หน่วยทันตกรรมพระราชทาน
ที่มาของคำว่า หน่วยทันตกรรมพระราชทาน …. ย้อนกลับไปในอดีต สมัยที่ทั้งประเทศไทยยังมีทันตแพทย์เพียง 2,600 คน และในต่างจังหวัดจะมีทันตแพทย์ เฉพาะในโรงพยาบาล ประจำจังหวัดบางแห่งเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเล็งเห็นถึง ความทุกข์ร้อนของประชาชน ที่ต้องทนทรมานจากอาการปวดฟัน โดยไม่มีทันตแพทย์คอยดูแลจึงตรัสกับ ศาสตราจารย์ พันโท สี สิริสิงห ทันตแพทย์ประจำพระองค์ ว่า
“ฉันต้องการให้หมอช่วยไปดูแล บำบัดทุกข์ให้แก่เด็กนักเรียน และประชาชนที่อยู่ห่างไกลหมอ” และได้พระราชทานคำแนะนำว่า
“การจะให้ราษฎรที่ยากจน ที่มีปัญหาเรื่องฟันหยุดการทำนาทำไร่ เดินทางไปหาหมอนั้น เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง ในทางตรงกันข้าม หากเป็นการให้บริการเคลื่อนที่ไปสู่ประชาชน ก็จะเป็นการแก้ปัญหาได้ทางหนึ่ง”
จึงเป็นจุดเริ่มต้นของหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มุ่งออกให้บริการทางทันตกรรม แก่ประชาชนที่ยากจนและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล
รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิงวาสนา พัฒนพีระเดช เล่าว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในการจัดสร้างรถยนต์ทำฟันเคลื่อนที่หนึ่งคัน เพื่อใช้เป็นหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ส่วนพระองค์ และพระองค์ก็ทรงเจิมรถทันตกรรมพระราชทานคันแรก เพื่อเป็นสิริมงคล เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2513 ณพระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์”
ภายในมีเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็น เช่น ยูนิตทำฟันเครื่องเอกซเรย์ เครื่องปรับอากาศ ถังบรรจุน้ำ โดยรถจะวิ่งไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ เมื่อถึงสถานที่ที่เหมาะสมก็จะจอดและให้บริการ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นโรงเรียนหรือสถานที่ที่ทางอำเภอจัดเตรียมไว้
อาจารย์กล่าวต่อไปอีกว่า หน่วยทันตกรรมพระราชทานฯเริ่มออกหน่วยครั้งแรกที่อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2513 โดยมีทันตแพทย์อาสาสมัครไปครั้งละ 3 – 4 คน
เมื่อมีอาสาสมัครมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ เพิ่มเพื่อซื้อเครื่องมือทันตกรรมเพิ่มเติม และบางส่วนก็มีผู้ทูลเกล้าฯถวาย
โดยมีทันตแพทย์ ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ร่วมออกหน่วยครั้งหนึ่งกว่า 100 คน และยังมีเจ้าหน้าที่แล็บ ผู้ช่วยทันตแพทย์ ที่เป็นอาสาสมัครอีกประมาณ 50 คน เจ้าหน้าที่ทุกคนต่างเสียสละมาทำงานนี้ด้วยใจ เพราะไม่ได้เบี้ยเลี้ยงหรือค่าตอบแทนใด ๆ การกินอยู่ก็เรียบง่ายที่สุด ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชน ได้รับบริการทางทันตกรรมอย่างครบวงจร
ในปัจจุบันนี้มูลนิธิแพทย์ อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือที่รู้จักกันในนาม พอ.สว.ได้มาร่วมกับ โครงการหน่วยทันตกรรมพระราชทาน เคลื่อนที่ และได้ขยายวงการรักษาพยาบาลออกไป อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น