ไม่มีน้ำตาจากปัตตานี เปิดเรื่องจริงอันเจ็บปวดของหญิง ชายแดนใต้
ภาพสามีถูกยิงตายคาที่ในรถกระบะ เนื้อตัวเต็มไปด้วยเลือดยังติดอยู่ในความทรงจำของฉันไม่เคยจางหาย แต่ที่ทำให้ฉันหวาดกลัวยิ่งกว่าคือ การที่ลูกเล็ก ๆ อีก 3 คนก็อยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย…เด็กน้อยที่เปรียบเหมือนผ้าขาว ฉันไม่อาจล่วงรู้เลยว่า พวกเขาจะจดจำความรุนแรงที่เกิดขึ้นใน ชายแดนใต้ วันนั้นอย่างไรบ้าง
เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นวันแล้ววันเล่าจนกลายเป็นเรื่องชาชิน ฉันเองไม่เคยคิดว่าเหตุการณ์ร้าย ๆ จะเกิดขึ้นกับครอบครัวของเรา ที่ประกอบไปด้วยพ่อ แม่ และลูก ๆ อีก 4 คน เพราะฉันมักจะคิดว่า “เราไม่เกี่ยวอะไรเลย เราก็ทำมาหากินของเรา”แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น!
ความจริงแล้วฉันเป็นคนไทยพุทธที่เกิดและเติบโตในจังหวัดขอนแก่น ด้วยความยากจน หลังเรียนจบ ป. 6 จึงต้องไปหางานทำที่กรุงเทพฯ ฉันได้งานรับจ้างเป็นพี่เลี้ยงเด็กและเป็นคนงานในโรงงานผลิตที่นอน หลังมีลูกคนแรกได้ไม่นานฉันก็ตัดสินใจหย่าขาดจากสามีและตั้งหน้าตั้งตาเลี้ยงลูกสาว (น้องปอนด์) ตามลำพัง จนวันหนึ่งพี่ชายก็แนะนำให้ฉันรู้จักกับสามีซึ่งเป็นมุสลิมที่ทำงานขายเครื่องเสียงตามบ้าน พบเจอกันไม่กี่ครั้งเขาก็ขอฉันแต่งงานเพราะอยากสร้างครอบครัว
ฉันไม่รู้มาก่อนว่าการนับถือศาสนาอิสลามต้องปฏิบัติตัวอย่างไร แต่ก็ตอบตกลงโดยไม่ลังเลใจ
หลังใช้ชีวิตคู่ด้วยกันได้ไม่นาน สามีก็เปลี่ยนจากการขายเครื่องเสียงมาเป็นลูกจ้างในฟาร์มเลี้ยงนกเขาแถวรามอินทรา ทำได้ราวปีกว่า ๆ เจ้านายก็สนับสนุนให้ไปเปิดฟาร์มเลี้ยงนกเขาที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา
และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ที่ฉันไม่มีวันลืม…
เราสองคนมีความฝันที่จะสร้างครอบครัวที่มีความสุขด้วยกัน สามีอายุมากกว่าฉันถึง 21 ปี เขามีความเป็นผู้ใหญ่ จิตใจโอบอ้อมอารี ไปอยู่ที่ไหนใครก็รัก หลังแต่งงานฉันได้ปฏิบัติตนตามหลักศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด ละหมาดวันละ 5 เวลา และปฏิญาณตนว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์และนบีมุฮัมมัดซึ่งเป็นศาสนทูตของอัลลอฮ์ ฉันใช้ชีวิตกลมกลืนไปกับมุสลิมคนอื่น ๆ ซึ่งดูแลฉันเสมือนเป็นญาติพี่น้อง โดยเฉพาะเจ้าของบ้านเช่าที่เอาใจใส่ครอบครัวของเราเป็นอย่างดี เราใช้พื้นที่บริเวณบ้านเช่าสำหรับเลี้ยงนกเขานับร้อยตัว
ทว่าหลังเกิดเหตุโศกนาฏกรรมที่กรือเซะ ลูกค้าจากกรุงเทพฯ อินโดนีเซียและมาเลเซียที่เคยมาติดต่อซื้อขายนกเขาเริ่มลดลง จนทำให้เราต้องย้ายจากบ้านเช่าหลังเก่าไปอยู่บ้านหลังใหม่ที่ตำบลตะลุโบะซึ่งใกล้ตัวเมืองมากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าเดินทางได้สะดวก แต่ถึงแม้จะย้ายที่แล้ว ลูกค้าก็ยังไม่เพิ่มขึ้น
ฉันซึ่งเป็นแม่บ้าน นอกจากจะทำงานบ้านและดูแลลูก ๆ อีก 4 คนแล้ว ก็ยังต้องช่วยสามีอีกแรงด้วยการทำส้มตำขายหน้าบ้านปรากฏว่าขายดี เราจึงเริ่มขยับขยายไปขายส้มตำที่ตลาดนัดหน้าปอเนาะบาบอเซะซึ่งอยู่ชานเมืองของจังหวัดปัตตานี มันเป็นการไปขายครั้งแรกของฉัน และเป็นครั้งสุดท้ายที่ฉันได้เห็นหน้าสามีผู้เป็นที่รัก
บ่ายสามของวันนั้น สามีช่วยฉันเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือ เขาพูดให้กำลังใจฉันว่า “เราต้องขายดีและขายหมดแน่ ๆ เลยเจ๊ะ” สามีมักจะเรียกฉันว่า “เจ๊ะ” เป็นภาษาอิสลามแทนคำว่าแม่ ส่วนฉันก็มักจะเรียกสามีว่า “อาเบ๊าะ” แทนคำว่าพ่อ ตอนนั้นน้องปอนด์ ลูกสาวคนโตอายุ 11 ขวบ น้องมัซ ลูกสาวคนถัดมาอายุ 7 ขวบ น้องธัน ลูกชายคนเดียวอายุ 4 ขวบ และน้องดา ลูกสาวคนเล็กอายุ 2 ขวบ
เราต่างช่วยกันขนของขึ้นรถไปขายที่ตลาด ขนของเสร็จเขาก็กลับบ้านไปกับลูก ๆ ฉันไม่คิดเลยว่าการกลับบ้านของเขาครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่เราจะได้เจอกัน…ไม่มีคำพูด ไม่มีคำลา ไม่มีสัญญาณใด ๆ บอกให้รู้สักนิดว่าเขากำลังจะจากฉันกับลูกไป
หลังขายของได้พักหนึ่ง น้องปอนด์ก็ตามมาช่วย พอฉันถามว่าใครมาส่ง ลูกก็ตอบว่า “อาเบ๊าะมาส่งและจะไปทำธุระต่อน้องก็ไปกันหมดเลย” ตอนนั้นฉันไม่คิดอะไรและยังขายส้มตำไปเรื่อย ๆ จนราวหกโมงครึ่ง ฉันเริ่มรับรู้ถึงความผิดปกติเพราะวันนี้เป็นวันแรกที่ร้านเล็ก ๆ มุงจากของเรายังไม่ได้ต่อไฟฟ้าเข้าร้าน สามีบอกว่าจะมาจัดการให้ก่อนพระอาทิตย์ตกดิน แต่นี่เริ่มมืดแล้วเขาก็ยังไม่มา ฉันเริ่มรู้สึกกระวนกระวายใจ แต่ก็ยังไม่นึกว่าจะเกิดเหตุการณ์ร้ายขนาดนี้ขึ้นกับเขา
เพียงครู่เดียวมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งก็มาจอดที่หน้าร้าน มีน้องมัซนั่งซ้อนท้ายมาด้วย ลูกสาวหน้าซีด ตาแดงเหมือนกำลังจะร้องไห้
“อาเบ๊าะขับรถชนต้นไม้ ถูกยิงด้วย” ลูกสาวเล่าเหตุการณ์ให้ฟังตามประสาเด็กแต่นาทีนั้นหัวใจของฉันหล่นวูบไปถึงตาตุ่ม นึกห่วงลูกคนอื่น ๆ ขึ้นมาทันที
“แล้วน้องอยู่ไหน” ฉันรีบถามหาลูกคนอื่น ๆ ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ
“มีคนไปส่งน้องที่บ้านแล้ว” น้องมัซตอบด้วยน้ำเสียงที่ยังตื่นตระหนกอยู่
ตอนนั้นฉันรู้สึกเหมือนหัวใจหยุดเต้นสมองหยุดทำงาน เห็นรถตำรวจและรถป่อเต็กตึ๊งวิ่งผ่านหน้าฉันอย่างเร่งรีบไปยังที่เกิดเหตุ หลังจากนั้นฉันก็ขอให้ลูกค้าที่มาซื้อส้มตำขับรถพาฉันไปยังที่เกิดเหตุทันทีมีคนมุงดูเยอะมาก ผู้คนต่างวิพากษ์วิจารณ์ไปต่าง ๆ นานา เสียงดังฟังไม่ได้ศัพท์จนฉันหูอื้อตาลายไปหมด
ทันทีที่เห็นร่างไร้วิญญาณของสามีผู้เป็นที่รักนอนจมกองเลือดอยู่ ฉันทรุดตัวลงนั่งอย่างหมดเรี่ยวแรง ไม่มีแม้น้ำตาสักหยด ร่างของเขาถูกยิงหลายสิบนัดกระสุนถูกจุดสำคัญของร่างกาย เนื้อตัวของเขาเต็มไปด้วยเลือด หลายคนที่รู้จักเขาร่ำไห้ด้วยความสงสาร ฉันซึ่งแต่แรกร้องไห้ไม่ออก ได้แต่มึนงง เมื่อได้ยินเสียงร้องไห้ของคนอื่นก็เริ่มปล่อยโฮออกมา
ต่อไปนี้เรา 5 คนแม่ลูกต้องอยู่กันตามลำพัง ลูก ๆ จะกลายเป็นเด็กกำพร้าพ่อไม่ต่างกับฉันในวัยเยาว์ แต่สิ่งที่ฉันกังวลใจยิ่งกว่าคือ การที่ลูก ๆ ทั้งสามคน น้องมัซน้องธัน และน้องดาอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย แม้พวกเขาจะรอดชีวิตมาได้ แต่ฉันไม่อาจแน่ใจได้เลยว่า เหตุการณ์ครั้งนี้จะไม่สร้างบาดแผลฝังลึกในจิตใจของพวกเขา
น้องมัซเล่าว่า คนร้ายเป็นเด็กหนุ่ม 4 คน ขับมอเตอร์ไซค์มาสองคัน พวกเขาไม่ได้สวมหมวกหรือปิดบังหน้าตาแต่อย่างใด หลังจากประกบยิงสามีของฉันจนเสียชีวิตและรถเสียหลักไปชนต้นไม้แล้ว พวกเขาก็ยังเดินอย่างใจเย็นมารื้อค้นข้าวของในรถในขณะที่ลูกของฉันพยายามร้องขอชีวิต
“พี่อย่าทำอะไรหนูเลยนะ…” น้องมัซเล่าให้ฉันฟังด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ โชคดีที่เด็ก ๆ ไม่ได้รับบาดเจ็บและไม่ถูกทำร้าย น้องมัซเล่าว่า วัยรุ่นคนหนึ่งที่เป็นคนร้ายพูดว่า “ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร” พวกเขาปล่อยชีวิตลูกของฉัน แต่กลับพรากชีวิตพ่อของพวกเขาไป เด็ก ๆ ช็อกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะธัน ลูกชายคนเดียวที่เนื้อตัวเปรอะเปื้อนไปด้วยเลือด เขาจดจำเรื่องราวต่าง ๆ ฝังใจ จนทำให้สะดุ้งตื่นขึ้นมาร้องไห้และมีความคิดอยากแก้แค้นคนที่มาฆ่าพ่อ เวลาเห็นปืนเด็กเล่น เขาจะขอร้องให้ฉันซื้อให้ แต่ฉันจะบอกลูกว่า “เราจะไปยิงคนอื่นไม่ได้ ไม่ดี ถ้าใครทำผิดเราต้องไปจับเขา ไม่ใช่ไปยิงเขา พ่อเคยเป็นตำรวจมาก่อน พ่อเป็นตัวอย่างที่ดีนะลูก”
ฉันคิดว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สามีโดนทำร้ายจนถึงชีวิตอาจมาจากการที่เขาเคยเป็นอดีตตำรวจมาก่อน จึงทำให้คนบางกลุ่มเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในตัวเขา
นับตั้งแต่วันที่สูญเสียสามี ฉันไม่เคยคิดอาฆาตพยาบาทใครเลยแม้แต่น้อย เพราะเข้าใจสถานการณ์ดีว่า “ไม่ใช่มีแค่เราที่เจอเหตุการณ์แบบนี้” ห่วงก็แต่ลูก ๆ เท่านั้น
ตอนเกิดเหตุใหม่ ๆ ไม่มีใครหรือหน่วยงานไหนเข้ามาเยียวยาจิตใจของพวกเราเลย เงินช่วยเหลือที่ได้รับเป็นเพียงแค่วัตถุ แต่สิ่งที่พวกเราใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการจริง ๆ คือการเยียวยาจิตใจ
หลังงานศพผ่านไป ภาพของเด็กน้อยที่นอนหลับอยู่เคียงข้างทำให้ฉันคิดว่า ถ้าฉันอ่อนแอแล้วลูกจะอยู่อย่างไร นี่คือกำลังใจสุดท้ายที่ทำให้ฉันลุกขึ้นมาและพร้อมที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าอีกครั้ง
วันนี้จิตใจของฉันเข้มแข็งขึ้นแล้ว ฉันและเพื่อน ๆ ที่เป็นหม้ายซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รวมกลุ่มกันทำน้ำพริกและเมี่ยงคำสำเร็จรูปในชื่อ “เซากูน่า” (ZAUQUNA) ซึ่งหมายถึง “รสชาติของเรา” นำไปวางขายตามแหล่งท่องเที่ยวในตัวเมืองปัตตานี และนำไปออกร้านตามสถานที่จัดงานประชุมรวมทั้งผลิตตามคำสั่งของลูกค้าด้วย เพื่อช่วยกันสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้กับตัวเอง
ล่าสุดเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาฉันได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 ของผู้หญิงจากชายแดนใต้ที่ได้รับรางวัล “สตรีต้นแบบ” จากออกซ์แฟม ประเทศไทย เวลานี้ฉันก้าวข้ามความเจ็บปวดมาได้แล้ว และอยากจะจับมือผู้หญิงอีกหลายคนให้เดินผ่านหมอกควันแห่งความสูญเสียไปด้วยกัน ทุกวันฉันได้แต่เฝ้าวิงวอนขอพรต่อองค์อัลลอฮ์ว่า
“ขอให้เกิดความสงบในพื้นที่แห่งนี้ด้วยเถิด”
ข้อคิดจากพระอาจารย์อานนท์ อัมโรภิกขุ สวนป่าโพธิ์ธรรม จังหวัดพังงา
“แม้จากไปก็เหลือมรดกทางใจทิ้งไว้”
จากเรื่องราวชีวิตข้างต้น สิ่งที่ประสบคือ การสูญเสียคนที่เรารัก เราอาจมั่นใจได้ว่าเรารักเขาแน่นอน แล้วเราแน่ใจไหมว่า คนที่จากไปเขารักเรา ถ้าแน่ใจว่าเขารักเราเราคิดว่าเขาอยากจะฝากอะไรไว้ให้เรา…
ปู่ย่าตายายพ่อแม่ทิ้งมรดกที่เป็นวัตถุไว้ให้ลูกหลานก็จริง แต่มรดกซึ่งสำคัญมากยิ่งกว่าคือ มรดกทางจิตใจ มีทั้งความรัก ความอบอุ่น ความโกรธ ความเคียดแค้นชิงชัง แต่สิ่งที่น่ายินดีคือ คนรับมรดกสามารถเลือกได้ว่าจะเลือกรับมรดกชิ้นไหนความรักหรือความเกลียดชังและขอย้อนกลับไปที่คำถามแรกคือ ถ้าแน่ใจว่าผู้ที่จากไปเขารักเรา ก็เชื่อเถอะว่า มรดกที่เขาทิ้งไว้ให้ย่อมจะเป็นความรัก ความอบอุ่นอย่างที่เขาเคยมีให้ และเราก็จะเป็นผู้ส่งต่อมรดกนี้ให้ลูกหลานต่อไป…สิ่งที่อยากจะบอกคือ โลกของเราอยู่ได้ด้วยความรัก ไม่ใช่ความชัง
ท่านใดสนใจสนับสนุนน้ำพริกกุ้งเสียบน้ำพริกขิงปลาดุกฟู น้ำพริกนรก และเมี่ยงคำสำเร็จรูปเซากูน่า ติดต่อสั่งซื้อได้ที่ คุณอรอุมา โทร. 08-3168-6412
ขอบคุณ คุณซีตีมาเรียม บินเย๊าะ แกนนำเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ที่กรุณาช่วยอำนวยความสะดวก
บทความน่าสนใจ
“แม่ไม่รักผม!” วิธีวางใจ กับประโยคที่แม่คนไหนก็ไม่อยากได้ยิน บทความจากแม่ชีศันสนีย์
” อยู่กับความเป็นจริง ไม่ใช่ความหวัง ” บทความเตือนใจจาก พระชาญชัย อธิปญฺโญ
กฏแห่งกรรม “ยุติธรรม” เสมอ (กรรมตามสนอง)
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต กล่าวถึงบุพเพสันนิวาสในทางพระพุทธศาสนา