บุคคล 3 ประเภท ที่อาจอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ฆ่าตัวตาย
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า การ ฆ่าตัวตาย เป็นปัญหาด้านสุขภาพที่ทุกคนช่วยป้องกันได้ หากผู้ใกล้ชิดของบุคคลกลุ่มเสี่ยงมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุ อาการ และวิธีให้ความช่วยเหลือที่ถูกต้อง ย่อมสามารถให้ความช่วยเหลือได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
ข้อมูลจาก คู่มือการป้องกันและช่วยเหลือ ผู้ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย โดยโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ซึ่งเป็นผู้นำในการดำเนินโครงการดังกล่าวของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าบุคคลที่เสี่ยงฆ่าตัวตายมีทั้งหมด 3 กลุ่ม ดังนี้
1. ผู้ที่มีเจตนาฆ่าตัวตาย แต่ทำไม่สำเร็จ (Attempted Suicide) คนกลุ่มนี้มีประวัติชัดเจนว่าเคยลงมือกระทำการดังกล่าวหรือมีความตั้งใจชัดเจน เช่น มีการเตรียมการ จัดการทรัพย์สิน เขียนจดหมายลาตาย ฯลฯ ดังนั้นสมาชิกในครอบครัวและบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลอยู่จึงควรเพิ่มความใส่ใจและระมัดระวังให้มากขึ้น
คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป
2. ผู้ที่มีอาการทางจิตเวช โดยเฉพาะกลุ่มโรคและอาการดังต่อไปนี้
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) มีอาการซึมเศร้าตลอดทั้งวัน รู้สึกว่าตนเองไร้ค่านานกว่า 2 สัปดาห์ และมักพบว่าผู้ที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากกว่าครึ่งมักพบอาการซึมเศร้าร่วมด้วย
- ผู้ที่มีปัญหาติดสารเสพติด (Addiction) มักมีความรู้สึกว่าตนเองไร้ค่าเป็นพื้นฐานอยู่แล้วประกอบกับการใช้สารเสพติดต่อเนื่องส่งผลต่อสมอง เมื่อเผชิญกับความเครียดจึงอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าหรือหุนหันพลันแล่นจนตัดสินใจฆ่าตัวตายได้
- โรคจิต (Psychosis) มีภาวะการรับรู้ ความคิด และการแสดงออกที่ผิดปกติไป โดยมีอาการหวาดระแวง หลงผิด ประสาทหลอน อาการที่สำคัญคือ หูแว่ว มีเสียงสั่งให้ทำร้ายตนเองจนนำไปสู่การฆ่าตัวตาย
- ผู้ที่มีบุคลิกภาพผิดปกติ (Personality Disorder) มักเป็นกลุ่มที่มีอารมณ์อ่อนไหว ไม่มั่นคง หุนหันพลันแล่น หรือสนใจแต่ตนเอง อาจมีความยั้งคิดไม่เท่าทันอารมณ์ และนำไปสู่การตัดสินใจจบชีวิตตนเองได้
3. ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง มักพบว่าผู้ป่วยที่มีโรคทางกายเรื้อรัง รักษาได้ยาก หรือโรคระยะสุดท้าย ซึ่งทำให้เกิดความเจ็บปวดทุกทรมานทางกายและใจต่อเนื่อง มีความเสี่ยงฆ่าตัวตายสูง
จะเห็นได้ว่ากลุ่มแรกและกลุ่มที่สามนั้นมีประวัติทางสุขภาพอยู่แล้วส่วนกลุ่มที่สองเฉพาะกลุ่มที่เป็นโรคจิต กลุ่มที่ใช้สารเสพติด และกลุ่มที่มีบุคลิกภาพผิดปกติ ล้วนแต่มีอาการชัดเจนเพียงพอที่จะสังเกตและให้การดูแลได้ แต่กลุ่มที่มีภาวะซึมเศร้านั้นเป็นกลุ่มที่พบมากในสังคม แต่ยังขาดการทำความเข้าใจและวิธีการดูแลที่เหมาะสมจากสังคมและคนรอบข้าง
คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป
นอกจากนี้ อาจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต และอาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้เลย คือ ความสามารถในรับมือกับปัญหาหรือความเครียดของแต่ละคน
โดยบุคคลที่มีการตระหนักถึงคุณค่าของตนเองหรือตัวตน (Self) ที่ดี ย่อมรับมือกับความเครียดสูงได้ ซึ่งอาจารย์ได้อธิบายถึงความเชื่อมโยงระหว่างตัวตนกับปัญหาการฆ่าตัวตายไว้ว่า
“การที่คนคนหนึ่งตัดสินใจฆ่าตัวตาย นั่นเพราะความเป็นตัวตน (Self) ของเขาถูกทำลาย ทำให้รู้สึกว่าชีวิตไร้ค่าจนไม่สามารถทนอยู่ได้อีกต่อไป ตัวอย่างเช่น การอกหักแล้วคิดฆ่าตัวตาย เนื่องจากบุคคลนั้นให้ความสำคัญกับคนรักมากเกินไป”
ขอเพียงเปิดใจและช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน เริ่มจากการตระหนักถึงคุณค่าที่แท้จริงของตนเองและผู้อื่นที่จะเชื่อมโยงให้ทุก ๆ คนสามารถเติบโตและก้าวเดินไปข้างหน้าพร้อมกันด้วยหัวใจที่เข้มแข็ง ป้องกันความสูญเสียจากปัญหาการฆ่าตัวตายได้อย่างแน่นอน
ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 386