โลกทุนนิยม กับ ความสุขแบบชาวพุทธ โดย ท่าน ว.วชิรเมธี
แม้ว่าปัจจุบันโลกจะพัฒนาก้าวหน้าไปมาก แต่ดูเหมือนว่าความสะดวกสบายต่าง ๆ ไม่เพียงไม่ช่วยให้ความทุกข์ของมนุษย์ลดลง แต่ยังกลับทำให้ “ความทุกข์” เพิ่มพูนขึ้นจากความไม่มี ไม่พอ เมื่อนิตยสาร ซีเคร็ต ได้ไปกราบพระอาจารย์ ว.วชิรเมธี ที่ไร่เชิญตะวัน จังหวัดเชียงราย จึงเป็นโอกาสที่ได้ขอคำแนะนำถึงการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขท่ามกลางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
พระอาจารย์คิดอย่างไรกับการดำเนินชีวิตของผู้คนในปัจจุบันคะ
โลกในปัจจุบันนี้ถูกผลักดันด้วยความโลภ ทำให้เกิดความอยากที่มากเกินความจำเป็น บริโภคเกินจำเป็น และนำทรัพยากรมาใช้เกินจำเป็น ผลที่ได้ก็คือ คนเราบริโภคมากขึ้น แต่ความสุขนั้นกลับไม่ได้มากขึ้นตามอัตราการบริโภค
ปัจจุบันนี้เรามีมาตรฐานการครองชีพสูง แต่มีคุณภาพชีวิตต่ำ มาตรฐานการครองชีพสูงนี้หมายความว่า เราต้องใช้เงินจำนวนมากไปกับการบริโภคและการประกอบอาชีพ สมัยก่อนถ้าหากเรานำเงิน 100 บาทไปซื้อของมักเหลือเงินกลับมา แต่ปัจจุบันถ้าหากเรานำเงินจำนวนเท่ากันนี้ออกไปซื้อของอาจไม่เหลือเงินกลับมาเลย เห็นไหมว่าเงินทำอะไรได้น้อยลงมาก
เมื่อเราเห็นรถลัมโบร์กินีและรถแท็กซี่จอดเคียงกันบนทางด่วนยามรถติด ถ้าหากมองในแง่มาตรฐานการครองชีพแล้ว คนขับรถลัมโบร์กินีต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนมากในขณะที่คนขับรถแท็กซี่จ่ายน้อยกว่า แต่คุณภาพชีวิตกลับเท่ากัน กล่าวคือ คนขับรถทั้งสองต่างก็ติดอยู่บนทางด่วนเหมือนกันไปไหนไม่ได้เหมือนกัน และอยู่ในอากาศที่เป็นมลพิษเหมือนกัน อาตมาจึงอยากเตือนมนุษย์บริโภคนิยมทั้งหลายว่า ในขณะที่เราแสวงหาความสุข ควรคำนึงถึงคุณภาพของความสุขด้วย เพราะการไม่คำนึงถึงคุณภาพของความสุข อาจนำมาซึ่งความทุกข์ได้
คนในยุคปัจจุบันมีลักษณะการดำเนินชีวิตอย่างสุดโต่งอยู่อย่างหนึ่งคือ งานสัมฤทธิ์แต่ชีวิตไม่รื่นรมย์ หรืองานได้ผล แต่คนไม่เป็นสุข ถ้าว่ากันตามหลักเศรษฐศาสตร์รัฐต้องกระตุ้นให้เกิดการบริโภค เพื่อให้บริษัทที่ผลิตสินค้าขายสินค้าได้และมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้วนำเงินไปจ้างงาน ซึ่งจะทำให้คนมีรายได้มาซื้อสินค้า หมุนเวียนกันแบบนี้
เราไม่จำเป็นต้องเชื่อเศรษฐศาสตร์ไปเสียทุกเรื่อง ปัจจุบันตรรกะหลายประการในทางเศรษฐศาสตร์เริ่มล้าสมัย และการที่โลกของเราวุ่นวายอย่างเช่นทุกวันนี้เป็นผลมาจากตรรกะทางเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่ล้าสมัย ซึ่งกระตุ้นให้เกิดความโลภโมโทสันอันเกินความจำเป็น ทำให้เราอยากเกินความจำเป็น ผลิตเกินจำเป็น บริโภคเกินจำเป็น ทรัพยากรก็ถูกนำมาใช้เกินความจำเป็น การฟังนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักทุกเรื่องก็อาจก่อให้เกิดปัญหา
สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ประชากรในโลกเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ในอนาคตอันใกล้นี้อาจมีมนุษย์มากกว่า 9 พันล้านคน ดังนั้นเขาจึงได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาเอาไว้ว่า เราจะต้องหาดาวดวงใหม่เพื่อรองรับมนุษยชาติที่เพิ่มมากขึ้น แต่อาตมากลับไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะถ้าหากเราค้นพบดาวดวงใหม่ แล้วอพยพมนุษย์ที่มีลักษณะนิสัยเช่นในปัจจุบันไปอยู่ ไม่เกิน 100 ปีดาวดวงนั้นก็จะพินาศเหมือนโลกใบนี้ ฉะนั้นการแก้ปัญหาจึงไม่ใช่การค้นหาดาวดวงใหม่ แต่เป็นการคิดหาวิธีทำให้มนุษย์ตื่นรู้ แล้วเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการใช้ชีวิต และวิธีการบริโภคเสียก่อน เราไม่ควรเปลี่ยนแหล่งที่อยู่ เพราะโลกของเราน่าอยู่ที่สุดแล้ว สิ่งที่เราควรเปลี่ยนคือนิสัยของมนุษย์ที่ตะกละตะกลาม โลภโมโทสันไม่อิ่มไม่พอ สิ่งที่เราควรเคลื่อนย้ายไม่ใช่การเคลื่อนย้ายมนุษย์ไปสู่ดาวดวงใหม่ แต่ควรเคลื่อนย้ายนิสัยที่ไม่ดีของมนุษย์ให้ออกไปจากตัวของมนุษย์ให้ได้มากที่สุดต่างหาก
ถ้าเช่นนั้นเราควรทำอย่างไร แล้วศาสนาพุทธได้สอนเรื่องเศรษฐศาสตร์ไว้หรือไม่คะ
เศรษฐศาสตร์บอกว่า มนุษย์มีความต้องการที่ไม่สิ้นสุด พุทธศาสนาเองก็เห็นเป็นเช่นนั้น แต่เป็นในแง่ของการรู้จักธรรมชาติของมนุษย์ ทั้งเศรษฐศาสตร์กระแสหลักแบบเดิมและศาสนาพุทธต่างก็เห็นตรงกัน แต่ปฏิบัติต่อความอยากที่ไร้ขีดจำกัดนั้นต่างกัน
ในทางเศรษฐศาสตร์ เมื่อเห็นว่าจุดอ่อนของมนุษย์คือความอยากอันไร้ขีดจำกัด ก็กระตุ้นให้เกิดความอยากแล้วชักจูงให้ซื้อ อีกทั้งยังทำให้เชื่อว่าผู้ที่บริโภคมากจะมีความสุขมาก แต่ในทางพุทธเศรษฐศาสตร์กลับมองว่ามนุษย์ไม่ควรวิ่งตามความอยากอันไร้ขีดจำกัด เพราะแม่น้ำแห่งความอยากนั้นคือมหาสมุทรที่เติมอย่างไรก็ไม่มีวันเต็ม พระพุทธองค์จึงทรงบอกว่า เราควรอยู่เหนือความอยากอย่างสิ้นเชิง
เศรษฐศาสตร์กระแสหลักสอนว่า อยากอย่างเสรี เป็นเรื่องที่ดีที่สุด ในขณะที่พุทธเศรษฐศาสตร์จะบอกว่า เสรีจากความอยากต่างหากจึงจะดีที่สุด เห็นไหมว่า พุทธเศรษฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์กระแสหลักต่างก็รู้จักธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างดีแต่มีวิธีปฏิบัติที่ต่างกัน พุทธศาสนาไม่ได้ห้ามเราบริโภค แต่ให้บริโภคอย่างมีสติ ยิ่งโลกเข้าสู่ยุคทุนนิยมบริโภค พุทธศาสนาก็ยิ่งหมดความสำคัญ เรามักถูกกระตุ้นให้อยากแล้วก็ถูกชักชวนให้ซื้อหรือบริโภค
สำหรับอาตมาแล้ว ยิ่งโลกเข้าสู่ยุคทุนนิยม ยิ่งคนถูกกระตุ้นให้ซื้อและถูกกระตุ้นให้ขาดสติมากเท่าใด พระพุทธศาสนาก็ยิ่งมีความจำเป็นมากเท่านั้น เพราะแก่นของพระพุทธศาสนาคือการสอนให้ชาวโลกหมั่นเจริญสติ ฉะนั้นสองสิ่งนี้จึงไม่ใช่เส้นขนาน แต่กลับเป็นสิ่งที่ควรดำเนินไปควบคู่และกำกับซึ่งกันและกัน หากเปรียบเทียบเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่กระตุ้นให้คนเกิดความอยากเป็นเหมือนกับรถที่มีแต่คันเร่งไม่มีเบรก พุทธศาสนาก็เป็นเสมือนการติดเบรกให้กับรถที่ชื่อทุนนิยมนั่นเอง
ถ้าอย่างนั้นเราควรปฏิบัติตนอย่างไรไม่ให้ไหลไปตามกระแสของทุนนิยมกระแสหลักคะ
ผู้บริโภคควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการบริโภคว่าไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้คนมีความสุข เศรษฐศาสตร์กระแสหลักมักจะสอนเราว่า การบริโภคมาก ๆ คือความสุขมาก แต่ความสุขที่แท้จริงนั้นควรมาพร้อมกับความอิ่มและการรู้จักพอ แต่ในปัจจุบันเรามักต้องการสิ่งใหม่อยู่เรื่อย ๆ ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ใช่ความสุข หากแต่เป็นความสำราญใจในระดับเปลือกผิวของชีวิต ความสุขที่แท้จริงนั้นจะมาพร้อมกับอิสรภาพและความรู้สึกพอ
ดังนั้นลองกลับมาถามตัวเองดูว่าแท้จริงแล้วมนุษย์มีความสุขเพียงเพราะบริโภคเท่านั้นหรือ หากจะตอบตามหลักพุทธเศรษฐศาสตร์ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่ เพราะในบางกรณีเราไม่ต้องบริโภคอะไรก็มีความสุขได้ เช่น เวลาที่เราปฏิบัติธรรมแล้วไม่ได้รับประทานอาหารเย็น เราทำวัตรสวดมนต์ แต่กลับรู้สึกอิ่ม รู้สึกสำราญบานใจและมีความสุขทั้ง ๆ ที่เราแทบไม่บริโภคหรือบริโภคเพียงน้อยนิด ฉะนั้นตรรกะการบริโภคมาก มีความสุขมากนั้นไม่จริง ในบางกรณีต่อให้เราไม่บริโภคก็มีความสุขได้
หลักปฏิบัติที่สองคือ เราต้องส่งเสริมการบริโภคอย่างมีสติ ทุกวันนี้มนุษย์ถูกกระตุ้นให้บริโภคอย่างขาดสติ ยิ่งบริโภคอย่างขาดสติมากเท่าใด คนที่อยู่ในภาคธุรกิจก็ยิ่งชอบมากเท่านั้น เพราะยิ่งเราขาดสติกำไรของเขาก็ยิ่งมากขึ้น แต่แท้ที่จริงแล้วการทำเช่นนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีเลย เพราะผู้ค้าก็ต้องค้าขายกับลูกค้าที่ด้อยคุณภาพ แต่ถ้าหากผู้บริโภคมีสติ ก็จะทำให้ธุรกิจทุกอย่างกลับไปสู่ความถูกต้องเอง และนี่ก็เป็นเรื่องที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักรู้ จึงเกิดเป็นธรรมาภิบาล คือมีการเรียกร้องให้องค์กรธุรกิจต่าง ๆ สร้างธรรมาภิบาลขึ้นมากำกับการทำธุรกิจ ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะอยู่ร่วมกันด้วยความหลอกลวง
คนทั่วไปย่อมอยากมีบ้าน มีรถ ซึ่งกลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตปัจจุบันไปแล้ว อย่างนี้เรียกว่าอยากมากไปหรือไม่คะ
สำหรับคนที่ต้องการมีบ้านหรือรถควรตั้งความต้องการบนพื้นฐานของความจำเป็นที่แท้จริง ไม่ใช่ต้องการเพราะอยากเอาชนะ เพื่อแสดงฐานะทางการเงิน เพื่อชดเชยปมในชีวิต หรือเพื่ออวดอ้าง ไม่เช่นนั้นการมีบ้านหรือรถก็จะกลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้นทันที
มนุษย์ทุกคนล้วนแล้วแต่มีความอยากเป็นพื้นฐาน และเราต่างก็มีเสรีภาพในความอยาก แต่ความอยากของท่านทั้งหลายมีคุณภาพหรือไม่นั้น พระพุทธศาสนาสามารถทำได้เพียงชี้แนะว่า 1. คุณมีสิทธิ์ที่จะไล่ตามความอยาก 2. คุณสามารถพัฒนาความอยากจากความอยากที่อิงสัญชาตญาณให้กลายเป็นความอยากที่อิงสติปัญญาได้ หรือ 3. คุณจะเลือกเป็นอิสระจากความอยากเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าความอยากนั้นอิงกิเลสหรือปัญญา
ลองพิจารณาดูว่า สิ่งที่เราอยากได้นั้นจำเป็นต่อตัวเราไหม เมื่อได้มาแล้วเรามีความสุขหรือไม่ สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยนั้นความอยากอันเกิดจากกิเลสอาจทำให้คุณเบียดเบียนตนเองจนนำไปสู่การกระทำผิดต่าง ๆ เพื่อสนองความสุขที่ไม่มีคุณภาพ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนวิธีที่จะทำให้มีความสุขเอาไว้ว่า อย่านำทุกข์มาทับถมตนเองที่ไม่มีทุกข์ แสวงหาความสุขที่ชอบธรรม ไม่หลงติดในความสุขที่ชอบธรรม และเพียรพัฒนาจิตให้พ้นทุกข์
มีธรรมะข้อไหนที่ช่วยให้ควบคุมความอยากได้บ้างไหมคะ
เมื่อความอยากเกิดขึ้น ทางเดียวที่จะสยบได้ก็คือ ปัญญา แต่ถ้าหากเราปล่อยให้ความอยากอยู่เหนือเราได้ แสดงว่าพัฒนาการทางปัญญาของเรายังไม่สูง มนุษย์ที่เกิดมาพร้อมกับความอยาก ใช้ความอยากเป็นแรงผลักดัน และตายไปพร้อมกับความอยาก คือมนุษย์ที่ด้อยพัฒนามาก เราเกิดมาพร้อมกับความอยากก็จริง แต่ไม่จำเป็นต้องตายไปพร้อมกับมัน เราสามารถพัฒนาตนเองให้มีความอยากในทางที่ดี เช่น ความอยากเชิงปัญญาและพัฒนาจนกระทั่งหลุดพ้น และนี่คือทางสายกลาง ถ้าหากเราพัฒนาปัญญาของเราแล้ว สิ่งต่าง ๆ ก็จะหลอกและกระตุ้นเราไม่ได้ ค่านิยมจอมปลอมต่าง ๆ ก็ผลักไสเราไม่ได้ เราจะมีปัญญาเป็นของตัวเอง เราจะสามารถสร้างมาตรฐานการดำเนินชีวิตด้วยตัวเองได้ โดยที่เราไม่ต้องไปตามกระแสใคร
ฉะนั้นปัญญาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องได้รับการพัฒนา และเมื่อพัฒนาได้ เราก็จะรู้เท่าทันว่าสิ่งใดคือสิ่งจำเป็นต่อชีวิตของเราและอะไรที่เป็นเพียงอลังการหรือองค์ประกอบของชีวิตซึ่งมีก็ดีไม่มีก็ได้ มนุษย์เราทุกวันนี้ถูกดึงให้ติดอยู่กับอลังการ เช่น อุปกรณ์แก็ดเจ็ตเครื่องประดับเปลือกผิวของมนุษย์ซึ่งเราคิดว่าดีเลิศ ฉะนั้นถ้าเรามีปัญญามากขึ้น เราจะกลายเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่แท้จริง เราจะเลือกเป็นผู้ใช้ชีวิต ไม่ใช่ผู้มีชีวิตที่ถูกใช้
ที่มา นิตยสาร Secret
เรื่อง กองบรรณาธิการ
ภาพ วรวุฒิ วิชาธร
บทความน่าสนใจ