มารู้จักกับ ” พระประจำวันเกิด ” แบบรู้ลึก รู้จริงกันดีไหม
แม้ว่า “การกราบไหว้บูชาพระพุทธรูป” เพื่อเป็นการระลึกถึงพระพุทธเจ้าจะไม่ใช่การบูชาที่เทียบได้กับการปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่เรียกกันว่า “ปฏิบัติบูชา” แต่บางครั้งพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ก็เป็นดั่งเครื่องน้อมนำศรัทธาของชาวพุทธที่สนใจในธรรมระดับเบื้องต้น ให้สนใจใคร่รู้ในธรรมขั้นสูงต่อไป
นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คนไทยนิยมบูชาพระประจำวันเกิดกันเป็นจำนวนมาก แต่น้อยคนที่จะศึกษาถึงที่มาที่ไปของพระประจำวันเกิด นั้น ๆ ทำให้ไม่มีโอกาสได้รับทราบข้อธรรมที่ปรากฏอยู่ในพระพุทธลักษณะของพระพุทธรูปปางต่าง ๆ
Secret จึงขอนำความรู้เหล่านี้มาแบ่งปัน
วันอาทิตย์ พระพุทธปฏิมาปางถวายเนตร
ลักษณะพระพุทธรูป : พระในอิริยาบถยืน ลืมพระเนตรทั้งสองเพ่งไปข้างหน้า พระหัตถ์ทั้งสองประสานที่พระเพลา (ตัก)
เหตุครั้งพุทธกาล : หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ได้ประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ ณ ต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลา 7 วัน จากนั้นจึงเสด็จจากร่มไม้นั้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงยืนกลางแจ้ง แล้วทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์โดยไม่กะพริบพระเนตรเป็นเวลา 7 วัน สถานที่ดังกล่าวปัจจุบันมีชื่อว่า “อนิมิสเจดีย์”
นัยทางธรรมที่นำมาใช้ในชีวิต : เพื่อระลึกถึงธรรมะในพระพุทธศาสนา ในข้อกตัญญูกตเวทิตาคุณ อันมีพระบรมศาสดาทรงเป็นแบบอย่างจากที่ทรงระลึกถึงบุญคุณของต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พระองค์อาศัยร่มเงาจนได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ
นอกจากนั้นยังมีคำอธิบายเกี่ยวกับพระพุทธรูปปางถวายเนตรว่า หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงนั่งสมาธิเป็นเวลานาน จึงได้ทรงเปลี่ยนพระอิริยาบถจากท่านั่งมาเป็นท่ายืนเงยพระพักตร์และเพ่งพระเนตรจ้องดูดวงอาทิตย์อย่างสงบนิ่ง พร้อมทั้งทรงหาเหตุและผลตามหลักธรรมชาติเพื่อนำมาเทียบกับธรรมของพระองค์ ซึ่งได้ความว่าดวงอาทิตย์มีทั้งขึ้นและลงหมุนเวียนเปลี่ยนไปในแต่ละวัน เปรียบได้กับชีวิตของมนุษย์เมื่อเกิดมาแล้วก็มีดับไป ระหว่างที่ดำรงชีวิตอยู่ก็โลดแล่นไปตามทางของตน มีทุกข์มีสุขปะปนกันไป เมื่อถูกกิเลสเข้ามาครอบงำก็ทำให้จิตใจเศร้าหมอง พระพุทธเจ้าจึงทรงให้ยึดปฏิบัติตามธรรมของพระองค์เพื่อหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลาย
วันจันทร์ พระพุทธปฏิมาปางห้ามญาติ
ลักษณะพระพุทธรูป : พระในอิริยาบถยืนห้อยพระหัตถ์ซ้าย ยกพระหัตถ์ขวาเสมอพระอุระ (หน้าอก) ฝ่าพระหัตถ์หันออกไปข้างหน้า
เหตุครั้งพุทธกาล : ในสมัยพุทธกาลพระญาติฝ่ายพุทธบิดาคือกรุงกบิลพัสดุ์และพระญาติฝ่ายพุทธมารดาคือกรุงเทวทหะซึ่งอาศัยอยู่คนละฝั่งของแม่น้ำโรหิณี เกิดทะเลาะวิวาทแย่งน้ำเพื่อนำไปเพาะปลูก ถึงขนาดจะยกทัพทำสงคราม พระพุทธองค์จึงเสด็จไปเจรจาห้ามทัพ ห้ามพระญาติไม่ให้ฆ่าฟันกัน โดยทรงแสดงโทษคือความพินาศย่อยยับของชีวิตมนุษย์ ไม่สมควรที่พระราชาจะต้องมาล้มตาย ทำลายเกียรติของตน เพียงเพราะแย่งน้ำกันทำนาเพียงเล็กน้อย ที่สุดพระญาติทั้งสองฝ่ายก็ทำความเข้าใจกันได้ และหันมารักใคร่สามัคคีกัน
นัยทางธรรมที่นำมาใช้ในชีวิต : พระหัตถ์ขวาที่ยกเสมอพระอุระนั้นเป็นบุคลาธิษฐานแสดงว่า ให้มีสติระงับยับยั้ง อย่าตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความเปลี่ยนแปลง ให้ยึดหลักธรรมของพระบรมศาสดาไว้ในจิตใจแล้วชีวิตจะได้พบกับความสุขสงบโดยไม่ต้องสงสัย
คำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระพุทธรูปปางห้ามญาติมีอยู่ว่า ระหว่างที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนธรรมแก่ญาติโยมนั้น ได้มีเหตุเกิดขึ้นระหว่างผู้ที่ปฏิบัติกับผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติสาเหตุมาจากฝ่ายหนึ่งเชื่อในคำสั่งสอนของพระองค์ แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่เชื่อ ต่างฝ่ายต่างใช้เหตุผลของตนถกเถียงกันจนเกิดโทสะเข้าทำร้ายทุบตีกัน พระองค์ทรงเห็นเหตุการณ์โดยตลอด จึงลุกขึ้นยืนยกพระหัตถ์ขึ้นห้ามทั้งสองฝ่าย แล้วชี้แจงหลักธรรมว่า ขอให้ละโมหะโทสะนั้นเสียเพื่อจะได้เห็นผิด ถูก ชั่ว ดี โมหะคือกองกิเลสฝ่ายต่ำ ทำให้มืดมองอะไรก็ไม่เห็นเมื่อมองไม่เห็นก็ทำได้ทุกอย่างแม้แต่การฆ่าแกงกัน ส่วนโทสะนั้นก็มีแต่ทุกข์ตามมา
วันอังคาร พระพุทธปฏิมาปางไสยาสน์
ลักษณะพระพุทธรูป : พระในอิริยาบถนอนตะแคงขวา พระบาททั้งสองข้างซ้อนทับเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายทอดไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียรและมีพระเขนย (หมอน) รองรับ
เหตุครั้งพุทธกาล : เมื่อพระพุทธองค์รับสั่งให้พระจุนทเถระปูอาสนะลงระหว่างต้นรังคู่หนึ่งแล้ว ก็บรรทมแบบสีหไสยา ตั้งพระทัยว่าจะไม่ลุกขึ้นอีก แต่ก็ยังได้โปรดสุภัททปริพาชกจนได้เป็นพระอรหันต์องค์สุดท้ายก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายพากันเศร้าโศกร่ำไห้ถึงพระองค์พระอานนท์และพระอนุรุทธเถระจึงได้แสดงธรรมเพื่อปลอบโยนมหาชนเหล่านั้น
นัยทางธรรมที่นำมาใช้ในชีวิต : พระพุทธลักษณะเช่นนี้เป็นพระอิริยาบถที่พระองค์ทรงแสดงธรรมสั่งสอนพุทธบริษัท 4 มีใจความว่า บุคคลที่ปฏิบัติตนตามพระองค์แล้ว ให้เข้าใจในอิริยาบถของธรรมซึ่งมีอยู่ 4 อย่าง คือ นั่ง นอน ยืน เดิน ซึ่งเป็นอิริยาบถที่สงบสำรวม ไม่มีความสะดุ้งหวาดกลัวในสิ่งที่ตนได้ปฏิบัติ เพื่อจะนำไปสู่ความสำเร็จคือมรรคผลนิพพาน หากผู้ใดเพียรทำ ย่อมได้รับผลอย่างแน่นอน
สำหรับปางนี้ยังมีเรื่องเล่าอีกนัยหนึ่งว่าครั้งที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร “อสุรินทราหู” หรือ “พระราหู”ผู้ครองอสูรพิภพ ได้สดับคำสรรเสริญถึงพระศาสดาจากเทพยดาทั้งหลาย จึงปรารถนาจะไปเข้าเฝ้า แต่ติดตรงที่ได้คิดคำนึงไปเองว่าพระวรกายของพระพุทธเจ้าเล็กกระจ้อย-ร่อยเมื่อเทียบกับร่างอสูรอย่างตน เวลาเข้าเฝ้าก็ต้องก้มมองด้วยความลำบาก อีกทั้งตนก็ไม่เคยก้มเศียรให้ใคร คิดแล้วจึงไม่ไปเฝ้า
แต่แล้ววันหนึ่งพระราหูก็เปลี่ยนใจพระพุทธเจ้าทราบด้วยญาณว่าพระราหูคิดอย่างไร จึงเนรมิตพระวรกายให้ใหญ่โตกว่าพระราหูหลายเท่าแล้วบรรทมรอ ดังนั้นแทนที่พระราหูจะต้องก้มมองพระพุทธเจ้าขณะเข้าเฝ้า กลับต้องแหงนหน้า จึงเกิดความอัศจรรย์ใจ ลดทิฏฐิมานะ พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนว่า “ข่าวลือหรือเรื่องใด ๆ หากไม่เห็นด้วยตนเอง หรือยังไม่พิจารณาให้ถ่องแท้ ก็ไม่ควรติชมไปก่อน” ซึ่งข้อธรรมนี้ก็เป็นอีกข้อที่เหมาะจะนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
คลิกเลข 2 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป
วันพุธ (กลางวัน) พระพุทธปฏิมาปางอุ้มบาตร
ลักษณะพระพุทธรูป : พระในอิริยาบถยืนพระหัตถ์ทั้งสองประคองบาตรราวสะเอว
เหตุครั้งพุทธกาล : เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เหาะขึ้นไปในอากาศต่อหน้าพระประยูรญาติเพื่อให้ละจากทิฏฐิแล้วจึงได้เทศนาธรรมเรื่องพระมหาเวสสันดรชาดก หลังจากแสดงธรรมจบ บรรดาสมาคมพระญาติที่มีพระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดาทรงเป็นประธาน ก็พากันปีติแซ่ซ้องสาธุการแล้วกราบทูลลาคืนสู่พระราชฐาน โดยไม่ได้ทูลอาราธนาเสวยพระกระยาหารเช้า ด้วยไม่ทรงทราบว่าสมณะนั้นจะต้องได้รับอาราธนา จึงจะมารับบิณฑบาตในเคหสถานของประชาชนทั่วไปได้ และยังเข้าใจผิดคิดว่าพระพุทธเจ้าเป็นราชโอรส คงต้องเสวยภัตตาหารที่จัดเตรียมไว้ในพระราชนิเวศน์อย่างแน่นอนแต่พระพุทธองค์กลับพาพระสาวกเสด็จจาริกไปตามถนนหลวงเพื่อโปรดเวไนยสัตว์อันเป็นกิจของสงฆ์ และนับเป็นครั้งแรกที่ชาวเมืองกบิลพัสดุ์ได้มีโอกาสชมพระพุทธจริยาวัตรขณะทรงอุ้มบาตรโปรดสัตว์ ประชาชนจึงพากันแซ่ซ้องด้วยความปีติ แต่ปรากฏว่าพอพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบก็เข้าใจผิดหาว่าพระพุทธเจ้าออกไปขอทานชาวบ้านไม่เสวยภัตตาหารที่เตรียมไว้ พระพุทธเจ้าจึงต้องทรงอธิบายว่าการออกบิณฑบาตเป็นการไปโปรดสัตว์ ไม่ใช่การขอทานพระองค์ปฏิบัติตามพุทธวงศ์ตั้งแต่พระพุทธเจ้าทีปังกรเป็นต้นมา ล้วนแล้วแต่ยังชีพด้วยการบิณฑบาต จากนั้นได้ตรัสพระธรรมสอนพระบิดาไม่ให้อยู่ในความประมาทและให้ประพฤติธรรม ในที่สุดพระเจ้าสุทโธทนะก็สำเร็จโสดาบัน
นัยทางธรรมที่นำมาใช้ในชีวิต : เมื่อรับอาหารที่ผู้มีจิตศรัทธานำมาใส่บาตรแล้วพระพุทธองค์จะเสวยด้วยความมีเมตตาโดยการแบ่งอาหารออกเป็น 3 กอง กองที่หนึ่งพระองค์ทรงนำมาเสวย กองที่สองให้ทาน ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ กองที่สามพระองค์ทรงส่งไปให้แก่ญาติโยมผู้ล่วงลับไปแล้ว เมื่อเสวยเสร็จก็จะสอนพระธรรมมีความว่า “อันศรัทธาคือความเชื่อถ้าเรายึดมั่นก็เป็นทางที่จะนำเราไปสู่ความสำเร็จได้ โดยอาศัยศรัทธาเป็นที่ตั้ง เราจะศรัทธาสิ่งใดก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือศรัทธาจิต หมายถึงทำให้จิตใจผ่องใสแล้วจะมีความสุขกายสุขใจตามมา”
นอกจากนั้นยังมีความเชื่อว่า การบูชาพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรก็เพื่อให้บุคคลที่เกิดวันพุธซึ่งเกิดในดาวแห่งวาจา ได้ระลึกว่าในการทำสิ่งใดต้องใช้ทั้งความอดทน มีขันติและใช้วาจาควบคู่กันไปด้วยจึงจะประสบความสำเร็จ
วันพุธ (กลางคืน) พระพุทธปฏิมาปางปาลิไลยก์
ลักษณะพระพุทธรูป : พระในอิริยาบถนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ซ้ายคว่ำบนพระเพลา (ตัก) แบพระหัตถ์ขวาวางบนพระชานุ (เข่า) ด้านข้างนิยมสร้างช้างหมอบใช้งวงจับกระบอกน้ำ อีกด้านหนึ่งเป็นลิงถือรวงผึ้งถวาย
เหตุครั้งพุทธกาล : ขณะพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่เมืองโกสัมพี ครั้งนั้นพระภิกษุเกิดแตกความสามัคคี ไม่ปรองดองกันพระองค์จึงเสด็จจาริกไปอยู่ตามลำพังพระองค์เดียวในป่าที่ชื่อว่า “ปาลิไลยกะ” โดยมีพญาช้างที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าชื่อ “ปาลิไลยกะ” มาคอยพิทักษ์รักษาไม่ให้สัตว์ร้ายมากล้ำกราย พระพุทธองค์จึงประทับอยู่ในป่านั้นอย่างสงบสุข ครั้นพญาลิงเห็นพญาช้างปรนนิบัติพระพุทธเจ้าด้วยความเคารพก็เกิดกุศลจิตทำตามบ้างต่อมาบรรดาชาวบ้านเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เมืองโกสัมพีแต่ไม่พบ และได้ทราบสาเหตุที่ทำให้พระพุทธเจ้าจาริกไปอยู่ป่าจึงพากันตำหนิติเตียนและไม่ทำบุญกับพระที่แตกแยกเหล่านั้น พระภิกษุจึงสำนึกผิดและขอให้พระอานนท์ไปทูลเชิญพระพุทธเจ้ากลับมา ในวันที่เสด็จกลับ ช้างปาลิไลยกะก็มาส่งเสด็จด้วยความเศร้าเสียใจจนหัวใจวายล้มตายลง ด้วยกุศลผลบุญจึงได้ไปเกิดเป็น“ปาลิไลยกเทพบุตร” ต่อมาป่านั้นได้ชื่อว่า“รักขิตวัน”
นัยทางธรรมที่นำมาใช้ในชีวิต : หมู่ใดหรือคณะใดหากขาดความสามัคคีแล้วทุกคนย่อมหาความสุขได้ยาก ดังนั้นจึงควรน้อมนำคำสอนนี้มาใช้ในการดำเนินชีวิต ทั้งในครอบครัวและสังคม เพื่อนำความผาสุกมาสู่ตนเองและผู้คนรอบข้าง
เหตุผลที่แยกพระพุทธรูปประจำวันเกิดเป็นวันพุธกลางวันกับวันพุธกลางคืน
เหตุเพราะตามหลักโหราศาสตร์ได้แบ่งทักษาเป็นภูมิต่าง ๆ 8 ภูมิ แต่วันในสัปดาห์มีอยู่เพียง 7 วัน ซึ่งไม่สอดคล้องกัน จึงคิดนำเอาวันพุธซึ่งอยู่กลางสัปดาห์พอดีมาแบ่งเป็นกลางวันกับกลางคืน โดยนับตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตกดินเป็นวันพุธกลางวัน และหลังพระอาทิตย์ตกดินไปแล้วจนถึงพระอาทิตย์ขึ้นอีกวันเป็นวันพุธกลางคืน ส่วนผู้ที่จำวันเกิดไม่ได้ ทางโหราศาสตร์กำหนดให้ถือพระเกตุแทน เนื่องจากพระเกตุเป็นเทพนพเคราะห์ที่มีพลังแห่งปาฏิหาริย์ จึงสามารถคุ้มครองคนทุกคนที่ไม่มีเทพองค์อื่นคุ้มครองไม่ว่าจะเกิดวันอะไร
วันพฤหัสบดี พระพุทธปฏิมาปางสมาธิ
ลักษณะพระพุทธรูป : พระในอิริยาบถประทับขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย พระชงฆ์ (แข้ง) ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย
เหตุครั้งพุทธกาล : เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประทับขัดสมาธิบนบัลลังก์หญ้าคาใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชราทรงเกิดปีติสุข มีพระทัยชุ่มชื่นเบิกบานเป็นอย่างยิ่ง สภาวจิตเข้าสู่ความละเอียดสุขุมเป็นลำดับ ฉับพลันก็เกิดพระโพธิญาณและตรัสรู้ในที่สุด
นัยทางธรรมที่นำมาใช้ในชีวิต : พระพุทธรูปปางนี้มีไว้เตือนใจพุทธบริษัท 4 ให้หมั่นเพียรในการทำความดี ละเว้นความชั่ว และทำจิตใจให้ผ่องใส กล่าวได้ว่าการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าคือชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ ไม่มีชัยชนะใดจะเสมอเหมือน ดุจดาวพฤหัสบดีเทพที่ไม่มีดาวดวงใดในห้วงจักรวาลเทียบได้อีกประการหนึ่ง พระพุทธรูปปางสมาธิเป็นบุคลาธิษฐาน เพื่อให้คนเกิดวันพฤหัสบดีได้ประพฤติตนให้อยู่ในทำนองคลองธรรมอย่าให้กิเลสใด ๆ ในโลกมาทำให้มัวหมอง
วันศุกร์ พระพุทธปฏิมาปางรำพึง
ลักษณะพระพุทธรูป : พระในอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประสานกันยกขึ้นประทับที่พระอุระ (อก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย
เหตุครั้งพุทธกาล : ขณะนั้นพระพุทธเจ้าประทับอยู่ใต้ต้นไทร (อชปาลนิโครธ)ทรงพิจารณาถึงธรรมที่ตรัสรู้ว่าเป็นธรรมที่มีความละเอียดลึกซึ้ง ยากที่มนุษย์ปุถุชนจะรู้ตามได้ จึงเกิดความท้อพระทัยรำพึงว่าจะมีสักกี่คนที่เข้าใจธรรมะของพระองค์ ร้อนถึงท้าวสหัมบดีพรหมต้องมากราบทูลอาราธนาเพื่อทรงแสดงธรรมและกล่าวว่า ในโลกนี้บุคคลที่มีกิเลสเบาบางพอฟังธรรมได้ยังมีอยู่ พระพุทธองค์พิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย อีกทั้งทรงรำพึงถึงธรรมเนียมของพระพุทธเจ้าทั้งหลายแต่ปางก่อนว่าตรัสรู้แล้วก็ย่อมแสดงธรรมโปรดสัตว์โลก จึงได้น้อมพระทัยที่จะแสดงธรรมตามคำอาราธนานั้น และตั้งพุทธปณิธานจะดำรงพระชนมชีพอยู่จนกว่าจะได้ประกาศพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสำเร็จประโยชน์แก่ชนทุกหมู่เหล่าต่อไป
นัยทางธรรมที่นำมาใช้ในชีวิต : พระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องใช้ความเพียรพยายามในการสั่งสอนธรรม พุทธบริษัทจึงควรระลึกถึงพระพุทธคุณ น้อมนำธรรมะของพระองค์มาปฏิบัติ เพื่อมุ่งสู่ความหลุดพ้น
วันเสาร์ พระพุทธปฏิมาปางนาคปรก
ลักษณะพระพุทธรูป : พระในอิริยาบถประทับขัดสมาธิ หงายพระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาซ้อนทับพระหัตถ์ซ้ายเหมือนปางสมาธิแต่มีพญานาคขนดร่างเป็นวงกลมประหนึ่งเป็นพุทธบัลลังก์และแผ่พังพานปกคลุมอยู่เหนือพระเศียร
เหตุครั้งพุทธกาล : เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จประทับเสวยวิมุตติสุข ณ ร่มไม้อชปาลนิโครธได้ 7 วันแล้ว พระองค์ก็เสด็จไปประทับเสวยวิมุตติสุขยังร่มไม้ชื่อมุจจลินท์ วันนั้นสายฝนพรำไม่ขาดสาย พญามุจจลินทนาคราช7 เศียรจึงถวายการอารักขาด้วยการทำขนดล้อมพระวรกายเสมือนเป็นเศวตฉัตร (ร่ม)บังลมฝน เหลือบ ยุง ริ้น และสรรพสัตว์มิให้มากล้ำกรายพระพุทธองค์ได้ ครั้นฝนหายแล้วพญามุจจลินทนาคราชจึงคลายขนด จำแลงเพศเป็นมาณพน้อยยืนทำอัญชลีถวายนมัสการพระพุทธองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเปล่งอุทานว่า
“ความสงัดเป็นสุขของบุคคลผู้มีธรรมอันได้สดับแล้ว รู้เห็นสังขารทั้งปวงตามความเป็นจริงอย่างไร ความเป็นคนไม่เบียดเบียน คือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลายและความเป็นคนปราศจากความกำหนัดคือความก้าวล่วงกามทั้งปวงเสียได้ เป็นสุขในโลก ความขาดซึ่งอัสมิมานะ คือความถือตัวตนให้หมดได้นี้ เป็นสุขอย่างยิ่ง”
นัยทางธรรมที่นำมาใช้ในชีวิต : พระพุทธปฏิมาปางนาคปรกซึ่งเป็นนาค 7 เศียรนี้น่าจะเป็นตัวแทนสื่อถึงโพชฌงค์ 7 คือธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ 7 ประการ คือสติ ธัมมวิจยะ (การวินิจฉัยธรรม) วิริยะปีติ ปัสสัทธิ (ความสงบ) สมาธิ อุเบกขานอกจากนั้นยังมีผู้ตีความว่าพญานาคน่าจะหมายถึงกิเลสอันชั่วร้าย อันมีโลภ โกรธหลงที่พระพุทธเจ้าสามารถเอาชนะได้แล้วอีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิง : หนังสือ “พระพุทธรูปบูชา วิธีสังเกตลักษณะพระพุทธรูปของไทย” โดยพินิตย์ นิลวิเชียร หนังสือ “นามานุกรมพระบูชาฉบับสมบูรณ์” โดยอาจารย์แม้น รอดเอี่ยม
ภาพ วรวุฒิ วิชาธร
Secret คือแรงบันดาลใจ
สั่งซื้อนิตยสารหรือสมัครสมาชิก Secret ได้ที่ 0-2423-9889
ทาง Naiin.com : https://www.naiin.com/magazines/title/SC/