ดร.ปัญญา แซ่ลิ้ม จากเด็กเรียนหนังสือไม่เก่งของห้องสู่การเป็นเด็กนักเรียนทุนอานันทมหิดล
ดร.ปัญญา แซ่ลิ้ม เด็กทุนคนไทยที่เคยเป็นนักวิจัยที่นอร์เวย์ แต่ตัดสินใจกลับมาเป็นนักวิจัยที่กลุ่มวิจัยและพัฒนาของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และกิจกรรมพิเศษ กรมประมง ควบคู่กับการเป็นอาจารย์พิเศษตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ
ด็อกเตอร์หนุ่มให้สัมภาษณ์กับ Posttoday ว่า กว่าจะพาตนเองมาถึงจุดนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ดร.ปัญญา แซ่ลิ้มเล่าถึงวัยเด็กของเขาว่า
ตอนกำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ครอบครัวไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม เงินในกระเป๋าของคุณแม่มีอยู่ไม่กี่ร้อยบาท ท่านต้องไปหยิบยืมคนอื่นเพื่อมาจ่ายค่าเทอม ตอนนั้นจำได้เลยว่าคุณแม่ลำบากมาก เหตุการณ์ในวันนั้นทำให้ผมปฏิญาณต่อตนเองว่าจะตั้งใจเรียนหนังสือ เพราะเป็นสิ่งเดียวที่เราทำเพื่อตอบแทนพระคุณท่านได้
นอกจากเรียนหนังสืออย่างเด็กคนอื่นแล้ว ต้องช่วยคุณแม่จ่ายตลาดและทำขนมขาย ถึงจะเหนื่อยมาก แต่มันก็คุ้มค่าต่อประสบการณ์ชีวิต จากวันนั้นที่ผมตั้งปฏิญาณไว้ ปรากฏว่าผลการเรียนดีขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้เป็นที่หนึ่งของห้อง การเงินของที่บ้านก็ยังมีปัญหา แต่ได้รับการช่วยเหลือเรื่องค่าเทอมจากผู้ใหญ่ใจดีท่านหนึ่งจนผมจบมัธยมศึกษาปีที่ 6
ผมสอบเอ็นทรานซ์ติดคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่คิดจะไม่เรียนต่อเพราะค่าหน่วยกิตสูงมาก คุณครูที่โรงเรียนพระโขนงพิทยาลัยบอกให้ผมไปคุยกับทางคณะโดยตรงว่าเรามีปัญหา คณะพอจะช่วยเหลือเราอย่างไรได้บ้าง ผมก็ไปติดต่อกับคณะ และแล้วรศ.ประไพสิริ สิริกาญจนท่านเมตตาช่วยเหลือผม ผมสัญญากับท่านว่า จะขยัน ตั้งใจเรียน ซื่อสัตย์ และกตัญญู ท่านมอบเครื่องแบบนักศึกษาใหม่ให้ผม และให้ผมรับประทานอาหารฟรีที่ร้านเจ๊เล็ก โรงอาหารเกษตรกลาง 1 ตลอด 4 ปี ผมขอช่วยล้างจาน แต่เจ๊เล็กก็ไม่ยอม แล้วบอกกับว่า ขอแค่ตั้งใจเรียนก็เป็นการตอบแทนเจ๊แล้ว
ดร.ปัญญา แซ่ลิ้มเล่าถึงตอนเป็นนักศึกษาว่าต้องทุ่มเทกว่าคนอื่นเป็นสองเท่า เพราะได้โอกาสที่ดีมามาก ผมจะนอนตอนหกโมงเย็นแล้วตื่นขึ้นมาทบทวนตำราตอนเที่ยงคืนจนถึงเช้า ผมเป็นเด็กเรียนไม่เก่ง พื้นฐานก็ไม่ได้แน่น เลยต้องใช้ความขยันและอดทนมาก จนในที่สุดผมก็ได้เกียรตินิยมอันดับ 1 เป้าหมายต่อไปของผมคือการเรียนต่อ แต่ก็มีปัญหาเรื่องการเบิกทุน อาจารย์ที่คณะท่านก็แนะให้ผมสมัครทุนอานันทมหิดล
ด้วยความมุ่งมานะของด็อกเตอร์หนุ่มทำให้ได้รับทุนอานันทมหิดลเรียนต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาณเอกที่ Wageningen University & Research ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ใช้ระยะเวลาเรียนนานถึง 6 ปี แล้วไปเป็นนักวิจัยที่ประเทศนอร์เวย์ เพื่อที่จะหาประสบการณ์และเก็บเกี่ยวความรู้ให้มากที่สุด
การเรียนต่อในมหาวิทยาลัยระดับต้นของโลกเป็นเรื่องที่ยากมาก การเรียนหนักมาก แต่ผมก็ระลึกและยึดพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นบุคคลตัวอย่างแห่งการมีความอดทน เพราะพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทุกหนทุกแห่งเพราะช่วยเหลือพสกนิกร พระองค์ทรงเป็นแรงบันดาลใจให้กับผม ผมก็อยากนำความรู้จากที่นี้กลับมาพัฒนาประเทศชาติ สิ่งนี้คือเส้นทางที่ผมเลือกแล้ว
ความเพียร (วิริยะ) และ ความอดทน (ขันติ) คือมิตรแท้ที่อยู่เคียงข้างด็อกเตอร์หนุ่มคนนี้มาตลอด ตั้งแต่เด็กจนกระทั่งมีหน้าที่การงานที่ดี เรื่องราวของเขานอกจากจะสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ที่อ่านแล้ว เชื่อว่ายังสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครอีกหลายคน ให้ไฟแห่งความเพียรลุกโชติช่วงขึ้น แล้วพาตนเองไปสู่จุดหมายที่ใฝ่ฝันได้สำเร็จ
ที่มา : www.posttoday.com
ภาพ :
บทความน่าสนใจ
เคซ วอลเดซ เด็กดี ผู้มีหัวใจของการเป็นผู้ให้
น้องสุวิทย์ เด็กดีศรีระยอง ผู้ไม่ผิดศีลข้อที่สอง
น้องโอ เด็กดี ผู้มีมานะ ขายข้าวไข่เจียวเลี้ยงตนและน้อง สานฝันเรียนให้จบดั่งใจหวัง
โทนี่ รากแก่น : อดีตจะดีหรือร้าย ผมก็ไม่เคยคิด อยากย้อนเวลา
เหมือนเกิดใหม่อีกครั้ง : ชีวิตจริงของคนเกเรที่ล้มซ้ำๆ แต่ยังมีวัน “เกิดใหม่”