มะเร็งปอดจาก PM2.5 ใกล้ตัวกว่าที่คิด

“มะเร็งปอด” คำนี้เมื่อก่อนดูเป็นเรื่องไกลตัวเหลือเกิน แต่ทุกวันนี้เมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป มะเร็งปอดจาก PM2.5 กลับใกล้ตัวกว่าที่คิด เพราะฝุ่นจิ๋วเหล่านี้ทะลวงลงซอกซอนเข้ามาในปอดของเรา จนทำให้เกิดโรคร้ายนี้ แล้ว มะเร็งปอดกับ PM2.5 มีความสัมพันธ์กันอย่างไร สังเกตอาการมะเร็งปอดได้อย่างไร ไปอ่านกันดีกว่าค่ะ

PM2.5 และ มะเร็งปอด ความสัมพันธ์ที่แยกไม่ออก

ภาคเหนือมีอุบัติการณ์ของมะเร็งปอดสูงกว่าภาคอื่นมานานแล้ว โดยมะเร็งปอดมี 2 ชนิดหลักๆ คือ มะเร็งปอดชนิด
เซลล์ตัวเล็ก (พบเพียงร้อยละ 10-25) และมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวไม่เล็ก (พบมากถึงร้อยละ 75-90) เราพบว่าการสูบบุหรี่เป็นทั้งสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงหลักที่ก่อให้เกิดมะเร็งปอดได้ทั้งสองชนิด แต่ขณะเดียวกันเราก็พบว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่ถึงแม้จะไม่ได้สูบบุหรี่ แต่เป็นมะเร็งปอดได้เช่นกัน โดยกลุ่มนี้มักจะเป็นมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กมะเร็งปอดเกิดได้อย่างไร

ปกติปอดจะมีการนำก๊าซออกซิเจนจากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ระบบเลือด และนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยออกซิเจนจะเดินทางผ่านหลอดลมไปจนถึงจุดที่เล็กที่สุดซึ่งมีลักษณะเป็นลูกโป่ง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนกับเส้นเลือดฝอย

ดังนั้นเมื่อเราสูด PM2.5 เข้าไป อนุภาคจิ๋วนี้จะเข้าสู่หลอดลม แทรกซึมเข้าไปในเซลล์ถุงลมเข้าสู่หลอดเลือดฝอย ร่างกายจึงกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวออกมาจากหลอดเลือดฝอยเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมอย่าง PM2.5 ให้ออกไป
จากร่างกาย เกิดการอักเสบและความเสียหายจากการต่อสู้ของเม็ดเลือดขาวตามมาในที่สุด จากนั้นเซลล์ก็จะ
เริ่มซ่อมแซมตัวเองเพื่อให้กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง

มะเร็งปอดจาก PM2.5 ใกล้ตัวกว่าที่คิด

ลำพังการสูด PM2.5 เป็นครั้งคราวอาจไม่ก่อให้เกิดปัญหา แต่หากสูด PM2.5 บ่อยครั้ง สูดอย่างต่อเนื่อง และสูดเป็นระยะเวลานาน การอักเสบและความเสียในเซลล์ รวมทั้งกระบวนการซ่อมแชมก็จะเกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้งตามไปด้วย นั่นทำให้ระบบพันธุกรรมที่ควบคุมความปกติในเซลล์บางตัวมีความเสียหายได้ เซลล์นั้นๆ เกิดกลายพันธุ์ไปจากเดิม เช่น แบ่งตัวเรื่อยๆ เหมือนสวิตช์ที่เปิดแล้วไม่ปิด ในที่สุดก็กลายเป็นก้อนมะเร็ง ยิ่งนานวันเข้า ก็ยิ่งเข้าสู่ระยะแพร่กระจายและลุกลาม ปัจจุบันมีวารสารทางการแพทย์ระดับนานาชาติที่ตีพิมพ์ว่า PM2.5 ทำให้อุบัติการณ์การเกิดมะเร็งปอด
ชนิดอะติโนคาร์ซิโนมา (Adenocarcinoma) หรือมะเร็งชนิดต่อมเพิ่มขึ้น (หนึ่งในมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวไม่เล็ก) แล้วก็มียีนส์กลายพันธุ์ที่เรียกว่า EGFR สูงขึ้นด้วยยิ่งในผู้ที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว หากได้รับ PM2.5 สูงๆ นานๆ จะยิ่งเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งทวีคูณขึ้นเป็น 2 เท่า

PM2.5 กับมะเร็งที่คาดไม่ถึง

ปัจจุบันเริ่มมีข้อมูลมากขึ้นว่านอกจากมะเร็งปอดแล้ว PM2.5 ยังสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งชนิดอื่นด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วเราพบว่าความเสี่ยงหรือตัวกระตุ้นที่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งมีหลายอย่าง การสูบบุหรี่เป็นประจำก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน
เราพบว่าการสูบบุหรี่เป็นประจำนอกจากเสี่ยงเกิดมะเร็งปอด แล้ว ยังเสี่ยงเกิดมะเร็งชนิดอื่นด้วย เช่น มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

สำหรับข้อมูลของ PM2.5 มีการศึกษาพบว่า เพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร 1.01-1.03 เท่า แต่ก็มีข้อมูลอื่นๆ หลังจากนั้นที่พบว่ามีกลุ่มมะเร็งอวัยวะระบบทางเดินหายใจที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งโพรงจมูก มะเร็งบริเวณศีรษะและลำคอ มะเร็งกล่องเสียง ส่วนมะเร็งตับและมะเร็งลำไส้ก็พบว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นด้วย
ประมาณ 1.3 เท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งไข่ที่พบว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 1.4 – 1.5 เท่า

สังเกตตัวเองอย่างไร หากมีเซลล์มะเร็งอยู่ในร่างกาย

แม้มะเร็งจะเป็นก้อนๆ ประกอบด้วยเซลล์มะเร็งจำนวนมากรวมตัวกัน แต่มะเร็งเป็นโรคที่อยู่ในอวัยวะในร่างกายของเราอยู่แล้ว เมื่อมีสิ่งเหนี่ยวนำหรือปัจจัยบางอย่าง เช่น สารก่อมะเร็ง PM2.5 มากระตุ้นให้เซลล์ปกตินั้นเกิดการอักเสบ และมีความเสียหายตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากความเสียหายนั้นเกิดกับหน่วยพันธุกรรม ซึ่งเหมือนศูนย์บัญชาการภายในเซลล์ ทำให้เซลล์กลายพันธุ์ไปเป็นเซลล์มะเร็งที่มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วและแพร่กระจายนั่นเอง

แม้ภาพรวมของร่างกายอาจจะดูสบายดี แต่ภายในอาจมีมะเร็งซ่อนอยู่ก็ได้ เพราะกว่าจะสัมผัสได้ถึงอาการผิดปกตินั้น หมายถึงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในร่างกายต้องใหญ่พอสมควรและอาจไปเบียดเบียนบางอวัยวะแล้ว แต่ถ้ามันยังมีขนาดเล็กมาก ๆ หรืออยู่ในตำแหน่งที่ไม่สำคัญ

มะเร็งปอดจาก PM2.5 ใกล้ตัวกว่าที่คิด

ก็อาจยังไม่ทำให้เกิดอาการใดๆ ก็ได้ฉะนั้นย้อนกลับมาที่มะเร็งปอด หลายคนเพิ่งเคยเอกซเรย์ครั้งแรกตอนอายุ 50 แล้วเจอมะเร็ง ทุกคนก็จะย้อนถามว่าเป็นตั้งแต่เมื่อไหร่ ในทางกลับกันหลายคนที่มีอาการเหนื่อย มีอาการไอ หมายความว่าเขาเป็นมะเร็งหรือเปล่า ก็ไม่ใช่อีกแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นหรือไม่เป็นมะเร็ง ก็คงต้องถามตัวเองก่อนว่าเรามีความเสี่ยงที่จะทำให้เป็นมะเร็งได้หรือเปล่า เช่น เพศ อายุ พันธุกรรม มีพฤติกรรมเสี่ยงบางอย่าง แต่สำหรับมะเร็งปอดนั้นไม่เลือกเพศ เพราะเป็นได้ทั้งชายและหญิง ซึ่งต่อไปอาจนับ PM2.5 เป็นความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอดได้

สัญญาณเตือนของมะเร็งปอด

ผู้ป่วยมะเร็งจำนวนไม่น้อยมักไม่มีอาการแสดง กว่าจะมีอาการแสดงโรคก็มักดำเนินไประยะที่ 3-4 แล้ว อย่างไรก็ตาม พบว่าอาการ มะเร็งปอดที่มักตรวจพบบ่อยๆ ได้แก่

  • ไอเรื้อรังนานกว่า 2 สัปดาห์ อาจมีหรือไม่มีเสมหะก็ได้
  • ไอมีเสมหะปนเลือด
  • เหนื่อยง่าย เหนื่อยหอบ
  • หายใจลำบาก มีเสียงหวีดเวลาหายใจ
  • เจ็บหน้าอกเวลาหายใจ
  • ปอดอักเสบ
  • มีไข้ติดเชื้อบ่อย หรือเรื้อรัง
  • อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลดอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาสั้นๆโดยไม่ทราบสาเหตุ

อย่างไรก็ตามอาการต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้เป็นอาการที่เฉพาะเจาะจงกับมะเร็งปอดเท่านั้น อาจพบในโรคอื่นๆ ได้ หากมีอาการข้างต้นควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจร่างกาย


ขอบคุณข้อมูลจาก

  • ผศ. นพ.ธัชธรรม์ สุขสมบูรณ์เจริญ อาจารย์ประจำภาควิชามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์
    คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • รศ. นพ.ชัยยุทธ เจริญธรรม อาจารย์ประจำหน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • นพ.ภัทรพงศ์ สัจจริตานันท์ แพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2025 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.