ลมหายใจ

วิธีกำหนด ลมหายใจ ที่ถูกต้อง โดย พระอาจารย์ชานนท์ ชยนนฺโท

วิธีกำหนด ลมหายใจ ที่ถูกต้อง โดย พระอาจารย์ชานนท์ ชยนนฺโท

การกำหนดดู ลมหายใจ เข้าออก ทำความสงบให้เกิดขึ้นที่กายใจของเรา ทำความรู้กายทั่วพร้อม จับดูลมหายใจ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าอยู่ที่สองช่องจมูก ลมหายใจออกก็อยู่ที่สองช่องจมูก สังเกตดูลมเข้า สังเกตดูลมออก ลมเข้าก็ที่ปลายจมูก ลมออกก็ที่ปลายจมูก ทำความรู้สึกรู้ลมเข้า รู้ลมออก ไม่ต้องรู้อะไร รู้แต่ลมเข้า รู้แต่ลมออก เพื่อให้เกิดสติ มีความจดจ่อ เพิ่งอยู่ที่ลม กำหนดอยู่ที่ลม ทำความรู้อยู่ที่ลม ทำความเข้าใจในลมเข้า ทำความเข้าใจในลมออก ขณะนี้ลมเข้าเป็นอย่างไร ลมออกเป็นอย่างไร ให้รู้เฉพาะสองช่องจมูกเท่านั้น

ให้รู้ต้นลมที่เข้ามาที่ปลายจมูก และปลายลมที่เข้ามาที่ปลายจมูก ต้นลมที่ออกไปปลายจมูก ปลายลมที่ออกไปสู่ปลายจมูก ให้ตั้งความรู้เด่นชัดอยู่เฉพาะที่ปลายจมูกที่เดียว ไม่ต้องรู้ตามลมเข้าลมออก เหมือนเรานั่งอยู่ที่ธรณีประตู เวลาคนเดินผ่านเข้าไป เราก็ไม่ต้องหันไปมองว่าใครเข้าไป เวลาคนออกจากห้องเราแล้วออกไปนอกประตู เราเพียงแต่รู้อยู่ตรงธรณีประตูว่าเขาผ่านเข้าและผ่านออก ให้ทำความรู้และสังเกตอย่างนั้น

ลมก็เช่นกัน ให้สังเกตว่าเข้าแล้วที่ปลายจมูก ออกแล้วที่ปลายจมูก ให้รู้เฉพาะเด่นชัดที่ปลายจมูก จับดู สังเกตดู ไม่ต้องตามเข้าตามออก เพ่งหรือจดจ่อ กำหนดรู้เฉพาะ สังเกตดูก็จะเห็นชัด มันเข้ามาเป็นสาย ออกเป็นสาย ก็ที่ปลายจมูก เข้าก็ที่ปลายจมูก ออกก็ที่ปลายจมูก ไม่ต้องขยับไปขยับมา รู้เด่นชัดเพ่งอยู่ตรงนั้นเท่านั้น

เมื่อเราทำความรู้ที่ปลายจมูกในขณะเข้าขณะออก แล้วจิตของเราเริ่มจะมีความสงบขึ้น มีความรู้อยู่ในปัจจุบันขึ้น มีความรู้อยู่ในสัมผัสในลมเข้าลมออกได้ชัดขึ้น การทำสมาธิลักษณะนี้เรียกว่าสมถะ ถ้าเราทำความรู้อยู่ในลมเข้าลมออกอย่างนี้ ลมหายใจที่เรารู้หยาบ ๆ มันก็จะรู้ละเอียดขึ้น ๆ ในที่สุดบางครั้งลมหายใจมันหายไป ก็ไม่ต้องทำลมหายใจให้กลับมาด้วยการหายใจแรงขึ้น ไม่ต้องกลัวว่าลมหายใจจะหายไป

จริง ๆ แล้วลมหายใจไม่ได้หายไป แต่เพราะว่าจิตของเรารวมลงสู่ความเป็นสมาธิซึ่งละเอียดกว่าลม ลมนั้นจึงหายไปจากจิตของเรา จิตเราละเอียดขึ้น จึงไม่สามารถจะสัมผัสในความละเอียดของลมได้ ไม่ต้องตกใจ เพราะลมหายใจมันเป็นธรรมชาติ เวลาเราเดิน เรายืน เรานั่ง หรือแม้กระทั่งเวลาเรานอนหลับ ลมหายใจเขาก็ทำหน้าที่อยู่แล้ว เราไม่ได้บังคับให้เขาหายใจ เขาก็หายใจเองอยู่ ฉะนั้นลมหายใจจึงเป็นธรรมชาติ เราไม่ต้องทำอะไรเขาก็หายใจอยู่แล้ว แม้ว่าจะหายไป เขาก็ทำหน้าที่ของเขาอยู่

เพราะฉะนั้นเวลาภาวนา ถ้าลมหายใจหายไปอย่าได้ตกใจกลัว เรามีแต่เพียงหน้าที่รู้ว่าเข้า รู้ว่าออก แม้อาการที่สัมผัสว่าลมเข้าลมออกนั้นจะหายไป แต่เราก็ยังมีความรับรู้ว่า ขณะนี้ลมเข้าอยู่ ขณะนี้ลมออกอยู่ รู้แค่นั้นก็รวมลงสู่ความเป็นสมาธิได้

มีแต่ตัวรู้อย่างเดียว รู้ที่ลมเข้า รู้ที่ลมออกที่ปลายจมูก นี่คือการทำสมาธิ ให้พากันทำอย่างนี้ทุกครั้ง จิตของเราก็จะสงบได้เร็ว ถ้าเราไปแส่ส่ายตามไปตามมา มันก็สงบได้ แต่ไม่รวมลึกเหมือนที่เราเน้นอยู่เฉพาะสองช่องจมูก ไม่ตามเข้า ไม่ตามออก นี้เป็นการลัดสมาธิเข้าสู่ความสงบ มันจะสงบได้เร็ว

เมื่อเกิดความสงบแล้ว จิตของเราก็เริ่มมีปีติ มีความรู้สึกว่าสบายอยู่กับการดูลมเข้าลมออก เรายิ่งรู้ลมเข้าลมออกได้นาน ได้มากครั้งเท่าไร นั่นแหละสมาธิก็จะเกิดได้มากขึ้นและนานขึ้นเท่านั้น รู้ลมหายใจเข้าออกสิบนาที สมาธิก็เกิดกับเราสิบนาที รู้ลมหายใจเข้าออกหนึ่งชั่วโมง สมาธิก็เกิดกับเราทั้งชั่วโมง ถ้าสามารถรู้ขณะเรานั่งอยู่ นอนอยู่ เดินอยู่ ทุกอิริยาบถ รู้แต่ลมเข้าลมออก มันก็เป็นสมาธิได้ทั้งวัน ดังนั้นการทำสมาธิไม่ต้องเอาอะไรมาก แค่รู้ลมเข้าลมออกก็เป็นสมาธิได้แล้ว

 

ที่มา : มหาสติปัฏฐาน ๔ ทางลัดดับทุกข์ – พระอาจารย์ชานนท์ ชยนนฺโท สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

Secret Magazine (Thailand)

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.