สมาคมสภาองค์กรโรคหืดฯ ชี้ “โรคหืด” รักษาได้
สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย เปิดตัวแนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคหืดในประเทศไทยฉบับใหม่ ปี 2565 โดยชูประเด็นการรักษาผู้ป่วยโรคหืดแบบองค์รวม เน้นความเข้าใจง่าย นำมาใช้ได้จริง และสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย ทั้งการพ่นยาให้ต่อเนื่องและเทคนิคการปรับเพิ่มลดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อเป้าหมายสูงสุดของผู้ป่วยทุกรายให้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนคนปกติ
ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย (Thai Asthma Council: TAC) กล่าวว่า สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย ได้จัดประชุมวิชาการประจำปี 2565 ในหัวข้อ “Asthma Management in the Year 2022: Simplicity and Complexity” ระหว่างวันที่ 17-19 มีนาคม 2565 ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล โดยมีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่แนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคหืดในประเทศไทยฉบับใหม่ ปี 2565 ที่ทันสมัยและนำไปใช้ได้จริงสำหรับผู้ป่วยโรคหืด เหมาะกับแพทย์และบุคลากรทางการแทพย์ โดยแนวทางการดูแลคนไข้ที่สำคัญคือ เน้นให้คนไข้พ่นยาต่อเนื่องสม่ำเสมอ พร้อมเทคนิคการปรับเพิ่มยาลดยา และการรักษาแบบเป็นองค์รวม โดยใช้ยาและไม่ใช้ยา
“สถานการณ์โรคหืดเป็นปัญหาเรื้อรังของระบบสาธารณสุขของประเทศไทย จำนวนคนไข้ยังเพิ่มขึ้น ระดับการควบคุมโรคที่มีอาการหอบกำเริบยังค่อนข้างสูง สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย จึงได้จัดทำแนวทางการรักษาแบบง่ายและใช้ได้จริง สามารถเข้าถึงทุกพื้นที่ทุกโรงพยาบาล เพื่อเน้นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการรักษาโรคหืดสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสำหรับผู้ป่วย สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย จะเผยแพร่แนวทางการรักษาใหม่นี้ให้กับโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ และจัดอบรมบุคลากรทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง โดยเป้าหมายการรักษาที่เราเน้นคือ โรคหืดรักษาได้”
ศ.พญ.อรพรรณ กล่าวว่า การดูแลคนไข้โรคหืด ต้องอาศัยความร่วมมือ ระหว่าง แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยและครอบครัว มาร่วมมือกันเพื่อให้คนไข้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี ทำกิจกรรมได้ปกติ ไม่มีอาการหอบกำเริบจนถึงหายขาดได้
สำหรับโรคหืดเป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม เกิดจากปฏิกิริยาทางภูมิแพ้ของร่างกายต่อสารก่อโรค เช่น ไรฝุ่น ฝุ่น PM2.5 แมลงสาบ สุนัข-แมว เกสรหญ้า น้ำหอม น้ำยาหรือสารเคมี ควันบุหรี่ ควันรถยนต์ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการทางเดินหายใจ ได้แก่ หายใจเสียงหวีด หอบเหนื่อย แน่นหน้าอกและอาการไอ อาการจะแย่ลงช่วงกลางคืนหรือรุ่งเช้า และอาการอาจกำเริบหรือกลับเป็นซ้ำๆ ได้ ทำให้เกิดอาการอักเสบเรื้อรังของหลอดลมอย่างต่อเนื่องแม้ผู้ป่วยไม่มีอาการ และสามารถกลับมาควบคุมอาการให้ปกติได้ด้วยการรักษาที่เหมาะสม และไม่มีอาการอีกเป็นเวลานานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน แต่ผู้ป่วยบางรายก็อาจมีอาการหืดกำเริบเฉียบพลันรุนแรง จนทำให้เสียชีวิตได้ จากข้อมูลของสำนักโรคไม่ติดต่อระบุว่า ผู้ป่วยโรคหืดมีแนวโน้มเสียชีวิตประมาณ 2,200 รายต่อปี และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทุกปี
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม
-
- SKINLAB ขยายช่องทางในอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์ม ตลาดตอบรับดี ทุบสถิติ
- Dyson เปิดตัวอุปกรณ์เพื่อเส้นผมสีใหม่! เตรียมเป็นไอเท็มฮิตช่วงเทศกาลปลายปีนี้
- 5 วิธีดูแลผิวช่วงหน้าหนาว ให้สาวๆ สนุกท้าลมหนาวได้เต็มที่
- 5 อาหารช่วยลดสิว ช่วยทำให้ผิวพรรณสวยใสและไร้ริ้วรอย
- 5 วิธีดูแลสุขภาพสำหรับชาวออฟฟิศ ที่ชีวิตเร่งรีบและวุ่นวาย
- ไม่ต้องรอให้ติดแฮชแทกว่า สภาพ เพราะความสวยไม่เข้าใครออกใคร
- วิธีคลายเครียด หลังเลิกงาน เคล็ดลับของคนวัยทำงานตามแบบฉบับญี่ปุ่น