นิพพานเทียมง่าย ๆ

นิพพานเทียมง่าย ๆ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ธรรมะโดย พระอาจารย์ชาญชัย อธิปัญโญ

เราสามารถเข้าถึงนิพพานโดยทำใจให้ว่างสบาย ๆ ปลอดจากความคิด แม้จะได้ชั่วครั้งชั่วคราวก็ดีกว่าไม่ได้เลย นอกจากนี้อาจจะหาตัวช่วย เช่น

•  ฟังเพลงบรรเลงที่ไพเราะนุ่มนวลชวนฟัง ปล่อยใจให้ผ่อนคลายเบาสบายไปกับเสียงเพลง โดยไม่ต้องใส่ความคิดเข้าไปปรุงแต่ง ให้ใจของเราดื่มด่ำเป็นสุขไปกับเสียงเพลง

•  ชมภาพทิวทัศน์ของธรรมชาติที่ดูแล้วเย็นตาเย็นใจ ทำให้จิตใจมีความสงบปลอดโปร่งเบาสบาย

•  ทำงานอดิเรกที่ทำแล้วผ่อนคลาย ไม่ปล่อยความคิดให้ฟุ้งซ่านไปทางรัก โลภ โกรธ หลง

•  การทำจิตให้อยู่ในอารมณ์เช่นนี้ ก็เป็นสภาวะของนิพพานเทียมที่ทำได้ง่าย ๆ เช่นกัน

 

นิพพานเทียมในใจตน

1.  ถ้าอยู่กับตัวเองตามลำพังก็ให้มีสติปัญญารู้กายของเราเป็นหลัก

2.  ถ้ามีสิ่งอื่นที่มากระทบทางประสาทสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แม้ใจเผลอคิดถึงเรื่องต่าง ๆ ก็ใช้สติปัญญาพิจารณาสิ่งนั้น ๆ ว่า สิ่งใดเป็นคุณ สิ่งใดเป็นโทษ

3.  ละสิ่งที่เป็นโทษเป็นอกุศลเสีย

4.  เจริญในสิ่งที่เป็นบุญกุศล

5.  วางใจอย่าให้กระเพื่อมไหวไปในทางยินดียินร้าย สิ่งนี้พูดง่าย ฟังง่าย เข้าใจได้ไม่ยาก แต่ทำยาก จะทำให้ได้ก็ต้องฝึก การฝึกฝนก็คือความเพียร พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า บุคคลจะล่วงทุกข์ได้ก็ด้วยความเพียร

 

นิพพานเทียมง่าย ๆ
Photo by Tom Cleary on Unsplash

นิพพานเทียมในสังคม

การอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ขัดแย้งกัน ฉะนั้นทุกครั้งที่เกิดความขัดแย้งให้เข้าใจว่า

1.  ความขัดแย้งมีอยู่ในทุกสรรพสิ่ง ทั้งในธรรมชาติและในตัวบุคคล แม้แต่แสงอาทิตย์ส่องลงมาก็มีเมฆ มีอาคารบ้านเรือนและใบไม้ไปขวางทางไว้ ในตัวบุคคลก็เช่นเดียวกัน โครงสร้างทางกายภาพ เช่น บนใบหน้ามีคิ้ว ตา ปาก เรียงเป็นแนวนอน ตัดกับใบหู จมูก และฟันที่เรียงกันเป็นแนวตั้ง ซึ่งจะเรียกว่าขัดกันก็ได้ แต่ก็ทำให้เกิดความงามที่ลงตัวบนใบหน้า

2.  หากมีความเห็นต่างกันในเรื่องที่ไม่เสียหาย เราควรนิ่งเฉยเสียหากไม่เห็นด้วย ให้เขาได้มีโอกาสแสดงความเห็นของเขาบ้าง

3.  หากมีความเห็นที่แตกต่างกัน ให้ถือว่าเป็นโอกาสที่จะให้เลือกความเห็นที่ดีกว่าเหมาะสมกว่า นับว่าเป็นความขัดแย้งที่สร้างสรรค์ สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ แต่ละคนต้องเข้าใจธรรมชาติความเป็นจริงของความขัดแย้ง ลดความถือตัวถือตนลง

4.  เปิดใจกว้างยอมรับความเห็นที่แตกต่างกัน แต่ถ้าใครถือความเห็นของตนเป็นใหญ่ ไม่ยอมรับฟังความเห็นของคนอื่น ความเห็นที่แตกต่างอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่ทำลายก็เป็นได้

5.  หมั่นปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งก็คือการเรียนรู้ความเป็นจริงที่มีอยู่ตามกฎธรรมชาติ ฝึกใจยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ดังเช่นเข้าใจธรรมชาติของความขัดแย้งว่ามีอยู่ในทุกหนทุกแห่ง

หากคิดแบบนี้ได้ ทำใจแบบนี้ได้ ใจของเราก็ไม่ขุ่นมัว แม้จะอยู่กับความขัดแย้งก็ยังคงรักษาใจที่เป็นอุเบกขาไว้ได้ เหมือนลิ้นงูที่อยู่ในปากงูโดยไม่ถูกเขี้ยวพิษงูทำร้าย หากทำได้ก็เท่ากับได้สัมผัสกับนิพพานแผ่ว ๆ แล้วนั่นเอง  

 

ที่มา  นิพพาน…ที่นี่…เดี๋ยวนี้  โดย 4 พระผู้นำทางปัญญาแห่งยุคสมัย  สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความน่าสนใจ

5 วิธีอินกับความตาย เข้าใกล้นิพพาน โดย พระไพศาล วิสาโล

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.