10 คติธรรมคำสอนของ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ที่ชาวพุทธควรน้อมนำมาปฏิบัติ
1. อย่ารอให้ทุกข์มาถึงตัว
“บรรดาสัตว์ทั้งหลายนั้น เมื่อไม่มีทุกข์มาถึงตัวมักไม่เห็นคุณพระศาสนา มัวเมาประมาท ปล่อยกายปล่อยใจให้ประพฤติทุจริตผิดศีลธรรมอยู่เป็นประจำนิสัย เห็นผิดเป็นถูก เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ต่อเมื่อได้รับทุกข์เข้า ที่พึ่งอื่นไม่มีนั่นแหละจึงได้คิดถึงพระ คิดถึงศาสนา แต่ก็เป็นเวลาที่สายไปแล้ว
“ความดีนั้นเราต้องทำอยู่เสมอให้เป็นที่อยู่ของจิต เป็นอารมณ์ของจิต ให้เป็นมรรค คือทางดำเนินไปของจิต มันจึงจะเห็นผลของความดี ไม่ใช่เวลาใกล้จะตายจึงนิมนต์พระไปให้ศีล ให้ไปบอกพุทโธ หรือตายไปแล้วให้ไปรับศีล เช่นนี้เป็นการกระทำที่ผิดทั้งหมด เหตุว่าคนเจ็บจิตมัวติดอยู่กับเวทนา ไฉนจะมาสนใจไยดีกับศีลได้ เว้นไว้แต่ผู้ที่รักษาศีลมาเป็นปกติเท่านั้นจึงจะระลึกได้ เพราะตนเองเคยทำมาจนเป็นอารมณ์ของจิตแล้ว แต่ส่วนมากใกล้ตายแล้วจึงเตือนให้รักษาศีล ส่วนคนตายแล้วไม่ต้องพูดถึง เพราะคนตายนั้นร่างกายจิตใจจะไม่รับรู้ใด ๆ แล้ว แต่ก็ดีไปอย่าง เหมือนพระเทวทัต ทำกรรมจนถูกแผ่นดินสูบ เมื่อลงไปถึงคางจึงระลึกถึงความดีของพระพุทธเจ้า ขอถวายคางเป็นพุทธบูชา พระเทวทัตยังมีสติระลึกถึงได้ จึงมีผลดีในภายภาคหน้า
“แม้เปรตตนนั้นก็เหมือนกัน (หลวงปู่หมายถึงเปรตในถ้ำเชียงดาว) ตายไปแล้วจึงมาขอส่วนบุญ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ทำอันตรายแม้พระพุทธรูป แผ่เมตตาให้ไปได้รับหรือไม่ก็ไม่รู้ สู้เราทำเองไม่ได้ เราทำของเรา ได้มากน้อยเท่าไรก็มีความปีติอิ่มเอิบใจเท่านั้น”
2. ทางบุญ – ทางบาปอยู่ที่ไหน
“ธรรมทั้งหลายไหลมาจากเหตุ กายก็เป็นเหตุอันหนึ่ง วาจาก็เป็นเหตุอันหนึ่ง ใจก็เป็นเหตุอันหนึ่ง ทางของบุญหรือบาปเหล่านี้มีอยู่ในตัวของเราเอง ไม่ได้อยู่ที่ไหน เราทำเอง สร้างเอง อย่ามัวมั่วอดีตเป็นอนาคต มีแต่ปัจจุบันเท่านั้นที่เป็น ‘ธรรมดา’ “
3. ปัจจุบันเท่านั้นที่ “จริง”
“สิ่งใดที่มันล่วงมาแล้ว เลยมาแล้ว เราไม่สามารถไปตัดไปปลงมันได้อีกแล้ว สิ่งที่เราทำไปนั้น ถ้ามันดี มันก็ดีไปแล้ว ผ่านไปแล้ว พ้นไปแล้ว ถ้ามันชั่ว มันก็ชั่วไปแล้ว ผ่านไปแล้วเช่นกัน
“อนาคตยังมาไม่ถึง สิ่งที่ยังไม่มาถึงเราก็ยังไม่รู้เห็นว่ามันจะเป็นอย่างไร อย่างมากก็เป็นแต่เพียงการคาดคะเนเอาเองว่าควรเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งมันอาจจะเป็นหรือไม่เป็นไปอย่างที่เราคาดคะเนก็ได้
“ปัจจุบันคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เราได้เห็นจริง ได้สัมผัสจริง เพราะฉะนั้นความดีต้องทำในปัจจุบัน ทานก็ดี ศีลก็ดี ภาวนาก็ดี ต้องทำเสียในปัจจุบันที่เรายังมีชีวิตอยู่ เราต้องการความดีก็ต้องทำให้เป็นความดีในปัจจุบันนี้ ต้องการความสุข ต้องการความเจริญก็ต้องทำให้เป็นไปในปัจจุบันนี้…”
4. ปัจจุบันก็พอแล้ว
“อดีตเป็นธรรมเมา อนาคตก็เป็นธรรมเมา
“จิตดิ่งอยู่ในปัจจุบัน รู้อยู่ในปัจจุบัน ละอยู่ในปัจจุบันนี้จึงเป็นพุทโธ เป็นธัมโม
“ปัจจุบันก็พอแล้ว อดีตและอนาคตไม่ต้องคำนึงถึง เกิด แก่ เจ็บ ตาย วันคืนเดือนปีสิ้นไปหมดไป อายุเราก็หมดไปสิ้นไป หมั่นบำเพ็ญจิต บำเพ็ญทาน รักษาศีลภาวนาต่อไป”
5. ถือที่ใจ วางที่ใจ
“เรื่องราวเต็มโลก เต็มบ้านเมือง เราก็วางเสีย ละเสีย ละอยู่ที่กายที่ใจตนนี่แหละ อย่าไปละที่อื่น การหอบอดีตและอนาคตมาหมักสมไว้ในใจก็เป็นทุกข์ ตัดออกให้หมด…”
6. รู้ทันมันก็ดับ
“มันเกิดขึ้นมาแล้ว
เกิดดี เกิดชั่ว เกิดผิด เกิดถูก
มันก็ดับไป ถ้ารู้เท่าทันมัน”
7. ของดีมีอยู่แล้ว
“ของดีอะไร อะไรคือของดี ของดีก็มีอยู่ด้วยกันทุกคนแล้ว การที่ร่างกายแข็งแรงไม่เจ็บไข้ได้พยาธินั้นก็มีของดีแล้ว การมีร่างกายแข็งแรง มีอวัยวะครบถ้วน ไม่บกพร่องวิกลวิการ อันนี้ก็เป็นของดีแล้ว ของดีมีอยู่ในตน ไม่รู้จะไปเอาของดีที่ไหนอีก สมบัติของดีจากเจ้าพ่อเจ้าแม่ให้มาก็เป็นของดีอยู่แล้ว มีอยู่แล้วทุกคน จะไปเอาของดีที่ไหนอีก ของดีก็ต้องทำให้มันเกิดมันมีขึ้นในจิตใจของตน ความดีอันใดที่ยังไม่มีก็ต้องเพียรพยายามทำให้เกิดให้มีขึ้น นี่แหละของดี ของดีอยู่แล้วในตัวของเราทุก ๆ คน มองให้มันเห็น หาให้มันเห็น ภายในตนของตนนี่แหละจึงใช้ได้ ถ้าไปมองหาแสวงหาของดีภายนอกแล้วใช้ไม่ได้”
8. ภาวนา – ภาวนอน
“การภาวนา ถ้านอนภาวนามันเป็นภาวนอนไปเสีย การฉันอาหาร ถ้าฉันมากเกินไป เวลาภาวนาก็นั่งหลับไปเสีย มันหลายเรื่องหลายราว ถ้าอะไรมันมากไป จิตมันไม่สงบ ห้ามมันไม่ฟัง อาหารมันทับ
“พวกเรานอนกันอยู่ในท้องของมารดาตั้ง 9 เดือน 10 เดือน จึงจะออกมาพ้น ร้องไห้อุแว้ ๆ ได้ ถ้าดีใจก็หัวเราะ เสียใจก็ร้องไห้
“กามนี้เราเคยติดมาแล้วนับอเนกอนันต์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เร่งความเพียรจนรู้แจ้งเห็นจริง”
9. อุบายฝึกจิต
“จิตของเรา ถ้ามันเกียจคร้านขึ้นมา มันจะให้เรานอนท่าเดียว ถ้ามันเกิดอย่างนี้ขึ้นมา เราต้องหาอุบายมาข่มขู่ตักเตือน อุบายใดที่ยกขึ้นมาชี้แจงแล้วจิตยอมเชื่อฟังนั่นแหละคืออุบายที่ควรแก่จิตในลักษณะนั้น และในขณะนั้น ๆ
“ถ้าเราไม่ข่มขู่ชี้โทษโดยอุบายที่ชอบ ใครเขาจะมาตักเตือนเรา บางครั้งจิตถ้ามันเกียจคร้านขึ้นมา มันจะวางเฉยในอารมณ์ทั้งหมด ในลักษณะเช่นนี้แหละ เราต้องหาอุบายมาทำให้จิตตื่นให้ได้ เช่น ไหว้พระ สวดมนต์ หรือยกธรรมบทใดบทหนึ่งขึ้นมาพิจารณา”
10. บารมีต้องสร้างเอง
“บารมีต้องสร้างเอา เหมือนอยากให้มะม่วงของตนมีผลดก ก็ต้องหมั่นบำรุงรักษาเอา ไม่ใช่แก่แห่ไปชื่นชมต้นมะม่วงของคนอื่น ต้องไปปลูก ไปบำรุงต้นมะม่วงของตนเอง การสร้างบารมีก็เช่นกัน ต้องสร้าง ต้องทำเอาเอง”
ที่มา ชุดสุดยอดสงฆ์ 1 : หลวงปู่แหวน สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ
ภาพ google
บทความน่าสนใจ
อสุรกายร้ายยังต้องยอมจำนนต่อ บารมีธรรมของหลวงปู่แหวน สุจิณโณ