้นใย 0.3 กรัม แคลเซียม 1 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 6 มิลลิกรัม เหล็ก 0.2 มิลลิกรัม วิตามินเอ 267 หน่วยสากล (IU) วิตามินบีหนึ่ง 0.03 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.09 มิลลิกรัม ไนอาซีน 0.7 มิลลิกรัม วิตามินซี 2 มิลลิกรัม

ขอบคุณข้อมูลจาก

#ACuisine #เอคูซีน #รู้หรือไม่ #TamTip
👉 กดติดตาม Instagram ได้ที่ @ acuisine.th Follow มาเยอะๆ นะคะ 😘
ง่าย สนุก สุข อร่อย อยากกิน..อยากฟิน..อยากทำ.. อย่าลืมติดตาม #Acuisine นะจ๊ะ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.