อาการปวดประจำเดือน เป็นแบบนี้จัดว่าปกติ
อาการปวดประจำเดือน ธรรมดา มีลักษณะพิเศษตามข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายๆ ข้อ โดยจะเริ่มเป็นเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ดังนี้
ระยะเวลาที่เริ่มปวดประจำเดือน
วัยรุ่นส่วนใหญ่ยังไม่ปวดประจำเดือน เมื่อประจำเดือนมาครั้งที่ 1-2 แต่มักจะเริ่มปวดภายใน 1 ปี หลังจากประจำเดือนมา บางคนปวดหลังจากมีประจำเดือนมาได้ 3-4 ปี คือเมื่อรอบประจำเดือนสม่ำเสมอ (ตอนเริ่มมีประจำเดือนใหม่ๆ รอบประจำเดือนจะยังไม่สม่ำเสมอ)
รอบเดือนตรง
คนที่ปวดประจำเดือนธรรมดา รอบประจำเดือนมักจะตรง เช่น 28 วัน ประจำเดือนจึงจะมาครั้งหนึ่ง
อาการไข่ตก
คนที่ปวดประจำเดือนธรรมดามักจะมีอาการไข่ตกก่อนมีประจำเดือนมา 2 สัปดาห์ อาการนั้นได้แก่
-ปวดท้องน้อยข้างที่มีไข่ตกก่อนประจำเดือนมา 2 สัปดาห์ โดยอาการปวดมักจะคงอยู่ประมาณ 12-24 ชั่วโมง
-ช่วงไข่ตกมีมูกใส เหนียวซึ่งสามารถยืดได้เกิน 10 เซนติเมตรไหลออกมาจากช่องคลอด
-มีอาการของกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน เช่น คัดเต้านม หน้ามัน เป็นสิว ปวดน่อง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดเต้านม ปวดตามเนื้อตามตัว ท้องอืด น้ำหนักตัวเพิ่ม นอนไม่หลับหรือหลับมากไป กินอาหารได้มากหรือไม่อยากกินอะไร หงุดหงิด เครียด ท้อแท้ ซึมเศร้า หลงลืม ที่เป็นรุนแรงอาจคิดฆ่าตัวตาย
-หากวัดอุณหภูมิร่างกายจะพบว่า อุณหภูมิขึ้นลงเป็นสองช่วง คือ ช่วงก่อนไข่ตกและช่วงหลังไข่ตก โดยอุณหภูมิช่วงก่อนไข่ตกจะต่ำกว่าช่วงหลังไข่ตกประมาณ 0.2-0.5 องศาเซลเซียส
อาการอื่นๆ
ขณะปวดประจำเดือนมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น
-เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว (พบร้อยละ 85)
-คลื่นไส้อาเจียน (พบร้อยละ 85)
-ท้องเสีย (พบร้อยละ 60)
-ปวดหลัง (พบร้อยละ 60)
-ปวดศีรษะ (พบร้อยละ 45)
ในคนที่มีโรคประจำตัว
ในคนที่เป็นโรคหอบหืด โรคอาจกำเริบพร้อมอาการปวดประจำเดือน ในคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคอาจกำเริบพร้อมอาการปวดประจำเดือน
เมื่ออายุมากขึ้น
เมื่ออายุมากขึ้น อาการปวดจะไม่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ทุเลาลง เมื่อแต่งงานหรือมีลูก อาการปวดประจำเดือนธรรมดาจะทุเลาลง
ยาคุมกำเนิด
การกินยาคุมกำเนิดหรือฉีดยาคุมกำเนิดจะทำให้อาการปวดประจำเดือนธรรมดาจะลดลงหรือหายไป
อื่นๆ
ไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมกับการมีประจำเดือน เช่น ไม่มีไข้ ไม่มีอาการผิดปกติของระบบปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบขัด ไม่พบก้อนที่หน้าท้อง เลือดประจำเดือนมาตามปกติ ไม่มามาก ไม่มานาน
ข้อมูลจาก : หนังสือ ปวดท้อง ประจำเดือน เคล็ดลับป้องกัน สังเกตอาการ และขั้นตอนการรักษา โดยแพทย์หญิงชัญวลี ศรีสุโข สำนักพิมพ์อมรินทร์สุขภาพ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
อาหารต้านอาการ PMS หรือช่วงก่อนมีประจำเดือน
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ อาหารป้องกันปวดประจำเดือน ลดเหวี่ยง ที่สาวๆควรรู้
อาการปวดประจำเดือน แก้ได้แค่ฝึกโยคะ (มีภาพ)