6 วิธีอยู่อย่างเป็นสุขกับ โรคร้าย
เราจะมีวิธีรับมือกับ โรคร้าย อย่างไร ? ชีวิตไม่ได้ด้วยด้วยกลีบกุหลาบ ชีวิตเป็นเหตุเป็นผลดังคำพระท่านว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” เราจึงใช้ชีวิตตามอำเภอใจไม่ได้ หรือจะกินตามใจปากก็ไม่ได้ เพราะ “กินอะไร เป็นอย่างนั้น”
ไหนเราจะฝืนสังขารก็ไม่ได้ เกิด แก่ เจ็บ ตายล้วนเป็นสัจธรรม เมื่อย่างเข้าอายุ 30 ความเสื่อมเริ่มมาเยือนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การใช้ชีวิตผิดและกินผิด จึงเป็นการเร่งสังขารให้ร่วงโรยเร็ว นำมาซึ่งอาการผิดปกติ และโรคร้ายในช่วงวันเวลาที่ไม่ควร
มีงานวิจัยว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยด้วยโรคร้ายอย่างมะเร็งเพิ่มมากขึ้น และผู้ป่วยเหล่านั้นก็มีอายุน้อยลง
เพราะยังอยู่ในวัยทำงาน ภาระและหน้าที่ความรับผิดชอบกองสูงเท่าเขาพระสุเมรุ ประกอบกับไฟที่จะขับเคลื่อนโลกและสังคมไปข้างหน้ายังลุกโชน ผู้ป่วยมะเร็งกลุ่มที่ว่านี้จึงต้องปรับตัว ใช้ชีวิตให้เป็นไปตามปกติให้มากที่สุด เพื่อคงความสุขของสังคมและคนที่ตนรักให้อยู่จนลมหายใจสุดท้าย…ซึ่งไม่ง่ายนัก
อยู่กับโรคร้ายอย่างไรดี ?
- ปรับความเชื่อ
จากข้อมูลสถิติทางการแพทย์พบว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เสียชีวิตเพราะถูกงูกัด ไม่ปรากฏว่า ตรวจพบพิษงูในกระแสเลือดในปริมาณเพียงพอที่จะทำให้เสียชีวิตได้ กล่าวอีกอย่างก็คือ ที่คนเหล่านั้นต้องตายเพราะตกใจกลัว หรือเชื่อว่า ตนเองโดนพิษร้ายแรงของงูเข้าไปมากกว่า
ทั้งนี้เพราะความเชื่อ อันเป็นนามธรรมภายในจิตใจของคนเรานั้น แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถตรวจสอบได้โดยอาศัยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ แต่สิ่งนั้นๆ ก็มีอยู่
ภาพในใจ ทัศนคติ และอารมณ์ของคนเรา แม้จะเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่ก็เป็นตัวแปรสัมพันธ์ที่ส่งผลถึงความเจ็บป่วย หรือความมีสุขภาพดีของคนๆนั้นได้
คุณอิ่มพร สุวรรณ อายุ 40 ปี เป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะที่สอง เธอไปพบอาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต และใช้ชีวจิตเป็นแนวทางหลักในการรักษา เธอเล่าว่า
“แวบแรกก็ตกใจ แต่ชั่วประเดี๋ยวเดียว เพราะเรามีเพื่อนป่วยด้วยโรคมะเร็งหลายคน ก็เห็นเขายังยิ้มแย้มเบิกบานอยู่ได้ เลยไม่กลัว และคิดว่ามะเร็งเหมือนโรคหวัด มีอาการอะไรก็รักษาไปตามนั้น”
- รับผิดชอบความเจ็บป่วยของตัวเอง
เมื่อรู้ตัวว่าป่วยด้วยโรคมะเร็ง ไม่ว่าระยะไหนก็ตาม ทุกคนย่อมตกใจกลัว แต่ความรู้สึกเช่นนี้ไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น จึงต้องหาวิธีเผชิญหน้ากับโรคอย่างฉลาด
ดังเช่นคุณแก้ว (ชื่อเล่นของนางพยาบาลวิชาชีพวัย 45 ปี ผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งระบบสืบพันธ์หญิง ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง) เธอพบก้อนที่เต้านมตนเองเมื่อ 3 ปีที่แล้ว
“เรานำชิ้นเนื้อไปส่งห้องแลปเอง คืนหนึ่งก็ได้ผล ท่าทางของหมอที่ตรวจเรา ซึ่งสนิทกัน ก็รู้ว่าเราเป็นมะเร็งแน่ เลยถามเขาว่าเป็นมะเร็งชนิดไหน เมื่อเขาบอก เราก็ยืนอึ้ง ชาไปทั้งตัว ไม่มีสติไปชั่วครู่ สักพักก็ดึงสติขึ้นมาได้ นั่งเก้าอี้ และนึกถึงสิ่งที่สอนคนไข้”
โดยเธอทำตามขั้นตอนดังนี้
1.ตั้งสติ คุณแก้วกล่าวว่า “ถือเป็นหลักสำคัญ เพราะกว่าจะผ่านไปแต่ละจุดนั้น ยากมากที่เราจะทำใจให้อยู่กับปัจจุบัน แต่ต้องทำให้ได้ และไม่คิดไปไกลกว่าอาการของโรคที่เป็นอยู่ปัจจุบันนี้
2.ทำใจยอมรับโรค เราต้องยอมรับว่า ยังไม่มียาขนานไหนรักษาโรคมะเร็งได้ นอกจากความเจ็บปวดที่จะเกิดขึ้นแล้ว ยาที่ใช้บำบัด ซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วไปคือ เคมีและรังสี ซึ่งมีผลข้างเคียงรุนแรง
คุณแก้วเล่าประสบการณ์ของเธอให้ฟังว่า “เพราะเราเป็นพยาบาลในส่วนการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกก็พอรู้ว่า ฉายแสง ผ่าตัด ให้ยาแล้ว ผมร่วง และเพลียอย่างไร
“จิตใจจึงไม่วุ่นวาย และสามารถเรียงขั้นตอนการรักษาได้เป็นขั้นบันใดว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับตัวเองบ้าง เพราะเรามีความรู้เรื่องมะเร็ง ทั้งจากประสบการ์การทำงานและการอ่านหนังสือเกี่ยวกับโรคที่เป็น”
3.เชื่อมั่นในการรักษา โดยเฉพาะแพทย์ที่ทำการรักษา ว่าเป็นคนมีความสามารถ สามารถฝากชีวิตไว้ได้
คุณพรศุภศรี เบริแกน อายุ 37 ปี เป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะที่สาม ครั้งแรกที่คุณหมอตรวจพบ เขาไม่ไขปริศนาความสงสัยเรื่องโรคให้เธอ หากแนะนำให้ใช้เคมีบำบัดทันที
“เราไม่รู้สึกว่าพึ่งหมอคนนั้นได้ และคิดว่าทางเลือกมีมากกว่าหนึ่ง มากว่าแผนปัจจุบัน แต่ก็สับสนอยู่พักหนึ่ง ว่าจะใช้อะไรดี ชีวจิต แมคโคไบโอติก หรือสมุนไพร ตอนแรกกลัวคีโม เพราะคนพูดกันเยอะว่ามีผลข้างเคียงรุนแรงอย่างไร คนที่รู้จักก็ไม่สนับสนุน เลยไปลองสมุนไพรระยะหนึ่ง ก็ดีขึ้นแต่ไม่หาย
“สุดท้ายกลับมาหาหมอแผนปัจจุบัน แต่เป็นหมออีกโรงพยาบาลหนึ่ง เขาให้คำแนะนำได้ อธิบายเรื่องโรคได้ ดูแลเราดีมาก เขาแนะนำให้ใช้คีโม เลยทำตาม อาการก็ดีขึ้นตามลำดับ”
- บริหารเวลาเพื่อสุขภาพดี
คุณวีณา (นักจิตวิทยาวัย 38 ปี ของโรงพยาบาลจิตเวชแห่งหนึ่ง) เป็นโรคมะเร็งรังไข่
เมื่อที่แล้ว
“ขณะฝึกปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์ คลำเจอก้อนเนื้อที่รังไข่ด้านขวา หมอตรวจเลือดหาค่ามะเร็งก็พบถึง 200 โดยค่าปกติควรจะอยู่ที่ 1-35 จึงย้ายไปทำอัลตร้าซาวน์ที่โรงพยาบาลใหญ่ เขาก็พบก้อนเนื้อจริงๆ จึงตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ ผลออกมาว่าเป็นมะเร็ง
“จึงรักษาทันที เราขอลาป่วย หยุดงานยาวไปเลย 60 วัน แถมยังลาเกินด้วย เพราะต้องให้คีโมต่อเนื่อง ไปทำงานไม่ได้ ร่างกายไม่พร้อม ไม่มีสมาธิ เพราะมีหน้าที่ช่วยเหลือคนอื่นเรื่องจิตใจ โดยบอกที่ทำงานว่า ยอมเสียสละ ไม่ต้องขึ้นเงินเดือน”
- ตั้งจุดมุ่งหมายในชีวิต ความทรมานจากความเจ็บป่วยด้วยโรคที่ยากต่อการรักษาเช่นมะเร็ง ผู้ป่วยมักเกิดความท้อแท้ได้ง่าย ทางที่ดีควรปรับทัศนคติ มองความเจ็บป่วยครั้งนี้เป็นเรื่องท้าทาย คิดว่าเราทุกคนต่างต้องการ “ออกกำลังใจ” โดยต้องพบกับปัญหามาบ้าง ยิ่งมากยิ่งดี เพราะนั่นจึงจะทำให้เรากลับกลายเป็นผู้มีกำลังใจเข้มแข็ง จนกลายเป็นนายเหนือปัญหาได้
คุณอิ่มพรบอกว่า “เราเคยทำงานไปอย่างนั้น เพราะต้องทำ ซึ่งก็คิดโน่นคิดนี่ อยากเปลี่ยนงานอยู่เรื่อย แต่พอป่วย เราจึงตั้งใจว่า จะปรับตัวปรับใจใหม่ เพื่อเปิดรับทุกอย่างและทำงานอย่างมีความสุขเต็มที่” ซึ่งช่วยให้เธอเครียดน้อยลงมาก
- กินอาหารให้เหมาะสม
คุณอิ่มพรเล่าว่า “อาจารย์สาทิสบอกว่า การจะสู้กับมะเร็งได้นั้น ต้องอย่าอิมมูนซิสเต็มตก หลังจากเป็นมะเร็งและกินอาหารชีวจิตร้อยเปอร์เซ็นต์ นอกจากก้อนมะเร็งยุบลงแล้ว ยังรู้สึกสดชื่นขึ้น หน้าตาสดใส จากที่เคยผอมเกร็น น้ำหนักก็เพิ่มขึ้นมาบ้าง”
คุณแก้วบอกว่า “เรากินเนื้อสัตว์น้อยที่สุด เพราะเนื้อสัตว์เป็นอาหารอันโอชะของมะเร็ง”
- ตั้งปณิธานแน่วแน่ที่จะหาย คุณพรศุภศรีกล่าวว่า “การป่วยไม่ได้หมายความว่าจะต้องตายนี่นา” ซึ่งนี่คือเรื่องจริง
มีการวิจัยพบว่า สมองส่วนหน้าตอนล่างที่เรียกว่า ไฮโปธารามัส ซึ่งควบคุมระบบอิมมูนซิสเต็ม จะแปรปรวนไปตามสภาวะอารมณ์และจิตใจ ฉะนั้นผู้ป่วยที่จะหายจากโรคร้ายได้ ก็เพราะมีเจตจำนงแรงกล้าที่จะมีชีวิตอยู่ และพยายามทำให้เป็นจริงทุกๆวัน โดยการเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งการกินและการใช้ชีวิต ซึ่งส่งผลให้ไฮโปธารามัสทำงานดีขึ้น อิมมูนซิสเต็มเพิ่มขึ้น และหายจากโรคได้
เมื่อปีที่แล้ว ขณะอยู่บ้านรักษาตัว คุณพรศุภศรีขอผัดการทำงานให้ศูนย์การศึกษาต่อประเทศนิวซีแลนด์ “เราบอกเขาไปว่าตอนนี้ป่วยอยู่ ขอรักษาให้หายก่อน ปีหน้าเราจะไปทำงานด้วย” เธอสัญญาจริงจัง
- ยอมรับการเอาใจใส่จากคนรอบข้าง
คุณแก้วเล่าว่า “สำคัญที่สุดคือสามีและลูก สามีทิ้งคงตรอมใจ เขาบอกว่าเขาจะไม่ทิ้งพี่ จะอยู่ดูแลพี่ไปจนสิ้นชีวิต ส่วนลูกชายก็น่ารักมา เขาจะรักแม่เหมือนเดิม แม้ว่านมไม่มี ผมร่วงก็ตาม”
คุณวีณาเองก็เห็นความรักความเอาใจใส่ของพ่อแม่และเพื่อน ซึ่งคอยดูแลเป็นพิเศษ นับเป็นกำลังใจสำคัญ ทำให้รู้สึกว่า เธอไม่ได้สู้โรคตามลำพัง
พระท่านว่า คนเราเกิดมาเพื่อใช้กรรมเก่า พร้อมกับสร้างกรรมใหม่เพื่อพัฒนาจิตวิญญาณตัวเอง เพื่อให้เกิดปัญญาญาณสู่การหลุดพ้น ฉะนั้นระหว่างเส้นทางอันขรุขระของชีวิต เราย่อมเจอมารผจญ เพื่อท้าพิสูจน์ว่า เราจะยอมพ่ายแพ้หรือไม่
เพราะภารกิจเพิ่มข้นตามวัย ขณะที่ไฟสร้างสรรค์ยังบรรเจิด ความเจ็บป่วยใดจึงเป็นแค่โจทย์ใหม่ในชีวิต ให้เราแก้ไขด้วยสติและปัญญาอันปราดเปรื่อง
เพื่อถึงพร้อมซึ่งความสุขที่ความไม่จีรังของสังขารก็ขวางไม่ได้
อ้างอิง
คอลัมน์ ชีวจิต35+ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 268 (วันที่ 1 ธันวาคม 2552)