วัดพระพุทธบาท

ตามรอยพระบาทยาตรา “องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า” ที่ วัดพระพุทธบาท สระบุรี

ตามรอยพระบาทยาตรา “องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า” ที่ วัดพระพุทธบาท จ.สระบุรี

ย้อนหลังกลับไปเกือบ 2,000 ปี ก่อนที่จะมีการคิดสร้างพระพุทธรูปขึ้นนั้น ชาวพุทธในอินเดียโบราณนิยมใช้ดอกบัว บัลลังก์ ต้นโพธิ์ ฯลฯ แม้กระทั่ง “รูปฝ่าเท้าคู่” (รอยพระพุทธบาท) เป็นสัญลักษณ์แทนองค์สัมมาสัมพุทธเจ้ามาก่อน

ทว่าหลังจากช่างสกุลคันธารราฐสร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นครั้งแรกได้สำเร็จ บรรดาสัญลักษณ์ที่เคยใช้แทนองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าต่างก็ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงตามลำดับ คงเหลือเพียง “รอยพระพุทธบาท” ที่ยังคงมีการสร้างสืบต่อกันมา และมีพัฒนาการรูปแบบแตกต่างออกไปตามกลุ่มวัฒนธรรม

ในดินแดนไทยมีการค้นพบรอยพระพุทธบาทตั้งแต่สมัยทวารวดี สุโขทัย อยุธยา เรื่อยมาจนปัจจุบัน แต่ที่โดดเด่นเป็นที่รู้จักมากที่สุดก็คือ รอยพระพุทธบาท ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จังหวัดสระบุรี

การค้นพบรอยพระพุทธบาท

_MG_6226

ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม มีการส่งคณะสงฆ์จากกรุงศรีอยุธยาไปยังลังกาทวีปเพื่อนมัสการพระพุทธบาท ณ เขาสุมนกูฏ ทว่าครั้นเมื่อเดินทางไปถึง พระสงฆ์ชาวลังกากลับทักท้วงว่า

“เหตุใดจึงต้องเดินทางมาถึงที่นี่ ทั้งที่ดินแดนไทยเองก็เป็นหนึ่งในห้าแห่งที่พบรอยพระพุทธบาท นั่นคือเขาสุวรรณบรรพต ขอให้ลองกลับไปตรวจตราดู”

เมื่อความทราบถึงสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างสูง พระองค์จึงโปรดฯให้ทุกหัวเมืองออกตรวจตราหาเขาสุวรรณบรรพตและรอยพระพุทธบาททันที ไม่นานนักเจ้าเมืองสระบุรีจึงมีหนังสือแจ้งเข้ามาว่า “มีผู้พบรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสุวรรณบรรพต หัวเมืองสระบุรี”

เมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเสด็จไปยังยอดเขานั้น ทรงพบ “รอยเท้าขนาดใหญ่” อยู่จริง เมื่อเห็นว่ารอยเท้านั้นประกอบด้วยลวดลายมงคลตรงกับที่พระสงฆ์ทางลังกาแจ้งไว้ทุกประการ พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริว่า

“ชะรอยจะเป็นรอยพระพุทธบาทที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเคยประทับไว้แต่ครั้งพุทธกาลเมื่อคราวเสด็จมาเผยแพร่คำสอน จึงควรยกย่องสถาปนาให้เป็น พระมหาเจดียสถาน สำหรับสักการะบูชาต่อไป”

จากนั้นสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดเกล้าฯให้สถาปนาอาณาบริเวณโดยรอบเขาสุวรรณบรรพตเป็นเมืองชั้นจัตวา ชื่อว่า “เมืองปรันตปะ” หรือ “เมืองพระพุทธบาท” พร้อมกับมีการออกข้อกำหนดการประพฤติปฏิบัติตนสำหรับประชาชนในเขตพระพุทธบาทโดยเฉพาะ มีบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนอย่างชัดเจน รวมทั้งมีการแต่งตั้งชายฉกรรจ์ทุกคนในเมืองให้เป็น “ขุนโขลน” มีหน้าที่บูชารักษาพระพุทธบาทตั้งแต่เชิงเขาจนถึงพระมณฑป

ด้วยกฎเกณฑ์เหล่านี้ทำให้พระพุทธบาทสระบุรี กลายเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ไปโดยปริยาย

จากนั้นมาพงศาวดารได้ระบุว่า พระมหากษัตริย์ไทยเกือบทุกพระองค์ทรงให้ความเคารพบูชาพระพุทธบาทและเสด็จฯไปนมัสการรอยพระพุทธบาทบ่อยครั้งจนบางรัชสมัยถึงกับจัดอยู่ในราชประเพณีก็มี รอยพระพุทธบาท 5 แห่งตาม คติในลังกาทวีป (ศรีลังกา)

คติในลังกาทวีปเชื่อว่า องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ให้สาธุชนสักการะบูชา 5 แห่ง ได้แก่ เขาสุวรรณมาลิก เขาสุวรรณบรรพต เขาสุมนกูฏ เมืองโยนกบุรี และ หาดในลำน้ำนัมมทานที

ส่วนรอยพระพุทธบาทที่วัดพระพุทธบาท ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเขาสุวรรณบรรพตนั้น ข้อมูลจากกรมศิลปากรระบุว่า

รอยพระพุทธบาทมีความกว้าง 21นิ้ว ยาว 60 นิ้ว ลึก 11 นิ้ว มีลายธรรมจักรอยู่กึ่งกลางพระบาทและลายมงคล108 ประการ แต่ปัจจุบันเห็นลวดลายทั้งหมดได้ไม่ชัดเจน

นมัสการรอยพระพุทธบาท

_MG_6299

มณฑปพระพุทธบาทในวันนี้ยังคงตั้งตระหง่านบนเนินเขาขนาดย่อม มีบันไดขึ้น – ลงทางทิศเหนือและทิศตะวันตก บันไดทิศตะวันตกเป็นบันไดนาค แบ่งเป็น 3 ช่อง* ทอดตัวยาวกว่า 50 ขั้น

มณฑปพระพุทธบาทสร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีเครื่องหลังคาสง่างามแบบปราสาทยอดเดี่ยว มีประตูทางเข้าด้านตะวันออก 2 ทางและตะวันตก 2 ทาง การตกแต่งภายในมณฑปยังคงสง่างามสมดังที่ สุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บรรยายไว้ใน “นิราศพระบาท” (แต่งขึ้นราว พ.ศ. 2350) ว่า

“มณฑปน้อยสวมรอยพระบาทนั้น                     ล้วนสุวรรณแจ่มแจ้งแสงอร่าม
เพดานดาดลาดล้วนกระจกงาม                         พระเพลิงพลามพร่างพรางสว่างพราย
ตาข่ายแก้วปักกรองเป็นกรวยห้อย                     ระย้าย้อยแวววามอร่ามฉาย
หอมควันธูปเทียนตระหลบอยู่อบอาย                 ฟุ้งกระจายรื่นรื่นทั้งห้องทอง”

ปัจจุบันทางวัดไม่อนุญาตให้จุดธูปเทียนบูชาในบริเวณมณฑป เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับบุษบกครอบพระพุทธบาท รอยพระพุทธบาท รวมทั้งเสื่อที่สานด้วยเส้นเงินซึ่งปูพื้นภายในมณฑปโดยตลอด

พุทธศาสนิกชนสามารถสักการะด้วยการกราบไหว้ ปิดทองคำเปลวที่องค์พระพุทธบาทได้อย่างใกล้ชิด โดยพึงละเว้นการยืน การแสดงกิริยาไม่แสดงความเคารพบริเวณรอบพระพุทธบาท

นมัสการพระเขี้ยวแก้ว

_MG_6233

“วิหารคลังบน” เป็นอาคารแห่งเดียวในวัดพระพุทธบาทที่มีจิตรกรรมฝาผนังและคำจารึกวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์อย่างละเอียด เช่น การธุดงค์ การปลงอสุภะ และไม่แน่ว่าภาพเหล่านี้อาจเป็นประวัติส่วนหนึ่งของสมเด็จพระพุฒาจารย์ พุทธสรมหาเถระ วัดอนงคาราม องค์ประธานบูรณะวัดพระพุทธบาทเมื่อ พ.ศ. 2497 ก็เป็นได้

นอกจากนี้วิหารคลังบนยังมีสถูปจำลองประดิษฐาน “พระเขี้ยวแก้ว” หรือพระทนต์องค์สัมมา-สัมพุทธเจ้าอีกด้วย ทั้งนี้ในวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี จะมีประเพณีแห่พระเขี้ยวแก้วออกจากวิหารคลังบนไปรอบๆ เขตเทศบาลพระพุทธบาท เพราะเชื่อว่าหากมีการแห่พระเขี้ยวแก้วขึ้นแล้ว พระเขี้ยวแก้วจะดลบันดาลให้ประชาชนชาวเมืองพระพุทธบาทมีความร่มเย็นเป็นสุขในชีวิต

วัดพระพุทธบาทยังมีสถานที่น่าสนใจอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “มกุฏพันธนเจดีย์”พระเจดีย์ทรงระฆังที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดฯให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ “วิหารป่าเลไลยก์” ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาทขนาดใหญ่และพระพุทธรูปนอน รวมทั้ง “พระพุทธฉายปางป่าเลไลยก์” บนยอดเขาที่สูงที่สุดของเขตวัดพระพุทธบาท

แม้ว่าวัดพระพุทธบาท สระบุรี ในปัจจุบันอาจไม่ใช่ปลายทางแห่งการแสวงบุญเช่นเก่าก่อน แต่ตราบใดที่ความเชื่อเรื่องเส้นทางยาตราแห่งองค์สัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่จางหาย พลังแห่งศรัทธาย่อมนำพาชาวพุทธ…กลับมานมัสการรอยพระบาทยาตราอันศักดิ์สิทธิ์ด้วยเช่นกัน

*เหตุที่บันไดนาคแบ่งออกเป็น 3 ช่องนั้น เป็นเพราะรัชกาลที่ 5 โปรดฯให้ต่อเติมขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับพุทธประวัติตอนพระพุทธองค์เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ครั้งนั้นพระอินทร์ได้เนรมิตบันไดทิพย์ 3 ชนิดได้แก่ บันไดเงิน ทอง และแก้ว ขึ้นเพื่อส่งเสด็จ โดยพระพุทธองค์เสด็จลงทางบันไดแก้วที่อยู่กึ่งกลาง

เรื่อง วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์ / ภาพ วรวุฒิ วิชาธร

 

Secret คือแรงบันดาลใจ
สั่งซื้อนิตยสารหรือสมัครสมาชิก Secret ได้ที่ 0-2423-9889
ทาง Naiin.com : https://www.naiin.com/magazines/title/SC/

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.