ภาวะหัวใจล้มเหลว
ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นผลลัพธ์ระยะสุดท้าย ของโรคหัวใจเกือบทุกชนิด ที่มีผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง หัวใจโต หัวใจบีบตัวไม่ดี และปั๊มเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ
การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว ในขั้นแรกจึงต้องหาสาเหตุของโรคหัวใจ ที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวก่อน และแก้ไข หรือรักษาโรคหัวใจชนิดนั้น ๆ ซึ่งจะทำให้อาการของผู้ป่วยจากภาวะหัวใจล้มเหลวดีขึ้น เช่น
- ถ้าผู้ป่วยมีภาวะหัวใจล้มเหลว ที่เกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ที่มีผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ก็รักษาโดยการทำบอลลูนหลอดเลือดหัวใจ หรือทำผ่าตัด ตัดต่อหลอดเลือดหัวใจนั้น ๆ
- ถ้าผู้ป่วยมี โรคหัวใจจากโรคความดันโลหิตสูง ก็รักษาโดยการควบคุม ความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ทั้งโดยการไม่ใช้ยา และการใช้ยารักษาร่วมกัน
- ถ้าผู้ป่วยมี โรคลิ้นหัวใจรั่ว หรือตีบ ก็รักษาโดยการผ่าตัดลิ้นหัวใจ
- ถ้าผู้ป่วยมี โรคหัวใจจากพิษสุราเรื้อรัง ก็แนะนำให้งดเหล้า
นอกจากการรักษาโรคหัวใจที่เป็นสาเหตุ ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวแล้ว ทางแพทย์ผู้รักษาก็จะให้ยาบางชนิด ที่จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ยาในกลุ่มดังกล่าวได้แก่
- ยาขับปัสสาวะ
- ยาขยายหลอดเลือด
- ยากระตุ้น การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ
แต่ !! การรักษาที่สำคัญที่สุด คงหนีไม่พ้น การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวแบบไม่ใช้ยา วิธีการง่าย ๆ ก็คือ ผู้ป่วยจะต้องพยายามลด ปริมาณเกลือในอาการที่รับประทานเข้าไปให้น้อยที่สุดเท่าที่จำทำได้ ซึ่งวิธีการลดปริมาณเกลือในอาหารมีดังนี้
- งดการใส่น้ำปลา เกลือ ซีอิ๊ว น้ำมันหอย ผงชูรส และผงปรุงรสทุกชนิดลงในอาหารทุกชนิดที่ทำรับประทานเอง
- ละเว้นการซื้ออาหารนอกบ้านมารับประทาน ยกเว้นว่า ผู้ป่วยสามารถติดต่อขอให้ผู้ประกอบกาขายอาหาร งดใส่เครื่องปรุงรสเค็มทุกชนิดลงในอาหาร
- ควรงดอาหารแห้ง ของหมัก ของดองหรืออาหารสำเร็จรูปทุกชนิด เนื่องจากอาหารเหล่านี้ ย่อมต้องมีเกลือเป็นส่วนประกอบ เพื่อป้องกันการเน่าเสียของอาหาร อาหารดังกล่าว เช่น หมูหยอง หมูแผ่น ปลาสลิดทอด เนื้อแดดเดียว ปลาตากแห้ง ผักดอง ไข่เค็ม ขนมปัง เบเกอรี่ เป็นต้น
การที่ผู้ป่วยสามารถลดปริมาณเกลือในภาวะที่รับประทานได้ จะทำให้อาการเหนื่อยง่าย และอาการบวมของผู้ป่วยดีขึ้นอย่างมาก มีผลทำให้ลดขนาดของการทานยาขับปัสสาวะลดลง และลดความจำเป็นที่ต้องเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลเป็นประจำ ซึ่งเป็นการลดภาระของแพทย์และผู้ป่วย
นอกจากการลดปริมาณเกลือในอาหารแล้ว ยังมียาบางอย่างที่ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง ได้แก่ ยาแก้การอักเสบของไขข้อ หรือยาแก้ปวดข้อ ชนิดที่เรียกว่า NSAID หรือ COX-2 inhibitor ตัวอย่างยากลุ่มนี้เช่น Ibuprofen, Diclofenac, Celecoxib, Etoricoxib เป็นต้น เนื่องจากยากลุ่มนี้ มีผลยับยั้งการขับน้ำ และเกลือทางไต ทำให้มีการคั่งของน้ำ และเกลือเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวมีอาการมากขึ้น
ข้อมูลจาก : ผศ.นพ.ครรชิต ลิขิตธนสมบัติ หน่วยโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล