ความทุกข์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นั้น คือสภาวทุกข์ที่เป็นทุกข์ประจำขันธ์ ถึงคนนั้นจะมีความเป็นอยู่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติและเพียบพร้อมด้วยกามคุณอยู่ก็ตาม สภาวทุกข์ย่อมแสดงตัวขึ้นที่ขันธ์อยู่เสมอ เช่น รูปขันธ์ที่จิตยังครองร่างอยู่ ย่อมปรากฏ ความทุกข์ ขึ้นที่กายที่ใจ เพราะกายใจเป็นสถานที่รองรับทุกข์ และเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์อีกด้วย
ถึงไม่มีใครปรารถนา แต่จำเป็นต้องได้รับ เพราะเป็นธรรมชาติที่มีอยู่กับตัว ถึงจะพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้ ความทุกข์ ดับไป แต่ก็ไม่สำเร็จ เช่น แสวงหากามคุณ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มากลบเอาไว้ แต่ก็ไม่มีใครในโลกนี้ปิดบังทุกข์ไว้ได้ เพราะทุกข์เป็นสัจธรรมประจำธาตุขันธ์ และเปิดเผยกับตัวเองอยู่ทุกวันคืน จะยืน เดิน นั่ง นอน ในอิริยาบถต่าง ๆ นั้นเป็นเพียงหลบหลีกทุกข์ชั่วคราวเท่านั้น และไม่มีอิริยาบถใดมีความสุขที่แน่นอน เช่น ยืนนานก็เป็นทุกข์ เดินนานก็เป็นทุกข์ นั่งนานก็เป็นทุกข์ นอนนานก็เป็นทุกข์
เราจะหาเอาความสุขจากธาตุขันธ์มาจากที่ไหน ในที่สุดก็คว้าเอารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มากลบทุกข์ไว้ชั่วคราวเท่านั้น แทนที่จะเป็นผลดี กลับยิ่งเพิ่มความทุกข์ให้เกิดความรุนแรงขึ้น เหมือนการดับไฟ จะหาขี้เลื่อยหาแกลบมากลบไฟเอาไว้ แทนที่ไฟจะดับไป กลับเป็นเชื้อของไฟได้เป็นอย่างดี เมื่อไฟคุกรุ่นขึ้นมา ก็เอาแกลบกลบไว้อีก
นี้คือไม่ฉลาดในการดับไฟนี้ฉันใด เรื่องไปเอารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มาดับจิตที่เป็นทุกข์ จึงเป็นเพียงกลบทุกข์เอาไว้ เป็นอุบายเปลี่ยนอารมณ์ของจิตที่มีทุกข์ได้ชั่วคราว ในที่สุดอายตนะภายนอกก็จะกลายเป็นเชื้อแห่งความทุกข์อย่างดี เพราะการสัมผัสในอายตนะจึงทำให้เกิดความดีใจเสียใจ เป็นไฟเสริมราคะ เป็นไฟเสริมโทสะ เป็นไฟเสริมโมหะ ให้เกิดความรุนแรง
ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า การไม่สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้ออกไปเกาะเกี่ยวอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ จึงเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ขึ้นที่ใจ ฉะนั้น ความเกิดจึงมีทุกข์และเป็นช่องทางให้ทุกข์อื่นที่จรมาได้รวมตัวเป็นทุกข์ขึ้นที่ใจ ขอให้พิจารณาด้วยปัญญาเพื่อความรู้ยิ่งเห็นจริง
ส่วนความแก่ ความเจ็บ ความตายที่เป็นทุกข์ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงจะกลัวสักปานใดก็หนีไม่พ้น เพราะความเกิดได้ก่อขึ้นไว้แล้ว ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มันเป็นผลต่อเนื่องมาจากความเกิด ถ้าปิดความเกิดได้อย่างเดียว ความทุกข์ในสามภพก็หมดสภาพไป
ฉะนั้น นักภาวนาปฏิบัติผู้ที่ไม่ต้องการความเกิด ผู้ไม่ต้องการความทุกข์ ก็ต้องพิจารณาความเกิด พิจารณาความทุกข์ให้รู้เห็นในชาติปัจจุบัน เพื่อบั่นทอนถอนอุปาทานความยึดหมายในชาติอนาคตให้หมดไป จึงจะตัดกระแสความห่วงใยอันเป็นปัจจัยให้เกิดภพเกิดชาติด้วยสติปัญญาที่คมกล้าเฉียบแหลม ที่เรียกว่า อนาลโย คือไม่มีความห่วงอาลัยผูกพันกับของสิ่งใดในโลก ทำลายสถานที่เกิด และดับมูลเชื้อที่จะพาให้เกิด จึงเป็น สมูลํ ตณฺหํ อพฺพุยฺห จึงเป็นผู้ถอนตัณหากับทั้งมูลรากได้แล้วอย่างสิ้นเชิง นี้เป็นจุดสุดท้ายที่นักปฏิบัติจะต้องได้ต้องถึง
ส่วนแนวทางปฏิบัติที่จะได้บรรลุถึงจุดนี้ เราต้องดูต้นทางไว้ให้ดี ตั้งหลักสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบด้วยปัญญาไว้ให้ตรง จับหลักสัจธรรมคือความจริงไว้ให้มั่นคง ถึงกระแสโลกจะพัดพาเราหมุนตัวไปทางที่ต่ำ แต่เราก็ตั้งใจทวนกระแสโลกเอาไว้ อย่าปล่อยใจให้ไหลไปตามกิเลสตัณหา พยายามใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้เห็นทุกข์และเหตุที่ให้เกิดความทุกข์เสมอ เพราะความทุกข์ พระพุทธเจ้าได้ถือว่าเป็นหลักใหญ่และเป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติธรรม ดังเราทั้งหลายได้รู้แล้วว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจ 4 มีทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เพียงเท่านี้นักปฏิบัติก็พอจะรู้ความหมาย ให้เอาแต่ละข้อมาวินิจฉัยใคร่ครวญก็จะรู้จักอุบายแนวทางอย่างชัดเจน
ที่มา ทวนกระแสโลก พบกระแสธรรม โดย หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ
บทความน่าสนใจ
ความทุกข์ของคนเก่ง บำบัดได้ด้วยธรรมะ