บุคคลจะล่วงทุกข์ได้ก็เพราะทุกข์นี่เอง ทุกข์จนสุดทนก็ไม่ทน ทุกข์ ไม่ทนที่จะทุกข์เอง เป็น “ธัมมนิยามตา” (เป็นกฎตายตัวของธรรมดา) ทุกข์จนไม่อาจทุกข์ ไม่อาจที่จะให้ทุกข์อยู่ต่อไปได้อีกแล้ว ก็จะ “อตัมมยตา” (ความที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งนั้นอีกต่อไป) พ้นทุกข์ เพราะทนที่จะทุกข์ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว ทนที่จะทุกข์กับทุกข์ไม่ได้อีกแล้ว ทนที่จะอยู่กับทุกข์ ทนที่จะกำทุกข์เอาไว้ไม่ได้อีกแล้ว ไม่สามารถที่จะให้ทุกข์อยู่ได้อีกต่อไปแล้ว กักขังหน่วงเหนี่ยวหรือยึดเอาไว้ไม่ได้อีกต่อไปแล้วจึงปล่อยไป
ปล่อยให้ทุกข์ไหลออกไป ไหลออกไปจนหมดนั่นแหละ ทุกข์จึงหมดไปหรือหมดไปจากทุกข์ ก็เพราะทุกข์ไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่อาศัย ทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ เพราะทุกข์ได้ทำให้ทุกข์จนถึงที่สุดแล้ว จึงถึงที่สุดแห่งทุกข์ก็เพราะว่าได้ทุกข์จนถึงที่สุดแล้วนั่นเอง เมื่อทุกข์สุด ๆ ก็สุดที่จะทุกข์ ที่สุดแห่งทุกข์มาจากทุกข์ที่สุด พ้นทุกข์ได้เพราะทุกข์มาทำให้พ้นทุกข์ (ดังนั้นขอบคุณมาก เจ้าความทุกข์เอ๋ย) ทุกข์ดับสนิทได้เพราะไม่ได้เข้าไปดับทุกข์ ทุกข์อยู่ไม่ได้เพราะอยู่กับทุกข์ได้
อยู่กับทุกข์ได้จนทุกข์อยู่ไม่ได้ ทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ ทุกข์จึงต้องพรากจากจรไป เพราะไม่มีเยื่อใยสายใยต่อทุกข์เลย ทุกข์เกาะเกี่ยวผูกพันไม่ได้เพราะไม่มีความอาลัยไยดีเป็นมิตรไมตรีกับทุกข์เลย พ้นจากสังสารวัฏทุกข์ได้ เพราะไม่มีความสงสารเห็นอกเห็นใจต่อทุกข์เลย ส่วนผู้ที่ยังมีความสงสารอยู่ ก็จำต้องเวียนว่ายในวัฏสงสารอีกต่อไป เพราะความสงสารแท้ ๆ จึงทำให้ยังข้องอยู่ในวัฏสงสาร ผู้ที่ยังไม่พ้นทุกข์ ก็เพราะยังทนทู่ซี้กำทุกข์อยู่นั่นเอง ผู้ที่ยังไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ก็เพราะทุกข์ยังไม่ถึงที่สุดนั่นเอง
“ทำไฉนการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงมีแก่เราได้” นี้เป็นบททำวัตรสวดมนต์บทหนึ่งที่ชาววัดทั้งหลายใช้สวดกันเป็นประจำ หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะได้คำตอบแล้วจากบทความนี้ ดังนั้นขอให้ได้พบกับความทุกข์เถิด ขอให้ทุกข์จงมาทำให้ท่านทุกข์จนถึงที่สุดเถิด ขอให้ท่านทั้งหลายจงทุกข์สุด ๆ เถิด ขอให้ท่านทั้งหลายจงทนต่อทุกข์ไม่ได้เถิด (ทนยึดเอาไว้ไม่ได้)
ที่มา เพียงแค่รู้ โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ