Zilingo

Zilingo เปิดโครงการ “SheWorkZ Thailand” ส่งเสริมศักยภาพ สร้างพลัง และเป็นแรงบันดาลใจแก่หญิงไทยสร้างอาชีพอย่างยั่งยืน

Zilingo เปิดโครงการ SheWorkZ Thailand” ส่งเสริมศักยภาพ สร้างพลัง และเป็นแรงบันดาลใจแก่หญิงไทยสร้างอาชีพอย่างยั่งยืน ตอกย้ำความตั้งใจสนับสนุนผู้หญิง ร่วมกับ UN ลงนามข้อตกลง Women’s Empowerment Principles

Zilingo

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 75 ของโลกในดัชนีช่องว่างระหว่างชาย-หญิง ในขณะที่มิติเชิงเศรษฐกิจไทยอยู่ในอันดับที่ 25 ของโลก จากความผกผันของทั้ง 2 สถิติ สะท้อนให้เห็นว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ ทั้งที่ผู้หญิงคือแรงงานที่สำคัญ คิดเป็น 66% ของแรงงานทั้งหมด แต่ด้วยเหตุผลทางสังคมและเศรษฐกิจหลายประการ ทำให้ผู้หญิงประสบปัญหาค่าแรงไม่เท่าเทียม และเข้าถึงโครงสร้างเชิงเศรษฐกิจอย่างจำกัดเนื่องจากภาระหน้าที่ทางบ้าน จะดีแค่ไหนหากพวกเธอได้รับโอกาสให้สามารถทำงานได้ตามต้องการ มีอิสระและความเท่าเทียม เพื่อปูเส้นทางสู่ความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน

 

Zilingo (ซิลิงโก้) ในฐานะแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมแฟชั่นครบวงจร ร่วมฉลองวันสตรีสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เปิดโครงการ SheWorkZ Thailand พร้อมลงนามรับข้อตกลงความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างพลังสตรี (Women’s Empowerment Principles: WEPs) ที่จัดทำโดย UN Global Compact  ย้ำเจตนารมณ์เสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิง ทั้งที่ทำงานในบริษัท ตลาดซื้อ-ขายสินค้าบนโลกออนไลน์ และชุมชน มุ่งส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและการเสริมศักยภาพและพลังของผู้หญิง เพื่อสร้างความปลอดภัยในสถานที่ทำงานและสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการทำงานของพวกเธอ

ซิลิงโก้
Zilingo ลงนามรับข้อตกลงความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างพลังสตรี (Women’s Empowerment Principles) ที่จัดทำโดย UN Global Compact

นางสาวนริสสา ลิมปนาทร Head of Social Impact, Zilingo กล่าวว่า “Zilingo ต้องการกระจายความมั่งคั่งไปสู่ชุมชน และให้โอกาสผู้หญิงสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยนำความรู้ความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจแพลตฟอร์มแฟชั่นมาต่อยอด จึงได้จัดทำโครงการ SheWorkZ ส่งเสริมศักยภาพให้ผู้หญิงมีความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ สร้างระบบนิเวศทางธุรกิจให้ผู้หญิงพบกับอิสรภาพทางการเงิน ผ่าน 3 กระบวนการ ได้แก่ การอบรมทักษะทางอาชีพ  การสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนขนาดเล็ก และโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งประเทศไทย เป็นประเทศที่ 2 ที่เปิดตัวโครงการ “SheWorkZ” ต่อจากอินโดนีเซีย เมื่อปี 2562 โดยในระยะแรกของโครงการ SheWorkZ Thailand กำหนดกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นผู้หญิงที่อาศัยในภาคเหนือและภาคใต้”

Zilingo

ภารกิจสำคัญของโครงการ SheWorkZ คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งยังช่วยให้ผู้หญิงมีอิสระทางการเงินมากขึ้นและประสบความสำเร็จในชีวิต ผ่านการสร้างและส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้หญิงกลับเข้ามาสู่ตลาดแรงงานได้โดยไม่ต้องละทิ้งภารกิจส่วนตัวที่บ้าน ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการทำงานรูปแบบเดิม นอกจากนี้ SheWorkZ จะช่วยเสริมความเชื่อมั่นว่าสินค้าที่ผลิตออกมาจะเป็นที่ต้องการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้หญิงอย่างยั่งยืน

Zilingo

และเนื่องในวันสตรีสากล Zilingo ยังได้จัดสัมมนาในหัวข้อ “WOMEN. EMPOWERMENT. ECONOMY” โดยได้รับเกียรติจากผู้หญิงที่เก่งและแกร่งจากหลายภาคส่วน อาทิ นางภัสสร์วี โคดากะ ตาปสนันทน์ จาก FolkCharm Crafts, Ms. Katja Freiwald จาก UN Women, Ms. Jodie MacCartney จาก Second Chance Bangkok และนางสาวนริสสา ลิมปนาทร จาก Zilingo ที่มาร่วมสะท้อนมุมมองต่อสตรี ในการเสริมสร้างศักยภาพ และความยั่งยืนในประเทศไทย รวมทั้งในภูมิภาคเอเชีย และอภิปรายถึงปัญหาที่ผู้หญิงต้องเผชิญ แนวทางในการขับเคลื่อนที่นำไปสู่ความยั่งยืนของความเท่าเทียมทางเพศในสังคม

Ms. Katja Freiwald
Ms. Katja Freiwald ผู้จัดการโครงการ WeEmpowerAsia

Ms. Katja Freiwald ผู้จัดการโครงการ WeEmpowerAsia โครงการระหว่างสหภาพยุโรป (European Union) และองค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ที่มุ่งส่งเสริมบทบาทการเป็นผู้นำและการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในภาคธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย ได้เสนอแนวทางสร้างพลังขับเคลื่อนผู้หญิงว่า “ทั้งองค์กรเอกชน ภาครัฐ และองค์กรอิสระต่างๆ ล้วนมีบทบาทร่วมกันในการประสานความร่วมมือเพื่อผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ และสำหรับประเทศไทย หลายองค์กรมีความตื่นตัวอย่างมาก ภาคเอกชนก็มีบทบาทในการส่งเสริมและสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับผู้ประกอบการ โดยการลงนามยอมรับหลักการ Women’s Empowerment Principles หรือ WEPs (หลักการแห่งการเสริมสร้างศักยภาพและพลังของผู้หญิง) จะทำให้องค์กรตระหนักถึงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของผู้หญิง และผลลัพธ์ที่ดีที่จะเกิดขึ้นจากความเท่าเทียมระหว่างเพศในที่ทำงาน รวมทั้งในห่วงโซ่คุณค่า (value chain) และห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) สำหรับประเด็นช่องว่างค่าแรงระหว่างเพศนั้น มิใช่แค่เพียงภาครัฐที่จะเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนไปพร้อมๆ กันด้วย”

Ms. Jodie MacCartney
Ms. Jodie MacCartney จาก Second Chance Bangkok

ทางด้าน Ms. Jodie MacCartney จาก Second Chance Bangkok หน่วยงานอิสระที่ช่วยเหลือและสร้างพลังให้กับผู้หญิงในชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ ด้วยการพัฒนาทักษะและการสนับสนุนด้านอาชีพในสายงานแฟชั่น รวมถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นจากขยะรีไซเคิล ได้แสดงความคิดเห็นต่อการขาดโอกาสทางอาชีพของผู้หญิงที่ต้องเผชิญกับวงจรความยากจนว่า “ผู้หญิงต้องการโอกาส ดังนั้นการฝึกทักษะทางอาชีพไม่ใช่เพื่อให้พวกเธอรู้สึกดีกับตนเองมากขึ้น แต่ยังนำไปสู่การเปลี่ยนชีวิตในระยะยาว เพราะพวกเธอมีลูก มีครอบครัวเป็นแรงบันดาลใจให้ทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว พวกเธอมีสิทธิ์มีเสียง แต่อาจจะยังหาไม่พบในตัวเองเมื่อแรกเริ่ม เราจึงเข้ามาช่วยให้พวกเธอได้พบกับสิทธิ์และเสียงของตนเอง”

นางภัสสร์วี โคดากะ ตาปสนันทน์
นางภัสสร์วี โคดากะ ตาปสนันทน์ จาก FolkCharm Crafts

นางภัสสร์วี โคดากะ ตาปสนันทน์ จาก FolkCharm Crafts เจ้าของแบรนด์แฟชั่นผ้าฝ้ายทอมือออแกนิคของไทยจากฝีมือแรงงานช่างทอท้องถิ่นทางภาคเหนือของไทยในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน ได้กล่าวถึงการสร้างพลังหญิงร่วมกับกลุ่มช่างทอว่า “การทำความเข้าใจถึงบทบาทของผู้หญิงในสังคมนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง ตั้งแต่ในครอบครัว สู่ชุมชนและในวงที่กว้างขึ้น เราจึงต้องฟังความคิดเห็น ฟังเสียงของพวกเขาและเข้าใจวิถีชีวิตของพวกเขา รับฟังความคิดเห็นและเงื่อนไขที่เขามี เราจึงได้จัดให้มีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น หรือทำงานจากที่บ้านเพื่อให้พวกเขาได้ทำงานและดูแลครอบครัวได้ เพราะความเชื่อมั่นในพลังของผู้หญิงนี้เอง จึงเป็นแรงบันดาลใจในการก่อตั้ง FolkCharm Crafts ขึ้น และเพราะผู้หญิงมีภาระหน้าที่ทางบ้าน เราจึงมุ่งเน้นถึงความสำคัญของพลังหญิง และคิดว่าผู้หญิงมีความสามารถในการทำงานที่เท่าเทียม”

นริสสา ลิมปนาทร
นางสาวนริสสา ลิมปนาทร จาก Zilingo

ปิดท้ายด้วยนางสาวนริสสา ลิมปนาทร จาก Zilingo ที่กล่าวถึงมุมมองในการสร้างพลังหญิงให้เติบโตควบคู่ไปกับความยั่งยืนว่า “เราต้องเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านนโยบายที่มีความโปร่งใส และเราต้องการคนที่กล้าตัดสินใจและกล้าที่จะสร้างความแตกต่างให้มากขึ้น ผู้หญิงควรกล้าที่จะพูดและแสดงความคิดเห็น หากคุณเดินคนเดียว คุณจะไปได้เร็วขึ้น แต่หากเดินไปด้วยกัน เราจะไปได้ไกลขึ้น ความกล้าพูดนี้จะช่วยให้คุณภาคภูมิใจในจุดที่คุณอยู่ ว่าคุณคู่ควรกับตำแหน่งนั้นด้วย”

SheWorkZ ยังมีปณิธานอันมุ่งมั่นในการขยายแนวคิดนี้ไปสู่วงกว้างจากผู้หญิง โดยผู้หญิง เพื่อผู้หญิง โดยไม่หยุดเพียงในระดับประเทศ ทางโครงการยังมีแผนที่จะขยับขยายสู่ระดับภูมิภาคและก้าวไกลกว่านั้น ซึ่งในปี 2564 มีเป้าหมายที่จะเข้าถึงผู้หญิง 2,000 คนในประเทศอินโดนีเซีย ไทย และอินเดีย และเมื่อเรารวมพลังหญิงเป็นหนึ่งเดียว จะไม่มีสิ่งใดหยุดยั้งได้ จึงขอเชิญชวนให้ผู้หญิงที่แสวงหาโอกาสมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งบนเส้นทางการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศครั้งนี้

© COPYRIGHT 2025 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.