“รับความจริงได้ย่อมไร้ทุกข์” ธรรมะจาก พระอาจารย์ชาญชัย อธิปัญโญ
คนส่วนใหญ่ไม่ชอบอยู่กับความเป็นจริง แต่ชอบอยู่กับความปรารถนาหรือความต้องการของตนเอง พฤติกรรมดังกล่าวจึงนำความทุกข์มาให้โดยไม่รู้ตัว
การอยู่กับความปรารถนาหรือความต้องการคืออะไร
แต่ละวันเรามักจะคิดอยากให้สิ่งนี้เป็นอย่างนั้น อยากให้สิ่งนั้นเป็นอย่างนี้ มากมายต่าง ๆ นานา จนเป็นความเคยชินหรือเป็นพฤติกรรมของจิต เช่น เมื่อขับรถหรือนั่งรถไปบนท้องถนนก็ไม่อยากให้รถติด ไม่อยากเจอสัญญาณไฟแดง ไม่อยากให้รถคันอื่นมาตัดหน้า อยากให้ถึงที่หมายเร็ว ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่อยู่กับความต้องการของตนเองทั้งสิ้น
ครั้นเมื่อเจอรถติด เจอสัญญาณไฟแดง เจอรถคันอื่นปาดหน้า ไปถึงที่หมายช้ากว่ากำหนด ก็เกิดความรู้สึกหงุดหงิด เครียด หรือโกรธ อาการเหล่านี้คือความทุกข์
หากอยู่กับความเป็นจริงจะอยู่อย่างไร
อยู่อย่างรู้เห็นตามความเป็นจริง นั่นคือเมื่อเจอรถติดก็รู้และยอมรับว่ารถติด ต่อให้คิดอย่างไรรถก็ยังติดตามเหตุของมันเมื่อเจอสัญญาณไฟแดง หากยังเปลี่ยนเป็นไฟเขียว ต่อให้คิดจนตายก็ยังติดไฟแดงอยู่นั่นเอง เมื่อมีรถคันอื่นปาดหน้า ก็รู้ว่าเหตุการณ์นั้นได้เกิดขึ้นและผ่านพ้นไปแล้ว ต่อให้โกรธหรือด่าแช่งชักหักกระดูกผู้ขับรถปาดหน้าอย่างไร ก็แก้ไขเหตุการณ์นั้นไม่ได้ เมื่อรถติด ไปไม่ทันเวลา ก็ยอมรับความเป็นจริงว่าไปไม่ทันเวลา จะคิดขุ่นเคืองโทษสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้ไปไม่ทันเวลาอย่างไรก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นได้
การอยู่กับความเป็นจริงและยอมรับความเป็นจริงจึงไม่ทำให้เครียด ไม่ต้องทุกข์
แต่มิใช่ว่าจะต้องยอมจำนนต่อปัญหาที่เกิดขึ้น หากรู้ว่าเส้นทางที่จะไปรถติด ก็เผื่อเวลาเดินทางให้มากขึ้นหรือไปเส้นทางอื่นที่รถไม่ติด แต่ถ้ารถยังติดก็ยอมรับความเป็นจริงและหาวิธีปรับเปลี่ยนแก้ปัญหาไปเรื่อย ๆ
ที่มา :
หนังสือ “พาใจไปพบสุข” สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ (https://www.naiin.com/product/detail/18595)
หนังสือ “ธรรมะจาก พระอาจารย์ชาญชัย อธิปัญโญ” สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ (https://www.naiin.com/product/detail/25273)
Photo by Scott Evans on Unsplash
บทความน่าสนใจ
แก้กรรมด้วยตัวเอง ธรรมะจาก หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ
ดับ “ตัวกู” ได้ย่อมหมดทุกข์ ธรรมะจาก พระไพศาล วิสาโล
“ความตายเป็นเรื่องมงคล” ธรรมะจาก หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
“สรรพคุณของกรรมฐาน” ธรรมะจาก หลวงปู่บุดดา ถาวโร
“สมาธิแก้ได้ทุกปัญหา” ธรรมะจาก พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)