ข้อธรรมที่ หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ นำมาแสดงแก่ญาติโยมและศิษยานุศิษย์มักเรียบง่าย ไม่มีภาษาบาลีมาปะปน เมื่อฟังแล้วอ่านแล้วสามารถเข้าใจได้ในทันที ไม่ต้องตีความ
“ธรรม”
ถ้ารู้ธรรม…ก็นำธรรมนั้นมาฟอกซัก ชำระเสียให้สะอาด ใจเรามันสกปรกมานาน ต้องล้างเสียที…อวิชชามันเยอะ เอาความโง่ของพวกเราออก เอาความดีมาใส่แทน
จงรับไปปฏิบัติซี เอามาแล้วก็วางเฉย ๆ มันจะได้ประโยชน์อะไรเล่า
“ศีล สมาธิ ปัญญา”
การบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ถ้าไม่มุ่งหวังที่จะทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไป ให้สิ้นไปแล้ว ก็ไม่มีทางพ้นจากความทุกข์ในโลกนี้ไปได้
ถ้าเราบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา มุ่งหวังที่จะทำลายกิเลสตัณหาอย่างเดียวให้หมดสิ้นไป คือที่ว่า พ้นไปจากโลก เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันที่ดับทุกข์โดยแท้ ไม่ต้องมีความสงสัยเลย
“กัมมัฏฐาน”
“…กัมมัฏฐานเปรียบเหมือนยาโอสถขนานเอก เราต้องเป็นหมอฉลาด หมอฉลาดคือสติปัญญา นี่แหละหมอใหญ่ ถ้าเราขาดสติ เราก็ไม่มีหมอรักษาตนเท่านั้น โรคอะไรเกิดขึ้นเราก็ไม่รู้…”
“ประโยชน์ 3 อย่างที่มนุษย์ควรบำเพ็ญ”
คนเราเกิดมาต้องรู้จักทำประโยชน์ ถ้าไม่ทำประโยชน์ก็ไม่ใช่มนุษย์ เขาเรียกว่า หมานุษย์ พระพุทธองค์ท่านสอนมนุษย์ให้ทำประโยชน์ทั้ง 3 ประการ คือ ประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ภายภาคหน้า และประโยชน์อย่างยิ่ง ประโยชน์เหล่านี้ มนุษย์เราควรจะกระทำไปพร้อม ๆ กับชีวิตที่ยังเป็น ๆ สด ๆ อยู่
ประโยชน์ปัจจุบัน แยกได้เป็น โลกัตถประโยชน์ (การทำประโยชน์แก่โลก) ญาตัตถประโยชน์ (การทำประโยชน์แก่ญาติพี่น้องทั้งทางสายโลหิตและทางโลก) และ อัตตัตถประโยชน์ (การทำประโยชน์แก่ตน)
ประโยชน์ภายภาคหน้า คือ นับแต่กายแตกสลายแล้วต้องมีคติที่ไปเพราะยังมีกรรม จึงทำให้บำเพ็ญประโยชน์ไว้สำหรับเป็นที่พึ่งของเราเมื่อตายไปแล้ว ถ้าเราเกิดมาทำแต่บาป ตายไปเราก็ไปสู่ทุคติ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ถ้าเราทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ตายไปเราก็ไปสู่สุคติ มนุษยสุข สวรรคสุข นิพพานสุข
ประโยชน์อย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน ให้รู้จักดับกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง อย่าให้มีที่ใจของเรา ถ้าเราดับกิเลส ราคะ โทสะ โมหะ เหล่านี้หมดแล้วก็ถึงพระนิพพานเท่านั้น ไม่มีความสงสัยเลย…
“กรรม”
ผู้เชื่อกรรม ผู้เชื่อผลของกรรม ผู้เชื่อต่อวิบากของกรรม ผู้เชื่อต่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าอย่างนี้ ท่านไม่ทำบาปทั้งในที่ลับและที่แจ้งโดยเด็ดขาด ที่แจ้งคือ ไม่ทำบาปด้วยกาย ไม่ทำบาปด้วยวาจา ที่ลับ ไม่ทำบาปด้วยใจ เพราะท่านเชื่อต่อกรรม
คำว่ากรรม คือการเชื่อว่า การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เชื่อผลของกรรม เมื่อเหตุ คือ การกระทำมี ผลก็ต้องมี เป็นสิ่งที่เราผู้ทำต้องรับเอาผล ส่วนวิบากต้องติดตามไปเป็นสิ่งที่เราผู้ทำกรรมดี หรือกรรมชั่วต้องเสวย เป็นหน้าที่ของเรา พระพุทธเจ้าตรัสสอนอย่างนี้
เหตุที่พระองค์ตรัสสอนอย่างนี้ เนื่องจากพระองค์ตรัสรู้ตามกฎของกรรมอันแท้จริง ฉะนั้น ผู้เชื่อต่อกรรมและผลของกรรมจึงไม่กล้าทำบาปทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ท่านทำแต่คุณงามความดี ประพฤติกายสุจริต วาจาสุจริต ใจสุจริต
“อย่าประมาทในการใช้ชีวิต”
…อย่าพากันไว้ใจในชีวิตของตน ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง ไม่แน่นอน วันนี้เรามีชีวิตอยู่ อาศัยอยู่ วันหลังมาชีวิตจะเป็นจั๋งใด๋ ดีหรือไม่ ชีวิตของเรานั้นวันหลังจะเป็นอย่างไรในพรรษานี้ พวกเราทั้งหลายเชื่อหรือ ชีวิตเราจะตลอดพรรษา เพราะความตายเป็นของไม่มีกาลเวลา จิตมันจะตายเวลาไหนก็ไม่รู้ เพราะชีวิตเป็นของไม่เที่ยง สุดแท้แต่มันจะเป็นไป
เมื่อเรามีชีวิตอยู่ อย่าพากันประมาท จงพากันรีบบำเพ็ญความดี ให้เกิดให้มีขึ้นในดวงจิตความคิดของเรา…
ที่มา ชุดสุดยอดสงฆ์ 2 : หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ – นภ วีระพงษ์ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ
ภาพ palungjit.org
บทความน่าสนใจ
เมื่อ ท่านพ่อลี ธัมมธโร เพ่งกสิณ ใส่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส)