วิธีผ่าตัดลูกศรแห่งความทุกข์ โดย พระอาจารย์พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี มีวิธีขจัดความทุกข์จากการสูญเสียลูกสาวอย่างไร
ผมมีลูกสาวอยู่คนหนึ่ง เป็นเด็กผู้หญิงที่น่ารักน่าเอ็นดูมาก ผมเลี้ยงดูเธอด้วยตัวเองมาตั้งแต่เธอคลอดออกมาดูโลกใบนี้ ผมและภรรยารักเธอมาก เมื่อปีกลาย เธอเพิ่งสอบและกำลังจะเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง
คืนหนึ่งเธอขออนุญาตไปทานข้าวกับเพื่อนข้างนอกเพื่อเลี้ยงฉลองการจบการศึกษา คืนนั้นเธอขอกลับบ้านกับเพื่อนไม่ต้องให้ผมไปรับ แต่ประมาณตีสอง ผมก็ได้รับโทรศัพท์จากตำรวจ แจ้งว่าพบเธอนอนหมดสภาพอยู่ข้างถนน ผมกับภรรยาตกใจมาก รีบไปที่โรงพยาบาล พบว่าเธอถูกข่มขืน เมื่อฟื้นขึ้นมา เธอรู้สึกบอบช้ำทางจิตใจมาก ถึงแม้ผมและภรรยาจะปลอบใจเท่าไร เธอก็ยังรู้สึกชอกช้ำใจอยู่ดี แทบจะไม่พูดไม่จาและไม่ทานข้าว เมื่อร่างกายเธออยู่ในสภาพที่ปกติ ผมและภรรยาจึงพาเธอกลับบ้าน ผ่านไป 2 - 3 วัน วันนั้นผมและภรรยาจำเป็นที่ต้องออกไปทำธุระสำคัญข้างนอก ผมจำใจฝากให้พี่เลี้ยงดูแลเธอ ตั้งใจว่าเสร็จธุระแล้วจะรีบกลับมา ประมาณบ่ายโมง ผมได้รับโทรศัพท์จากพี่เลี้ยงว่า เธอกินน้ำยาล้างห้องน้ำเข้าไป ผมรีบบึ่งไปหาเธอที่โรงพยาบาล แต่ก็สายเกินไป ครั้งสุดท้ายที่ผมได้เห็นหน้าลูกคือร่างที่ไร้วิญญาณ แม้กระทั่งเสียงลูกคำสุดท้ายผมก็ไม่ทันได้ฟัง ผมรู้สึกเสียใจและรู้สึกผิดมากที่วันนั้นผมออกไปทำธุระ
ผมอยากนมัสการถามพระคุณเจ้าว่า
ถาม : ผมควรจะทำอย่างไรกับชีวิตของผมต่อดี เพราะขณะนี้ผมรู้สึกไร้ค่าและขาดแรงจูงใจที่จะดำเนินชีวิตต่อไปในภายภาคหน้า แทบทั้งชีวิตของผมเป็นของลูกไปแล้วนับแต่เธอลืมตาดูโลก
ตอบ : คุณต้องยอมรับความจริง แม้ว่าความจริงนั้นจะเจ็บปวดเพียงใดก็ตาม เพราะมันก็เป็นความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว หากเราไม่ยอมรับ ความทุกข์ ความเจ็บปวดก็จะยังคงอยู่ แต่เมื่อเราบอกตัวเองว่า ถึงอย่างไรมันก็เกิดขึ้นแล้ว และมันก็ “ผ่านไปแล้ว” จิตใจจะเปลี่ยนคุณภาพใหม่ นั่นก็คือการ “ยอมรับได้”
เมื่อจิตเกิดการ “ยอมรับได้” ก็จะ “ปล่อยลง ปลงได้” แต่ถ้าเราไม่ยอมรับความจริง จิตก็จะยังคงอึดอัดขัดข้องอยู่อย่างนั้น สภาพของจิตของคุณจะไม่ต่างจากการโยนลูกเหล็กกลม ๆ ลงไปในรูเหลี่ยม ที่เมื่อเหล็กกลมเข้าไปอยู่ในรูเหลี่ยมแล้ว ก็เลื่อนลงไปข้างล่างไม่ได้ จะดึงออกมาก็ยากลำบาก อาการอย่างนี้เขาเรียกว่า “ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก”
ประการต่อมา บอกตัวเองว่า ถึงอย่างไรชีวิตลูกก็จบลงไปแล้วตัวเราสิยังคงมีชีวิตอยู่ ทำไมเราจึงปล่อยชีวิตของเราเหมือนกับคนที่ “ตายทั้งเป็น”
หากความเจ็บปวดนั้นเกิดขึ้นกับลูกไปครั้งหนึ่งแล้ว เราก็ควรเยียวยาตัวเองให้เร็วที่สุด แม้จะยากเพียงไรก็ต้องทำ เพื่อที่จะไม่ให้ความเจ็บปวดนั้นทำร้ายตัวเองซ้ำแล้วซ้ำอีก พระพุทธองค์ตรัสว่า ความทุกข์ที่เกิดจากคนอื่นสร้างให้นั้นเป็นเหมือนลูกศรดอกที่หนึ่งที่เข้ามาปักอกเรา ทางที่ถูก เราควรถอนลูกศรนั้นออกให้เร็วที่สุด ถ้าเราไม่ทำเช่นนั้น เอาแต่ทุกข์ไม่จบไม่สิ้น ก็เท่ากับว่าเรากำลังสร้างลูกศรดอกที่สองขึ้นมา และทิ่มมันใส่หน้าอกซ้ำสองด้วยมือของตัวเอง การกระทำเช่นนี้ไม่ฉลาดเลย คุณควรถอนลูกศรดอกแรกและควรผ่าตัดเอาลูกศรดอกที่สองออกจากอกของตัวเองด้วย จึงจะถูก
ถาม : ผมอยู่กับความรู้สึกผิดตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเวลากินเวลานอน ผมแทบจะทำอะไรไม่ได้ เมื่ออยู่ที่บ้าน มองไปทางไหนก็เหมือนเห็นลูกนั่งร้องไห้และตัดพ้อผมที่ทิ้งเธอให้อยู่คนเดียวในวันนั้น ผมควรทำอย่างไรต่อไปดีครับ
ตอบ : คุณควรเงยหน้าขึ้นมาศึกษาสัจธรรมของชีวิตว่า ชีวิตคนเรานั้นตกอยู่ในสัจธรรมของชีวิต 5 ประการ คือ
1. เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่มีใครล่วงพ้นความแก่ไปได้
2. เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่มีใครล่วงพ้นความเจ็บไปได้
3. เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่มีใครล่วงพ้นความตายไปได้
4. เรามีความพลัดพรากจากคนรักเป็นธรรมดา ไม่มีใครล่วงพ้นจากความพลัดพรากไปได้
5. เรามีกรรมเป็นสมบัติของตน เราทำกรรมใดไว้ จะดีหรือชั่วก็ตาม ก็ต้องยอมรับผลของกรรมนั้นด้วยตัวเอง
หากพิจารณาให้ดี คุณจะพบว่า คุณอาจมีส่วนผิดอยู่บ้างแต่ก็น้อยมาก เพราะความผิดต่อลูกนั้นไม่ได้เกิดจากเจตนาที่คุณต้องการจะให้เกิด มองในอีกมุมหนึ่ง หากลูกของคุณสร้างกรรมมาเพียงแค่นั้น (คือเพื่อที่จะมีอายุเพียงแค่นี้) คุณก็ควรยอมรับความจริงเสียเถิด เหตุปัจจัยแห่งอายุของเขามีชีวิตอยู่ได้แค่นั้น ก็ต้องยอมรับความจริง ถือเสียว่า “สุดมือสอยก็ปล่อยมันไป”
นอกจากนั้นแล้ว สิ่งที่คุณควรทำก็คือ การฝึกเจริญสติเพื่อ “อยู่กับปัจจุบัน” ให้เป็น เพราะอาการของคุณนั้นเหมือนคนที่อยู่กับ “อดีต” มากกว่าอยู่กับที่นี่และเดี๋ยวนี้ การฝึกเจริญสติจะทำให้คุณหลุดออกมาจากโลกของความคิดและเป็นอิสระจากความทุกข์ได้ในที่สุด (อย่างไรก็ตาม หากไม่มีเวลาไปฝึกเจริญสติ ก็ควรหางานให้ตัวเองทำอยู่เสมอ จิตจะได้ไม่แช่อยู่กับความทุกข์นานจนเกินไป ทำตัวให้ยุ่งกับงานเข้าไว้ ผ่านไปสักระยะหนึ่ง อาการจะดีขึ้นเอง)
อย่าลืมว่าความทุกข์เกิดขึ้นและมันก็ดับลงแล้ว เหลือแต่คุณเองที่ยัง “รั้ง” ความทุกข์นั้นไว้ในใจของตัวเองอยู่ หากคุณไม่ชอบความทุกข์ ก็ควรลุกขึ้นมาดับทุกข์เสีย ด้วยวิธีการดังกล่าวมาแล้ว
ธรรมะจากพระอาจารย์พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี : พระอาจารย์ผู้ไขปัญหา
หากผู้อ่านมีปัญหาหนักใจ ต้องการคำแนะนำแฝงด้วยแนวคิดทางธรรม สามารถส่งคำถามมาได้ที่