โปรตีนจากนม ส่วนประกอบสำคัญในแผนโภชนาการ สำหรับการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างมีสุขภาพดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การสัมมนาออนไลน์ของ USDEC เน้นความสำคัญของงานวิจัยและแนวคิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์
ผลการศึกษาล่าสุดโดยสภาการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมแห่งสหรัฐอเมริกา (USDEC) พบว่า กว่าร้อยละ 98 ของผู้ตอบแบบสำรวจในไทยและสิงคโปร์ปรารถนาที่จะมีสุขภาพดีพร้อมไปกับอายุที่เพิ่มมากขึ้น แต่กลับมีเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่รู้สึกว่าพวกเขาพร้อมที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีสุขภาพดีการศึกษาในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับโปรตีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เวย์ และมุมมองเกี่ยวกับสุขภาพและความสุขสมบูรณ์ โดยมุ่งไปที่ตลาดประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีความแตกต่างและหลากหลายทางรสชาติอาหารและวัฒนธรรม ในการสัมมนาออนไลน์ในวันนี้ที่จัดขึ้นสำหรับผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงผู้ที่อยู่ในแวดวงอาหารและโภชนาการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการและนวัตกรรมอาหารจากสิงคโปร์และญี่ปุ่นได้อภิปรายถึงโอกาสและขั้นตอนเชิงรุกที่จะลดช่องว่างความแตกต่างระหว่างความตั้งใจและการปฏิบัติในการดูแลสุขภาพ และลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยท่ามกลางการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย (Sarcopenia) คือ การสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ และการเสื่อมถอยของความแข็งแรงและการทำงานของกล้ามเนื้ออย่างรวดเร็วจากอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อผู้ใหญ่ตั้งแต่ในวัย40 ปี
เพิ่มความตระหนักรู้ของผู้บริโภคเกี่ยวกับประโยชน์ของโปรตีน
การเสริมสร้างความรู้ของผู้บริโภคเกี่ยวกับแหล่งโปรตีนชั้นยอดควบคู่ไปกับการบริโภคโปรตีนในปริมาณและเวลาที่เหมาะสม เป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยให้ผู้บริโภคบรรลุเป้าหมายในการเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างมีสุขภาพดี แม้ว่ากว่าร้อยละ 80 ของผู้ตอบแบบสำรวจในการศึกษาของ USDEC จะเห็นด้วยว่าโปรตีนเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อการสร้างกล้ามเนื้อ การมีสุขภาพแข็งแรง และลดการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ แต่หลายคนยังคงสับสนเกี่ยวกับความต้องการโปรตีนของร่างกายในเชิงการเปลี่ยนแปลงของความต้องการโปรตีนที่เปลี่ยนไปตามช่วงอายุ รวมถึงความแตกต่างทางโภชนาการระหว่างโปรตีนจากพืช โปรตีนจากสัตว์ และโปรตีนจากนม
ดร.ซาโตชิ ฟูจิตะ ศาสตราจารย์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การกีฬาและสุขภาพ มหาวิทยาลัยริทสุเมอิกัน ประเทศญี่ปุ่น ตอบคำถามเหล่านี้ด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เขาอธิบายถึงความสำคัญของการบริโภคโปรตีนอย่างเพียงพอ โดยแบ่งสัดส่วนการรับประทานเท่า ๆ กันตลอดวันในแต่ละมื้อทั้งอาหารเช้า เที่ยง และเย็น ในปริมาณ 20 – 30 กรัม หรือ 0.4 กรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน เพื่อช่วยป้องกันภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย เขายังเน้นย้ำถึงความสำคัญของคุณภาพของโปรตีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์ประกอบของกรดอะมิโนจำเป็น และบทบาทสำคัญของกรดอะมิโนจำเป็น หรือกรดอะมิโนลิวซีน โดยหากพิจารณาสัดส่วนของกรดอะมิโนจำเป็นต่อโปรตีนทั้งหมดในอาหารแต่ละประเภท เวย์โปรตีนมีสัดส่วนกรดอะมิโนสูงสุดที่ร้อยละ 52 เมื่อเทียบกับแหล่งโปรตีนอื่นจากสัตว์และพืช เช่น เนื้อวัว (ร้อยละ 44) ปลาหิมะ (ร้อยละ 40) ถั่วเหลือง (ร้อยละ 38) ถั่วลันเตา (ร้อยละ 37) และข้าวสาลี (ร้อยละ 30) นอกจากนี้ เวย์โปรตีนยังมีปริมาณกรดอะมิโนลิวซีนซึ่งเป็นโมเลกุลที่กระตุ้นการสังเคราะห์โปรตีนและซ่อมแซมกล้ามเนื้อสูงเป็นอันดับหนึ่งอีกด้วย[1]
อีกหนึ่งประเด็นที่วิทยากรได้หยิบยกขึ้นมาพูดระหว่างการสัมมนาออนไลน์ คือ ความไม่สมดุลของการบริโภคโปรตีนระหว่างวัน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มื้ออาหารส่วนใหญ่โดยเฉพาะมื้อเช้ามักมีคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนประกอบหลัก ทำให้ปริมาณการบริโภคโปรตีนในช่วงเริ่มต้นของวันอยู่ในระดับต่ำและเพิ่มสูงขึ้นในช่วงมื้อเย็น แทนที่จะกระจายปริมาณการบริโภคโปรตีนให้ใกล้เคียงกันตลอดทั้งวัน การเพิ่มโปรตีนจากนมเข้าไปในมื้ออาหารโดยเฉพาะมื้อเช้าเป็นวิธีการง่าย ๆ ที่ผู้บริโภคสามารถเริ่มต้นได้เองทันที เพื่อเพิ่มปริมาณโปรตีนที่หายไปในมื้อเช้า วิธีนี้ยังช่วยรักษามวลกล้ามเนื้อและการทำงานของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายยังคงแข็งแรงเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ
อาหารที่เข้ากับรสชาติของชาวอาเซียน
รสชาติเป็นปัจจัยสำคัญควบคู่ไปกับคุณค่าทางอาหาร ที่ช่วยเพิ่มปริมาณการบริโภคโปรตีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การคิดค้นผลิตภัณฑ์และกำหนดสูตรอาหารอย่างเอาใจใส่มีความสำคัญต่อการเพิ่มปริมาณโปรตีนในอาหารและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อรสชาติ กลิ่น และรสสัมผัส เวย์โปรตีนมีลักษณะรสชาติและกลิ่นที่เป็นกลาง จึงเป็นส่วนประกอบที่เหมาะกับอาหารทั่วไปที่รับประทานในทุกวัน ทั้งอาหารตะวันตกหรืออาหารเอเชีย
ด้วยความพยายามในการประยุกต์คิดค้นและพัฒนาต้นแบบของ USDEC ณ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. CDE) ซึ่งมีครัวสาธิตการปรุงอาหารและห้องปฏิบัติการประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัสของอาหารที่ทันสมัย ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มในภูมิภาคสามารถเข้าเยี่ยมชมและรับแรงบันดาลใจจากข้อมูลรายการอาหารและเครื่องดื่มอันครบครัน ซึ่งล้วนอุดมไปด้วยโปรตีนและเข้ากับรสชาติของผู้คนในท้องถิ่น และมีส่วนผสมโปรตีนจากนมของสหรัฐอเมริกา ซึ่งผสมกลมกลืนกับทุกเมนูอาหารประจำวัน
“ความเอนกประสงค์และคุณประโยชน์ของโปรตีนจากนมทำให้เกิดการรังสรรค์ผลิตภัณฑ์และเมนูอาหารที่สะท้อนเอกลักษณ์ของอาหารในภูมิภาคและมอบสารอาหารโปรตีนคุณภาพในปริมาณที่มากยิ่งขึ้น การเพิ่มส่วนผสมอย่างเวย์และโปรตีนนมเข้าไปในอาหารประเภทข้าวและเส้น เช่น ผัดไทย ลักซา ข้าวผัด แกงกะหรี่ และของหวานต่าง ๆ จะช่วยสร้างความสมดุลของปริมาณการบริโภคโปรตีนในแต่ละมื้อ และจะช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับสารอาหารที่จำเป็นจากอาหารจานที่คุ้นเคยอยู่แล้ว” คุณพาวลีน ชาน ผู้จัดการ บริษัท ฟู้ด แอนด์ นูทริชั่น สเปเชียลลิสต์ส จำกัด ประเทศสิงคโปร์ กล่าว
เนื่องจากเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในปัจจุบันได้ผลักดันและสร้างความเปลี่ยนแปลงต่ออุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มอย่างต่อเนื่อง U.S. CDE จึงมุ่งส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมและโภชนาการที่ออกแบบเฉพาะสำหรับภูมิภาค โดยใช้ส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมและชีสของสหรัฐอเมริกา เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป U.S. CDE เป็นสถาบันแห่งแรกที่เป็นทั้งแหล่งการเรียนรู้ การระดมความคิด และพื้นที่ทำงานร่วมกัน ซึ่งมุ่งพัฒนาสถาบันให้เป็นแหล่งทรัพยากรคุณภาพที่จะช่วยให้ลูกค้า ผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมของสหรัฐอเมริกา ร่วมกันเติบโตในระบบนิเวศน์อาหารในอนาคต
เพิ่มช่องทางการเข้าถึงและทางเลือกที่มากขึ้น
การส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการทางความคิดของผู้คนเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงและทางเลือกในการบริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน จากการศึกษา ผู้บริโภคทั้งในประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์ระบุว่าพวกเขายินดีที่จะจ่ายมากขึ้นสำหรับอาหารเพื่อสุขภาพ อ่านข้อมูลโภชนาการก่อนการซื้อสินค้า และสนใจทดลองอาหารและรสชาติที่แปลกใหม่ โดยร้อยละ 83 ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีเวย์โปรตีนในระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม สภาพตลาดในปัจจุบันยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยร้อยละ 41 ของผู้ตอบแบบสำรวจในประเทศไทยระบุว่า ผลิตภัณฑ์ที่อุดมไปด้วยโปรตีนนั้นหาซื้อได้ยากในร้านค้าที่พวกเขาซื้อเป็นประจำ ยิ่งไปกว่านั้น สัดส่วนของผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากระบุว่า “อุดมไปด้วยโปรตีน” บนชั้นวางสินค้าในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ 25 แห่งในกรุงเทพฯ มีน้อยกว่าร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโอกาสของผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มในการตอบสนองความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้บริโภค
“ผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของโปรตีนในภาพรวมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่าในขณะที่มีความต้องการของผู้บริโภคในภูมิภาค แต่จำนวนสินค้าและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่อุดมด้วยโปรตีนนั้นยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ นับเป็นโอกาสสำคัญของผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มในการเข้าถึงตลาดที่กำลังเติบโตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการนำเสนออาหารและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่อุดมด้วยโปรตีนที่ผู้บริโภคในภูมิภาคคุ้นเคย” คุณมาร์ติน เตียว ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคการประยุกต์อาหาร USDEC เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว
ด้วยสถานการณ์การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แนวทางการบริโภครูปแบบใหม่จึงเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนเพื่อสุขภาพที่ดีในอนาคต ด้วยการเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคโปรตีนตั้งแต่วันนี้ ทั้งในเชิงปริมาณ ประเภท และเวลาในการรับประทานโปรตีนให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยโปรตีนจากนมของสหรัฐอเมริกาในฐานะแหล่งโปรตีนคุณภาพสูงที่มีสารอาหารครบถ้วน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายและเต็มไปด้วยคุณประโยชน์ เป็นส่วนประกอบอาหารที่ตอบโจทย์ความต้องการทางโภชนาการของสังคมผู้สูงอายุที่มีความเฉพาะตัวได้อย่างดีเยี่ยม
เยี่ยมชม ThinkUSAdairy.org สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโปรตีนจากผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม คุณประโยชน์และการประยุกต์ใช้