8 อาการเสี่ยง มะเร็งรังไข่ พบหมอด่วน
กุญแจดอกสำคัญที่จะทำให้ผู้หญิงรอดชีวิตจากมะเร็งรังไข่ คือ การพบโรคร้ายตั้งแต่ระยะแรกๆ จากการสังเกตอาการผิดปกติของตนเอง ซึ่ง แพทย์หญิงชัญวลี ศรีสุขโข สูติ – นรีแพทย์และหัวหน้าแผนกสูติกรรม โรงพยาบาลพิจิตร จังหวัดพิจิตรได้แนะนำวิธีสังเกตอาการของมะเร็งรังไข่ไว้ในหนังสือชุดโรคภัยใกล้ตัว ต้านมะเร็งรังไข่ สำนักพิมพ์อมรินทร์สุขภาพ ดังต่อไปนี้
1. เบื่ออาหารหรืออิ่มเร็ว เพราะมะเร็งเป็นก้อนขนาดใหญ่อยู่ในรังไข่ จึงไปกดทับกระเพาะอาหาร ลำไส้ หรือมะเร็งรังไข่ผลิตน้ำออกมาในช่องท้อง
2. ปวดท้องน้อย ท้องอืด จุกเสียด หรือปวดทั่วท้องเป็นประจำ
3. ท้องโตขึ้น ท้องน้อยนูนขึ้น ลักษณะคล้ายคนท้องหรือมีพุงแม้ว่าจะกินน้อย เพราะมะเร็งเป็นก้อนขนาดใหญ่อยู่ในรังไข่ หรือมะเร็งรังไข่ผลิตน้ำออกมาในช่องท้อง
4. ปัสสาวะผิดปกติ มีอาการแสบขัดบ่อยครั้ง และรู้สึกปัสสาวะไม่สุด เพราะก้อนมะเร็งรังไข่ไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ
5. ปวดหลังมาก ในบางคนอาจจะเดินหรือนั่งไม่ไหว เพราะมะเร็งรังไข่ไปรบกวนการทำงานของเส้นประสาทบริเวณหลัง
6. ท้องผูกเรื้อรัง ขับถ่ายไม่สะดวก จนทำให้ตัวร้อนคล้ายเป็นไข้เพราะมะเร็งรังไข่กดทับลำไส้ใหญ่หรือกระจายไปยังลำไส้ใหญ่
7. ประจำเดือนมากะปริบกะปรอย หรือมาครั้งละมากๆ เป็นเวลานานเพราะมะเร็งรังไข่จะสร้างฮอร์โมนเพศไปรบกวนการทำงานของรังไข่
8. หากเป็นมะเร็งรังไข่นานมากๆ จะเกิดอาการอ่อนเพลียรุนแรงตัวซีด หายใจเหนื่อยหอบ เจ็บในอก ตาเหลือง ตัวเหลือง และมีอาการผิดปกติอื่นๆ แล้วแต่พื้นฐานสุขภาพของผู้ป่วย
ทั้งนี้ ผู้หญิงควรสังเกตความผิดปกติของร่างกายโดยละเอียด หากพบอาการผิดปกติควรไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัย เพราะการตรวจพบมะเร็งรังไข่แต่เนิ่นๆ และเข้ารับการรักษาในทันที จะช่วยให้ผู้ป่วยกว่าร้อยละ 90 มีชีวิตอยู่ได้นานกว่า 5 ปี หลังเข้ารับการรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์
คุณหมอชัญวลีฝากทิ้งท้ายว่า “คนไข้ร้อยละ80 มาพบแพทย์เมื่อเป็นมะเร็งระยะหลังๆ หรือลุกลามไปที่อวัยวะอื่นๆ แล้ว ส่วนใหญ่บอกว่าเพราะแค่มีอาการผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ จึงไม่สนใจดูแล ไม่รู้ว่าเป็นอาการของมะเร็งรังไข่
“ยุงกัดเจ็บนิดเดียวยังตบกันทัน มะเร็งไม่มีปีกบินหนีแท้ๆ ฝังอยู่ในร่างกายผู้ป่วยมาตั้งนาน ถ้าสนใจสักนิด อาจจะตรวจเจอและรักษาทัน”
ดังนั้น ฟังเสียงร่างกายสักนิด จะช่วยป้องกันมะเร็งรังไข่ไม่ให้ลุกลามได้ค่ะ
3 Types มะเร็งรังไข่
1. มะเร็งเยื่อบุผิวรังไข่ (Ovarian EpithelialCarcinoma) เป็นชนิดที่พบมากที่สุด ประมาณร้อยละ 90 ของมะเร็งรังไข่ทั้งหมด โดยจะเกิดที่เยื่อบุผิวรังไข่ ส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยอายุ 56 - 60 ปี และเริ่มรักษาช้า เพราะอาจไม่ได้สังเกตอาการ จึงทำให้โอกาสมีชีวิตอยู่ถึง 5 ปีมีเพียงร้อยละ 20
2. มะเร็งฟองไข่ (Germ Cell Tumor) เกิดจากฟองไข่ พบร้อยละ 6 ของมะเร็งรังไข่ทั้งหมด ส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยอายุ 16 - 20 ปี เป็นมะเร็งที่โตเร็ว ผู้ป่วยจึงสังเกตอาการได้ง่าย และไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที ซึ่งสามารถรักษาได้โดยการผ่าตัด รังสีรักษา และเคมีบำบัดจึงทำให้โอกาสมีชีวิตอยู่ถึง 5 ปีมีร้อยละ 60 - 85
3. มะเร็งเนื้อเยื่อรังไข่ (Sex Cord-StromalTumor) พบร้อยละ 8 ของมะเร็งรังไข่ทั้งหมดส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยอายุ 40 - 70 ปี โดยสามารถตรวจเจอได้แม้ในระยะเริ่มต้น และมะเร็งจะไม่ค่อยกระจายไปไหน จึงรักษาได้โดยการผ่าตัด โอกาสมีชีวิตอยู่ถึง 5 ปีมีร้อยละ 70 - 90