แก้ปวดเมื่อย ด้วยซุปกระเพาะหมู สมุนไพรตู้จ้ง-ตั่งเซิน-เก๋ากี้
กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืดหรือที่เรียกว่า “กลุ่มอาการเอ็มพีเอส” (MPS-Myofascial Pain Syndrome) เป็นสาเหตุที่พบบ่อยมาก บางครั้งมีอาการปวดตื้อๆ ลึกๆ ปวดร้าวไปบริเวณข้างเคียง บางครั้งปวดพอรำคาญ บางครั้งปวดรุนแรงมากจนเคลื่อนไหวลำบาก มีจุดกดเจ็บหรือจุดที่ไวต่อการกระตุ้น (Trigger point) อยู่ในกล้ามเนื้อหรือในเนื้อเยื่อพังผืด ปวดมากหลังตื่นนอนตอนเช้าหรือหลังใช้กล้ามเนื้อนั้นเป็นระยะเวลานานอย่างต่อเนื่อง
สาเหตุของโรคนี้เกิดจากการที่กล้ามเนื้อนั้นมีการทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง เกิดการสะสมของของเสียในกล้ามเนื้อ ส่งผล ให้กล้ามเนื้อมีการหดตัวและขาดออกซิเจน จึงส่งผลให้เกิดอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อแบบเกร็งค้าง จึงมีการบีบกดของหลอดเลือด ที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อบริเวณนั้นๆ ทำให้การนำออกซิเจนมาช่วยในการเผาผลาญสารอาหารทำได้ไม่เต็มที่ กล้ามเนื้อไม่ได้รับออกซิเจนไปใช้ในกระบวนการเผาผลาญพลังงาน จึงทำให้เกิดการเผาผลาญแบบไม่ใช้ออกซิเจน มีการคั่งค้างของกรดแล็กติก อาการปวดและกรดแล็กติกจะไปกระตุ้นกล้ามเนื้อให้เกร็งแข็ง โดยอัตโนมัติ และถ้าไม่ได้มีการผ่อนคลายอาการตึงตัวของกล้ามเนื้อก็มักจะทำให้เกิดอาการปวด กล้ามเนื้อเรื้อรัง (Myofascial Pain) อาการเช่นนี้มักจะพบได้ในกล้ามเนื้อทุกมัดที่ต้องออกแรงอย่างหนัก กล้ามเนื้อที่มีอาการ ปวดล้าได้ง่าย ได้แก่ กล้ามเนื้อบริเวณบ่าคอด้านหลังและหลังส่วนล่าง
ผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้หญิง พบในวัยทำงานมากกว่าวัยอื่นๆ พบบ่อยในกลุ่มพนักงานสำนักงาน (Office) กลุ่มผู้ใช้แรงงานโดยอาการจะเป็นมากขึ้น ถ้ามีการใช้งานกล้ามเนื้อหนักอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานและใช้งานในท่าที่ไม่เหมาะสม โดยทั่วไปอาการอาจไม่รุนแรงแค่พอรำคาญ หรือรุนแรงจนส่งผลต่อการเคลื่อนไหว
มุมมองแพทย์แผนจีนกับอาการปวดเมื่อย
อาการปวดเมื่อยคืออาการที่เกิดจากการติดขัดของการไหลเวียนเลือดและพลัง มีหลายสาเหตุ แบ่งเป็นสาเหตุภายใน สาเหตุภายนอก และไม่ใช่สาเหตุทั้งจากภายในและภายนอก
• สาเหตุภายในจากอวัยวะภายใน เช่น ม้ามควบคุมกล้ามเนื้อ ตับควบคุมเอ็น ปอดควบคุมการกระจายของพลังไปที่ผิวหนัง และควบคุมพลังทั่วร่างกาย ความแปรปรวนของอารมณ์ทำให้การไหลเวียนของพลังผิดทิศทาง ติดขัด
• สาเหตุภายนอก จากความชื้น ความเย็น ลม ที่มากระทบร่างกาย ทำให้การไหลเวียนเลือดที่มาหล่อเลี้ยงผิวหนัง กล้ามเนื้อติดขัด
• ไม่ใช่สาเหตุทั้งจากภายในและภายนอก เช่น จากอุบัติเหตุบาดเจ็บกล้ามเนื้อและเอ็นอาหารที่ทำให้เกิดความชื้น ความเย็นภายใน การสูญเสียสารจิงจากการมีเพศสัมพันธ์ (ทำให้พลังอ่อนแอ) อิริยาบถในชีวิตประจำวันที่ทำให้ กล้ามเนื้อเกร็งตัว เป็นต้น
ซุปกระเพาะหมู สมุนไพรตู้จ้ง-ตั่งเซิน-เก๋ากี้ (杜仲党参枸杞猪肚汤)
โดย แพทย์จีน นพ.ภาสกิจ วัณนาวิบูล อุปนายกและเลขาธิการสมาคม แพทย์แผนจีนประเทศไทย
ส่วนผสม (สำหรับ 1 ที่) เตรียม 30 นาที ปรุง 45 นาที
ตู้จ้ง (杜仲) 30-50 กรัม
โสมตั่งเซิน (党参) 15 กรัม
เก๋ากี้ (枸杞) 15 กรัม
กระเพาะหมู (猪肚) 200 – 250 กรัม
เกลือ 1 ช้อนชา
ซีอิ๊วขาว 1 ช้อนชา
น้ำเปล่า 10 ถ้วย
วิธีทำ
ล้างทำความสะอาดกระเพาะหมูแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ นำมาต้มรวมกับสมุนไพรทำเป็นซุป ปรุงรสด้วยเกลือและซีอิ๊ว ขาว เมื่อจะรับประทานตักเฉพาะน้ำซุป เก๋ากี้ กระเพาะหมู และโสมใส่ลงถ้วย รับประทานขณะยังอุ่นๆ
สรรพคุณ
บำรุงไต – ม้าม เสริมเลือดพลังและสารจิง สร้างความแข็งแรงให้เอ็นและกระดูก รักษาอาการอ่อนเพลียเหมาะสำหรับคนที่อ่อนแอ ไม่มีพลัง เลือดน้อย และมีอาการปวดเมื่อย หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่แข็งแรง