ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร

ความจริงของ “ความเจ็บ” โดย ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร

ความจริงของ “ความเจ็บ” โดยขุนเขาสินธุเสนเขจรบุตร

                “เกิด แก่ เจ็บ ตาย” เป็นหนึ่งในชุดคำศัพท์ที่เราได้ยินบ่อยครั้งที่สุด แต่น่าแปลกว่าเรามักให้ความสำคัญกับการ “ฉลองวันเกิด” “ชะลอความแก่” และ “ระลึกถึงความตาย” กันมาก ในขณะที่หลายครั้งกลับมองข้ามความ “เจ็บ” ไป

ความเจ็บกับความทุกข์นั้นแท้จริงไม่ได้แตกต่างกันมากนัก เพราะสังเกตได้ว่า เวลาที่เรากำลัง “เจ็บกาย” เรามักรู้สึก “ทุกข์ใจ” ด้วยเช่นเดียวกัน แต่หากต้องตีความแยกกันจริง ๆ คงต้องบอกว่า “ความเจ็บ” เป็นความรู้สึกที่รับรู้ได้ทางกาย ส่วน “ความทุกข์” เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายใน “ใจ” และหลายครั้งไม่มีบาดแผลให้มองเห็นด้วยตาเปล่า อย่างไรก็ตาม แท้จริงแล้วความสัมพันธ์ระหว่างความเจ็บและความทุกข์มีความลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น โดยจะเห็นได้จากงานวิจัยต่อไปนี้

ในปี 2008 นักจิตวิทยานามว่า ดร.เคิร์ท เกรย์ (Kurt Gray) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แบ่งผู้เข้าร่วมวิจัยออกเป็นสองกลุ่ม ทั้งสองกลุ่มนี้ยินยอมพร้อมใจจะถูกกระแสไฟฟ้า (ขนาดเบา) ช็อร์ตในขณะที่กำลังร่วมการทดลอง โดยกลุ่มแรกนั้นถูกเครื่องช็อร์ต “โดยไม่ได้เจตนา” แต่กลุ่มที่สองถูกคนช็อร์ต “โดยเจตนา”

ผลปรากฏว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองกลุ่มที่สอง (ซึ่งถูกคนช็อร์ตโดยเจตนา) ระบุระดับความเจ็บปวดว่า “รุนแรง”มากกว่ากลุ่มแรกทุกกรณี ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วระดับไฟฟ้าที่ใช้ช็อร์ตนั้นเท่ากันไม่มีผิด! นอกจากนั้นผู้เข้าร่วมการทดลอง กลุ่มแรกยังสามารถ “ปรับตัว” ให้พร้อมรับกับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นได้มากกว่าเดิมทุกครั้ง และรู้สึกเจ็บปวดน้อยลงเรื่อย ๆ หลังจากที่เริ่มเคยชินกับระดับความรุนแรงของกระแสไฟฟ้าแต่ผู้เข้าร่วมทดลองกลุ่มที่สองกลับไม่มีการปรับตัวเลย คือ ทุกครั้งที่ถูกช็อร์ต “โดยเจตนา” พวกเขาก็ยังรู้สึกเจ็บปวดเท่าเดิมเสมอ ไม่เคยเปลี่ยน

จะเห็นได้ว่า “ความเจ็บปวด” ที่เกิดขึ้นกับร่างกายไม่ได้ส่งผลให้เกิด “ความทุกข์” ที่เท่าเดิมในจิตใจเสมอไป ไม่เชื่อก็ลองเปรียบเทียบดูว่า เวลามีคนมาเหยียบเท้าเรา แล้วเขารีบกล่าวคำ “ขอโทษ” พร้อมทั้งยกมือไหว้คู้ตัวทันที กับเวลามีคนมาเหยียบเท้าเรา แล้วเขากลับหันมามองหน้านิ่ง ๆ ก่อนเดินจากไปอย่างไม่แยแส อย่างไหนทำให้เรารู้สึก “เจ็บ” มากกว่ากัน!

อย่างไรก็ตาม ดร.เกรย์กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า ความ “เจ็บ” ที่คงอยู่นานกว่าในเวลาที่เรารู้สึกว่ากำลังถูกทำร้ายโดยเจตนานั้น แท้จริงเป็นกลไกทางธรรมชาติที่ช่วยให้เราอยู่รอดบนโลกนี้ได้ดีขึ้น กล่าวคือ การที่เราสามารถลืมความเจ็บแบบ “ไม่ได้เจตนา” ได้เร็วกว่าและรู้สึกเจ็บน้อยกว่า เพราะความเจ็บประเภทนี้มักเกิดจากอุบัติเหตุและจะเกิดเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้นแต่ความเจ็บที่เกิดจาก “เจตนา” นั้น สมองจะบันทึกไว้อย่างเด่นชัดและเนิ่นนานกว่า เพราะมันส่งผลโดยตรงต่อการอยู่รอดของเรา หากใครตั้งใจคุกคาม ทำอันตราย หรือปองร้ายเรา ก็มีโอกาสที่เขาจะทำเช่นนั้นอีกในอนาคต ฉะนั้นสมองจึงไม่อยากให้เราเมินเฉยหรือลืมเลือนความเจ็บปวดที่สำคัญต่อชีวิตแบบนี้

อย่างไรก็ตาม การหลอกตัวเองและมองว่าความเจ็บที่เกิดขึ้นโดย “เจตนา” เป็นความเจ็บที่เกิดขึ้นโดย “ไม่เจตนา” บ่อย ๆ ก็อาจส่งผลร้ายต่อชีวิตได้โดยที่เราไม่รู้ตัว เช่น ในกรณีที่ผู้หญิงหลายคนถูกผู้ชายทำร้ายทั้งทางร่างกาย วาจา และจิตใจ แต่ยังดันทุรังทนอยู่ในความสัมพันธ์ดังกล่าว เพราะหลอกตัวเองว่า “เขาไม่ได้ตั้งใจทำร้าย” “เขาแค่เครียดจากที่ทำงาน” “เป็นเพราะเขาเมา ถ้าไม่เมา เขาก็ไม่ทำ” หรือ “เพราะความโมโหชั่ววูบ จริง ๆ เขาก็รักเรา” ฯลฯ แต่แท้จริงแล้วคือ เราเองไม่กล้าออกไปมองหาความสัมพันธ์ที่ดีกว่าหรือไม่กล้าอยู่ตัวคนเดียวต่างหาก การหลอกสมองแบบนี้ แม้จะช่วยลดความเจ็บจากการถูกทำร้ายได้ แต่กลับทำให้เราตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและยอมให้อีกฝ่ายทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่จำเป็น

                คนที่มี “ปัญญา” คือคนที่สามารถรู้เท่าทันการทำงานของสมองตัวเองได้ดี ส่วนคนที่มี “สติ” คือคนที่สามารถรู้เท่าทันสมองได้บ่อย ฉะนั้นหากใครหมั่นฝึกจิตตัวเองตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ รับรองได้เลยว่าจะมีทั้ง “สติ” และ “ปัญญา” และจะไม่ต้องทนเจ็บปวดโดยไม่จำเป็นอีกต่อไปไม่ว่าจะจากคนที่ “เจตนา” หรือ “ไม่เจตนา” ทำร้ายเราก็ตาม

 

Secret BOX

ความเจ็บปวดที่ไม่อาจ “ลบเลือน” จากใจ สิ่งเดียวที่เราทำได้คือ “เรียนรู้” จากมัน

ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร

 

ที่มา : นิตยสาร Secret magazine

ผู้เขียน ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร

www.facebook.com/KhunkhaoWriter

ภาพ : MichaelGaida on pixabay

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

ใครอยากได้กำลังใจในการทำงาน ฟังทางนี้ (มีคลิป) โดยขุนเขา สินธุเสน และ ฌอน บูรณะหิรัญ

30 ข้อคิดด้านความมั่งคั่ง ความสำเร็จ และความสุข จากขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.