แก้สาเหตุความขัดแย้ง ช่วย สลายความเครียด
ความเครียดมักแวะเข้ามาทักทายเราราวกับเป็นเพื่อนสนิท มันแวะมาหาเราได้ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นเช้า สาย บ่าย เย็น เวลาที่อยู่กับครอบครัว คนรัก หรือเพื่อนร่วมงาน ใครที่ไม่เคยถูกความเครียดเข้ามากล้ำกรายเลยคงจะหาได้ยากเต็มที หากอยากกำจัดหรือ สลายความเครียด สมัยนี้เราก็ทำได้ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วคลิกก็จะเจอกับคำตอบและฮาวทูต่างๆ ที่มีบอกเอาไว้ตั้งหลายแบบหลายวิธี
แต่จะเลือกแบบไหนที่เข้ากับเราดี ก่อนอื่นเราต้องลองไปหาต้นตอของความเครียดกันดูก่อนว่ามีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง จะได้หาวิธีรับมือกับเพื่อนสนิทนี้ได้ในคราวต่อไป นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ บอกไว้ในบำบัดเครียด ว่า ความเครียดที่เกิดจากความขัดแย้งมี 3 ระดับ คือ
1.เราขัดแย้งกับคนอื่น ความเครียดชนิดนี้เกิดจากความขัดแย้งที่มองเห็นได้ง่าย รู้สึกได้ง่าย เช่น ขัดแย้งกับคนในครอบครัว พ่อแม่มักเครียดเรื่องลูกที่โตแล้วไม่ได้ดั่งใจ สามีขัดแย้งกับภรรยาสารพัด
ความขัดแย้งภายในองค์กร เช่น ขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน กับลูกน้อง กับเจ้านาย กับลูกค้า สารพัดจะมีเรื่องขัดอกขัดใจ ความขัดแย้งกับเพื่อนบ้านมักเป็นเรื่องที่เห็นง่ายเป็นรูปธรรม เช่น เพื่อนบ้านทิ้งขยะเรี่ยราดมาหน้าบ้านเรา ปลูกต้นไม้
รุกล้ำเข้ามา เลี้ยงหมามารบกวนบ้านเรา บางครั้งก็เพียงเพราะไม่ชอบหน้ากันเฉยๆ
วิธีแก้เครียดประเภทรู้ว่าเครียดอะไรนั้นง่าย คือแก้สาเหตุ แต่คนส่วนใหญ่มักเลือกไม่ทำหรือซื้อเวลาไปเรื่อยๆ แล้วก็เครียดไปเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป ความขัดแย้งที่เคยเห็นชัดมักขยายตัวและลามไปถึงเรื่องอื่นๆ
หลายครั้งการแก้ไขสาเหตุก็ทำไม่ได้ เช่น พูดกับเพื่อนบ้านเรื่องขยะหลายครั้งแล้วก็ไม่สำเร็จ อย่างนี้อาจจะต้องใช้วิธีอื่นๆ เช่น เก็บขยะเสียเองด้วยความสุข นั่งดูต้นไม้บ้านข้างๆ งอกงามเข้าบ้านเราแล้วชื่นชม ฯลฯ
2.เราขัดแย้งกับตัวเอง ที่พบบ่อยคืออยากได้ แต่ไม่สามารถเอามาได้ เช่น อยากไปเรียนเมืองนอกแล้วก็เอาแต่อยาก ไม่ฝึกฝนภาษาอังกฤษ ก็เลยสอบไม่ได้สักที ถ้าเป็นแบบนี้ให้เลิกอยากเสียก็จะหายเครียด แต่ถ้าอยากได้แล้วพัฒนาตนเองให้มีความสามารถไปเรียนภาษาอังกฤษให้สอบได้ อย่างนี้ก็จะภูมิใจและชีวิตก้าวไปอีกหนึ่งก้าว อาจบอกได้ว่าความเครียดมีประโยชน์ เพราะช่วยกระตุ้นให้เราพัฒนาตนเอง
3.ความขัดแย้งระดับจิตใต้สำนึก เป็นความขัดแย้งที่มักไม่มีใครรู้และตัวเองก็ไม่รู้ ส่วนใหญ่เป็นความขัดแย้งที่มีรากฐานมาจากพ่อแม่ เกิดจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่และประสบการณ์ในวัยเด็ก เช่น เกลียดพ่อ แต่ด้วยจารีตประเพณีที่คนเราควรรักพ่อมิใช่เกลียดพ่อ ก็ทำให้เกิดความขัดแย้งในใจระดับที่ไม่รู้ตัว ความขัดแย้งจะเป็นความเครียดเรื้อรังคอยทิ่มแทงให้หงุดหงิดไม่เป็นสุข และตัดสินใจทำอะไรที่สืบเนื่องจากความเกลียดพ่อเสมอๆ เช่น ทะเลาะกับทุกคนที่รู้สึกว่าเหมือนพ่อโดยไม่รู้ตัว เป็นต้น
ความเครียดในระดับจิตใต้สำนึกมักแก้ยาก เพราะมันฝังลงลึกในจิตใจมานานแสนนาน ส่วนใหญ่ทำได้เพียงขอให้รู้ตัวและยอมรับ เช่น รู้ตัวว่าตนเองเกลียดพ่อและยอมรับเสียว่าเกลียด ถ้าพ่อไม่ดีก็ขอให้รู้ว่าพ่อไม่ดีและเราเลือกพ่อไม่ได้
การแก้ไขความขัดแย้งในระดับจิตใต้สำนึกเรื่องพ่อแม่ต้องอาศัยการบำบัดกับจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งหายากในเมืองไทย การทำจิตบำบัดที่ได้ผลดีไม่ได้ต้องการแค่คุณหมอฝีมือดี แต่ต้องการผู้ที่พร้อมจะให้ความร่วมมือและพร้อมจะเปลี่ยนแปลงตนเองด้วย ซึ่งยากเข้าไปใหญ่ “พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง” ไม่ได้หมายถึงเปลี่ยนนิสัยธรรมดา แต่หมายถึงพร้อมจะให้คุณหมอขุดคุ้ยบาดแผลในอดีตขึ้นมาตีแผ่และพูดคุยกัน เป็นกระบวนการที่เจ็บปวดมากกว่าทำ
แผลตามร่างกายมากนัก
บทความที่น่าสนใจ
เมื่อลูกสมาธิสั้น และคุณพ่อไม่พร้อมดูแล อีกทางเลือกสำหรับคุณแม่จะหย่าก็รีบหย่า
เราจะอยู่กับความขัดแย้งอย่างไร พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ มีคำตอบ