2 ไอเดีย “ เปลี่ยนตัวเอง ” รับปีใหม่ New Year New You
ช่วงปีใหม่ หลายคนเห็นว่าเป็นฤกษ์งามยามดี เปลี่ยนตัวเอง เพื่อทำสิ่งใหม่ ๆ แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นจากการคิดอย่างไร หรือทำอะไร ซีเคร็ตจึงขอเป็นตัวช่วยคุณหาคำตอบด้วยการเชิญคนช่างคิดต่างวัย 2 ท่าน มาแบ่งปันมุมมองในการค้นเส้นทางแห่งความสุขต่างแบบกันค่ะ
เปลี่ยนชีวิตด้วย “คำถามที่ดี”
คุณขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร นักจิตวิทยาพัฒนาสมอง คือคนรุ่นใหม่ที่มักมีแนวคิดในการเปลี่ยนที่สร้างสรรค์ ซึ่งช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น วันนี้ เขาจะชวนคุณมาเปลี่ยนมุมมองชีวิตด้วยการตั้ง “คำถาม”
“ผมว่าการตั้งคำถามที่ดี คือจุดสำคัญในการสร้างชีวิตที่ดี เพราะคำถามที่ถูกจะช่วยเราให้มุ่งไปในเส้นทางที่เหมาะสม ขณะเดียวกันคำถามที่ผิดก็จะทำให้ชีวิตดิ่งเหว
“ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเจอปัญหา การเอาแต่ถามว่า “ทำไม… ทำไม…” มักไม่ได้คำตอบ ยิ่งไปกว่านั้นบางคนกลับสาปแช่งโชคชะตา ก่นด่าตัวเอง ยิ่งพาใจไปสู่ความมืดและหดหู่มากขึ้น
“แต่ถ้าเปลี่ยนคำถามเป็น “ทำอย่างไร”เช่น จะประสบความสำเร็จได้อย่างไร จะเป็นคนที่แข็งแกร่งและมีจิตใจเข้มแข็งได้อย่างไรหรือจะมีความสุขด้วยวิธีไหน เป็นต้น การเปลี่ยนมุมถามง่าย ๆ นี้กลับจะพาเราไปสู่แสงสว่างได้ เพราะสามารถนำไปสู่วิธีแก้ไขและปรับปรุงตัวเอง เช่น รู้จักรักตัวเองมากขึ้น หัดใช้ชีวิตนิ่ง ๆ บ้าง เรียนรู้สิ่งใหม่ที่ยังไม่รู้ หรือทดลองปฏิบัติธรรม
“…ท้ายที่สุดหลังจากรู้จักตั้งคำถามที่ดีเพื่อนำไปสู่การหาทางออกที่ดีแล้วความผิดหวังในชีวิตจะน้อยลง ความสำเร็จจะมีมากขึ้น และเราก็จะมีความสุขขึ้นเองครับ”
จิตดีขึ้นได้ ด้วย “การฝึกฝน”
อีกหนึ่งท่าน รองศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชวาลย์ ศิลปกิจ ผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ซึ่งนอกจากเป็นแพทย์แล้ว ยังเป็นอาจารย์และวิทยากรที่สอนเรื่องการฝึกตนให้มีความสุขในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง
“คนเราเมื่อเจอปัญหามักตั้งคำถามว่า “ต้องทำอย่างไร” โดยลืมความจริงที่ว่า หากไม่ฝึกฝนจิตใจอย่างต่อเนื่องมาก่อน เมื่อปัญหามาถึงตัวก็คงทำอะไรไม่ทัน ดังนั้นอยากมีสติไว้แก้ปัญหา ต้องฝึกในช่วงที่ชีวิตเป็นปกติ ไม่มีปัญหาร้อนใจ จะดีที่สุดครับ
“จิตใจต่างจากร่างกาย หากอยากให้ร่างกายแข็งแรงต้องหมั่นขยับ แต่การสร้างจิตใจให้แข็งแรงกลับต้องฝึกอยู่นิ่ง แต่อย่าไปห้ามความคิดฟุ้งซ่าน ความกังวล หรือบังคับจิตให้อยู่กับลมหายใจตลอดเวลาเลยครับ ยิ่งบังคับยิ่งเหนื่อย ยิ่งรู้สึกว่ายาก จนท้อใจไม่อยากฝึกต่อ
“วิธีที่แยบยลกว่าคือ การฝึก “รู้ทันจิต” เมื่ออยู่นิ่ง หากจิตใจลอยไปคิดเรื่องใด ก็เพียงแต่รู้ทันว่าใจกำลังลอยไป และดึงใจกลับมา การรู้ทันว่าใจลอย นั่นคือคุณมี “สติระลึกรู้” แล้ว
“อย่างเช่นการบอกตัวเองว่าจะนั่งนิ่ง ๆ สัก 5 นาที แต่เมื่อนั่งไปสักพักแล้วรู้สึกเบื่อ หงุดหงิด หรือคิดว่าเสียเวลา ก็จงรู้ตัวว่าเบื่อ ว่าหงุดหงิด และควรอยู่นิ่ง ๆ ในสภาวะนั้นต่อไป โดยเรียนรู้ว่าสภาวะเหล่านี้ไม่ใช่ความจริง เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้น …สังเกตไหมว่า หากคุณไม่ลุกไปทำสิ่งอื่นตามความคิด คุณก็ “อยู่ได้” จนครบเวลาที่ตั้งใจเช่นกัน
“หรือในวันที่งานเยอะ ใจคุณมี 2 ทางเลือก ทางหนึ่งอยู่ทำงานต่อ อีกทางคือกลับบ้าน ถ้าเราปล่อยให้ความคิดสู้กัน ส่วนมากใจที่อยากกลับบ้านจะชนะ แต่เราสามารถสร้างทางเลือกที่ 3 ได้ด้วยการหยุดนิ่งสักครู่ จนจิตปราศจากความรู้สึก ไม่นานจิตจะพร้อมจึงค่อยทำงานต่อ และไม่ตกเป็นทาสของความคิดครับ”
การฝึกอยู่นิ่ง ๆ สักครู่ ดูจะเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่ชอบอ้างว่า “ไม่มีเวลา” คุณหมอชัชวาลย์บอกว่าการฝึกจิตไม่ต้องหาเวลาว่างค่ะ และสามารถฝึกได้ใน‘ชีวิตประจำวัน’
“ตัวอย่างเช่น ขณะแปรงฟัน สังเกตไหมว่าใจมักฟุ้งซ่านไปไหน ๆ เราก็เพียงดึงใจกลับมาอยู่ที่การแปรงฟัน แปรงขึ้นแปรงลงไปเรื่อย ๆ จนเสร็จ เมื่ออาบน้ำก็อาบจริง ๆ เน้นชำระล้างร่างกายให้สะอาด ไม่ถูไปตามความเคยชิน และควรทำทุกอย่างด้วยความสุข ก็จะทำให้คุณได้ทั้งสติและความสุขไปพร้อมกันครับ”
การฝึกฝนจิตเหล่านี้ สำคัญต่ออย่างไร…
“เป้าหมายที่แท้จริงของการฝึกจิตคือ ช่วยให้เราพร้อมเผชิญสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างสงบ และตอบสนองด้วยการใคร่ครวญอย่างเป็นเหตุเป็นผลว่าสิ่งใดมีประโยชน์ต่อตัวเราอย่างแท้จริง มีความยับยั้งชั่งใจ ไม่ทำตามอารมณ์ชั่ววูบ เป็นอิสระจากความโกรธหรืออารมณ์ใด ๆ ถ้าโมโหหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน ก็ไม่วิ่งไปเขียนใบลาออก แต่สงบนิ่งและใคร่ครวญว่าควรทำอย่างไรเพื่อชีวิตจะมีความสุข ไม่ทุกข์ร้อน
“…สิ่งนี้เรียกว่า “ความรับผิดชอบต่อตนเองอย่างแท้จริง” และเราจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นครับ”
หวังว่าทุกแนวความคิดคงเป็นทางเลือกที่ดี ให้คุณเริ่ม “เปลี่ยน” ตัวเองในปีใหม่นี้นะคะ
บทความน่าสนใจ
ไหว้พระเสริมสิริมงคลต้อนรับปีใหม่ นพปฏิมารัตนมารวิชัย ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร