ตะไคร้ ลดความดันโลหิต อาการยอดฮิตของผู้สูงวัย ที่สมุนไพรไทยสู้ได้
ตะไคร้ ลดความดันโลหิต ได้จริงหรือ เรามีคำตอบจาก พญ.ดวงรัตน์ เชี่ยวชาญวิทย์ จากโรงพยาบาล บางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก ที่โดดเด่นด้านการรักษาโรคด้วยสมุนไพรมาให้คำตอบ
“เมื่อไม่นานมานี้ คุณหมอไปสะดุดตาเข้ากับเห็ดที่ชาวบ้านนํามาขายที่โรงพยาบาล เลยเกิดไอเดียอยากทําให้คุณหมอใกล้ตัว และลูกสาวกิน คิดได้เช่นนั้นก็ไม่รอช้า ตั้งใจว่าจะทําต้มยําเห็ด งานเลยเข้าทั้งคนที่จะต้องกินกับคนทําที่จะต้องไปตลาด เพื่อซื้อวัตถุดิบต่างๆ บางอย่างเราไม่ต้องซื้อ เช่น ใบมะกรูด เพราะสามารถเก็บจากหลังบ้านได้ หอมแดงกับข่าก็มีเจ้าหน้าที่อนุเคราะห์ให้ ส่วนตะไคร้ ใช้วิธีขุดเอาจากบ้านของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เห็นไหมคะ แค่นึกอยากทํากับข้าวก็ทําเอาเหล่าเจ้าหน้าที่วุ่นแค่ไหน
“พอเลิกงาน ก็ได้เวลาทําเมนูต้มยําที่คนไทยชื่นชอบ ไม่อยากจะคุยว่าจริงๆ แล้วผู้เขียนทํากับข้าวอร่อยนะคะแถม การกินต้มยําก็เปรียบได้กับการกินอาหารเป็นยา เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้เป็นเครื่องต้มยํานั้นมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรทั้งนั้นเลยค่ะ
“ซึ่งในวันนี้ผู้เขียนจะขอกล่าวถึง ตะไคร้ ก็แล้วกัน ตะไคร้นั้นมีน้ํามันหอมระเหยที่ช่วยลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และแก้ปวดท้องได้ ทั้งยังใช้เป็นส่วนประกอบของ ยานวด ลดอาการปวดข้อและกล้ามเนื้อ
“นอกจากนี้ยัง ช่วยผ่อนคลาย ทําให้นอนหลับได้ดี บํารุงสมอง เหมาะกับผู้สูงวัยทั้งหลายที่ความจําเริ่มเสื่อมไปตามวัย ประโยชน์เยอะขนาดนี้ คงต้องทําเมนูยําตะไคร้อีกละมั้ง เพราะกินแบบสดๆ จะได้สารอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะวิตามินเอ วิตามินซี และแคลเซียม ถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงนึกออกแล้วมั้งคะว่า วิตามินเอ ช่วยบํารุงสายตา วิตามินซีก็ช่วยทําให้ผิวพรรณดี ส่วนแคลเซียมนั้นช่วยบํารุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง ที่น่าสนใจคือ มีรายงานว่า ตะไคร้สามารถลดความดันโลหิตได้ เนื่องจากมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ
“ดังนั้น ท่านผู้อ่านที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงสามารถกินตะไคร้เสริม เพื่อช่วยลดความดันได้ แต่ผู้เขียนขอย้ําว่า ต้องใช้เป็นตัวเสริมนะคะ เพราะการรักษาหลักๆ ควรใช้ ยาแผนปัจจุบัน และควรบอกให้คุณหมอที่รักษาทราบว่า จะกินตะไคร้ เนื่องจากการรักษาโรคความดันโลหิตสูง ต้องปรับยาตามสภาวะของผู้ป่วย และผู้ป่วยต้องดูแลด้านอื่นด้วย เช่น หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม ซึ่งหากทําได้จะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยเอง หรือออกกําลังกายเพื่อ สุขภาพร่วมด้วย
“วิธีกินตะไคร้เพื่อช่วยลดความดันโลหิตสูง อาจกินเป็นอาหาร เช่น ยําตะไคร้ หรืออาจนําตะไคร้สดทั้งต้น ประมาณ 1 กํามือ ทุบๆ นําไปต้มกับน้ํา ดื่มวันละ 3 ครั้ง หรือถ้าไม่สะดวก ก็สามารถหาซื้อชาตะไคร้มาดื่มได้ค่ะ มาถึงตรงนี้คงสรุปได้ว่า ตะไคร้เป็นสมุนไพรที่มี คุณค่ามากมาย เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย แต่ผู้เขียนว่า เหมาะกับผู้เชี่ยวชาญชีวิต(ผู้สูงอายุ)ที่สุดเลยค่ะ”
สมุนไพรพื้นบ้าน
นอกจากนี้ ยังมีสมุนไพรพื้นบ้านไทยอีกหลายตัว ที่มีสรรพคุณลดความดันโลหิต ตัวอย่าง เช่น
1.กระเทียม
ซอยกระเทียมสดประมาณครึ่งช้อนชา กินพร้อมอาหารวันละ 2-3 ครั้ง หรือจะเคี้ยวกระเทียมสดๆ ก็ได้ กระเทียมมีสรรพคุณช่วยลดไขมันในเลือด แต่ห้ามกินตอนท้องว่าง เพราะฤทธิ์ร้อนของกระเทียมจะทําให้แสบกระเพาะอาหารได้
2.กระเจี๊ยบแดง
ต้มกลีบเลี้ยงแห้งกับน้ํา ดื่มลดความดันโลหิต ลดคอเลสเตอรอล แก้นิ่ว และลดไข้ได้
3.บัวบก
ในตํารายาไทยทั่วไป ใช้เป็นยาบํารุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย ขับปัสสาวะ แก้ร้อนใน แต่ในตํารายาพื้นบ้านนํามาลดความดันโลหิต โดยใช้ ต้นสด 1-2 กํามือ ต้มกับน้ําดื่มได้
4.อบเชย
ช่วยลดไขมันในเลือดและแก้ความดันโลหิตสูงได้ดี เหมาะกับคนที่มีธาตุไฟไม่สูงจนเกินไป เพราะอบเชยเป็นยาฤทธิ์อุ่น ใช้อบเชย 1 ท่อน ต้มกับน้ํา 500 ซีซี(ลูกบาศก์เซนติเมตร) แล้วดื่ม
5.ฟ้าทลายโจร
ช่วยลดความดันโลหิต แต่ถ้ากินต่อเนื่องแล้วรู้สึกท้องอืด ต้องหยุดกิน เพราะแสดงว่าธาตุไฟในกายดับ จึงส่งผลให้ระบบย่อยอาหาร ซึ่งใช้ธาตุไฟทํางานไม่ปกติ อาจกินสดๆ หรือกินเป็นแคปซูล ขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 1-2 เม็ด เช้า-เย็น
DID YOU KNOW?
3000 คือจํานวนปีก่อนคริสตกาล ซึ่งพบบันทึกว่า มีการนําแฟลกซ์ซี้ดมาใช้ ทําอาหาร ส่วนการใช้เป็นยา มีการบันทึกโดยฮิปโปเครตีส บิดาแห่งการแพทย์ ซึ่งใช้แฟลกซ์ซี้ดบรรเทาอาการไม่สบายท้อง
บทความอื่นที่น่าสนใจ
เรียนรู้ค่าวัดความดันโลหิต ด้วยตนเอง ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ฆาตกรเงียบคร่าชีวิตทั่วโลก
ฝึกโยคะ อย่างง่าย ด้วยการโยคะนิ้ว คืนความผ่อนคลาย บรรเทาความเหนื่อยล้าใน 2 นาที
อาหารแคลอรี่ต่ำ ให้อะไรคุณได้มากกว่าการลดความอ้วน