วัดสังฆทาน ต้นแบบของวัดเพื่อสังคม
วัดสังฆทาน เป็นที่รู้จักว่าเป็นวัดสายปฏิบัติที่เคร่งครัด เป็นสถานที่สัปปายะแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี
เมื่อกล่าวถึง “วัด” บางคนอาจคิดว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการละทางโลก เพื่อมุ่งเข้าสู่ทางธรรม แต่วัดสังฆทานกลับเป็นวัดที่สามารถนำทางโลกก้าวไปพร้อมกับทางธรรมด้วย “กิจกรรมเพื่อสังคม” นอกจากการเผยแผ่ธรรมผ่านการปฏิบัติธรรมแล้ว วัดสังฆทานยังมีโครงการเพื่อสังคมมากมาย ส่วนใหญ่ล้วนเกิดจากความเมตตาของ หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ อดีตเจ้าอาวาส ด้วยเป้าหมายสูงสุดคือ ต้องการลดทอนความทุกข์ของประชาชนให้เหลือน้อยที่สุด แม้ว่าท่านมรณภาพไปแล้ว แต่พระครูสมุห์ไพรินทร์ สิริวัฑฒโน เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ยังคงสืบสานเจตนารมณ์ของท่านต่อ โดยโครงการหลักๆ ที่จัดเป็นประจำมีดังนี้
ด้านการส่งเสริมการศึกษา
ในทุกปีวัดสังฆทานจะจัดพิธีมอบทุนการศึกษาให้แก่สามเณรที่มีความประพฤติดีเด่น การเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี แต่มีฐานะยากจน เพื่อให้สามเณรมีกำลังใจศึกษาเล่าเรียนต่อไป นอกจากนี้ยังมอบทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียนยากไร้ที่อาศัยในละแวกใกล้เคียง หรือเป็นบุตรของบุคลากรที่ทำงานในวัด นักเรียนเหล่านี้บางคนเข้ามาช่วยเหลือกิจการของวัดเป็นการตอบแทน เช่น งานด้านวิทยุของสถานีวิทยุสังฆทานธรรม fm 89.25 Mhz หรือสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพุทธภูมิ เป็นต้น
พระครูสมุห์ไพรินทร์กล่าวว่า ในอนาคตวางแผนว่าจะให้ทุนในลักษณะการกู้-ยืม เพื่อให้นักเรียนที่รับเงินทุนตระหนักว่าเงินทุนที่ได้รับไปนั้น ไม่ใช่เงินให้เปล่า แต่ต้องนำมาจ่ายคืน
“สาเหตุที่ต้องทำเช่นนี้เพราะเงินที่นำมาเป็นทุนการศึกษานั้น ทุกบาททุกสตางค์เป็นเงินบริจาคจากญาติโยม วัดจึงต้องนำมาบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด เมื่อเขาเรียนจบมีกำลังพอจะใช้คืนได้ ก็ควรนำกลับคืนมาเพื่อทำประโยชน์ในด้านอื่นๆ ต่อไป”
ด้านสาธารณะสุข
วัดสังฆทานเริ่มจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.2528 เนื่องจากเวลานั้นประชาชนตามถิ่นทุรกันดารยังเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐาน ในยุคเริ่มแรกแพทย์จากโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน โรงพยาบาลรามาธิบดี และอาจารย์แพทย์ที่ปลดเกษียรแล้วจะมารวมตัวกัน เพื่อออกตรวจประชาชนตามต่างจังหวัดทุก 3 เดือน มีทั้งหน่วยทันตกรรม วัดสายตาประกอบแว่น อายุรแพทย์ ฯลฯ กระทั่งเมื่อปีพ.ศ.2554 จึงได้ยุติโครงการดังกล่าวไป เนื่องจากคนไทยเริ่มมีสิทธิ์การรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น
หลวงพ่อสนองจึงดำริให้ตั้ง “โอสถสถานหลวงพ่อสนอง กตปุญโญ คลินิกการแพทย์แผนไทย” รักษาพยาบาลและจ่ายยาให้ประชาชนทุกคนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ปัจจุบันพระครูสมุห์ไพรินทร์พัฒนาคลินิกให้มีมาตรฐานตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดทุกประการ โดยมีประชาชนเข้ารับการรักษาเฉลี่ย 5,000 คนต่อเดือน
คลิกเลข 2 เพื่ออ่านหน้าถัดไป
ด้านสิ่งแวดล้อม
วัดสังฆทานจัดโครงการปลูกป่าตั้งแต่ปีพ.ศ. 2525 เนื่องด้วยหลวงพ่อสนองเห็นความสำคัญของป่าที่กำลังลดน้อยลงเรื่อยๆ ส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติตามมา โดยวัดจะนำเงินบริจาคของญาติโยมมาซื้อที่ดินจากชาวบ้าน เพื่อจะได้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ป้องกันการบุกรุกจากนายทุนหรือชาวบ้านคนอื่นๆ ปัจจุบันวัดสังฆทานปลูกป่าสำเร็จแล้วนับพันไร่ ทั้งในอ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี อ.วังน้ำเขียว และอ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และกำลังดำเนินโครงการในอำเภอครบุรี จ.นครราชสีมา
พระครูสมุห์ไพรินทร์กล่าวว่า “เราพยายามสร้างความยั่งยืนของผืนป่าด้วยการดึงคนในพื้นที่เข้ามามีส่วนช่วยในโครงการ ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ และชาวบ้านจากชุมชนโดยรอบ พยายามทำให้เขาเห็นความสำคัญว่า ถ้ามีป่า ก็มีน้ำ และบอกพวกเขาว่าป่าผืนนี้ไม่ใช่ป่าของวัดสังฆทานแต่เป็นของทุกคน หากเราปลูกป่าสำเร็จ ใครจะเข้าไปหาของป่าก็ได้ เพื่อให้เขามีส่วนช่วยดูแลรักษาป่าต่อไป”
ด้านการอบรมคุณธรรม
บวชสามเณรภาคฤดูร้อน
วัดสังฆทานจัดโครงการบวชสามเณรภาคฤดูร้อนมานานกว่า 30 ปี โดยรับสมัครรุ่นละ 300 คน เพื่อปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมให้เด็ก โดยเริ่มแรกจะให้เด็กที่สมัครร่วมโครงการทดลองถือศีลและปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อทดสอบว่าสามารถช่วยเหลือตนเองได้หรือไม่ จากนั้นจึงบรรพชาเป็นสามเณรและเดินทางไปปฏิบัติธรรมที่วัดป่าใน อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมาเป็นเวลา 1 เดือน
ท่านเจ้าอาวาสวัดสังฆทานอธิบายเพิ่มเติมว่า “สิ่งสำคัญที่สามเณรจะได้รับกลับไปคือระเบียบวินัย เพราะจะต้องปฏิบัติเหมือนพระสงฆ์ทุกประการ ตื่นตีสามครึ่ง ทำวัตรสวดมนต์ บิณฑบาต ฉันเพียงมื้อเดียว เดินจงกรม นั่งสมาธิ และต้องทำความสะอาดกุฏิ ซักจีวร ล้างบาตร ขัดห้องน้ำเอง โดยไม่มีผู้ใดมาอำนวยความสะดวกให้ และออกธุดงค์ เพื่อเรียนรู้ว่าพระธุดงค์มีวัตรปฏิบัติอย่างไร แม้เณรบางคนยังเด็ก อาจไม่เข้าใจหลักธรรมอย่างลึกซึ้ง แต่ในอนาคตเมื่อเขาเติบโตขึ้น หากเจอปัญหาใดๆ เขาอาจจะเห็นวัดเป็นที่พึ่งอันดับแรก ไม่หันไปหาอบายมุข”
แท็กซี่คุณธรรม
โครงการจัดอบรมคุณธรรมสำหรับผู้ขับแท็กซี่โดยเฉพาะ โดยจัดปีละครั้ง รับสมัครครั้งละ 100 คน เพื่อเปิดโอกาสให้แท็กซี่ได้เข้ามาเรียนรู้ธรรม ฝึกสติและสมาธิอย่างเข้มข้นเป็นเวลา 3 วัน สาเหตุที่จัดโครงการนี้ขึ้นเพราะหลวงพ่อสนองเล็งเห็นว่าแท็กซี่คืออาชีพที่ต้องทำงานกับคนจำนวนมากและพบเจอสิ่งยั่วยุมากมาย หากไม่มีศีลธรรมก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของการก่อปัญหาสังคม เช่น การโกงเงินผู้โดยสาร ไม่รักษาระเบียบวินัยบนท้องถนน เป็นต้น
พระครูสมุห์ไพรินทร์เล่าว่า ช่วงที่หลวงพ่อสนองเป็นเจ้าอาวาสได้จัดอบรมแท็กซี่คุณธรรมไปแล้วจำนวน 13 รุ่น รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,500 คน เมื่อท่านมรณภาพ โครงการดังกล่าวจึงชะงักไป แท็กซี่ที่เคยเข้าอบรมจึงกระจัดกระจายไม่เป็นกลุ่มก้อนเหมือนแต่ก่อน เมื่อท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสจึงตั้งใจสืบสานโครงการนี้ต่อไป เพราะเป็นโครงการที่มีประโยชน์ทั้งต่อตัวผู้ขับแท็กซี่เอง ผู้โดยสารและสังคม ปัจจุบันจัดอบรมเพิ่มเติมแล้วอีก 3 รุ่น และวางแผนว่าจะจัดอบรมต่อไปเรื่อยๆ เพื่อผลักดันคนดีกลับคืนสู่สังคมต่อไป
“ประโยชน์ของการอบรมข้อแรกคือ แท็กซี่ได้ฝึกสติ เพราะขณะขับรถ สติคือสิ่งสำคัญที่สุด หากขาดสติไปเพียงอึดใจเดียวอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ข้อที่สอง ครอบครัวเขาจะเป็นสุข เพราะเราอนุญาตให้เขาพาผู้ติดตามมาอบรมคุณธรรมด้วย 2 คน เราคำนึงว่าคนในครอบครัวต้องมีศีลเสมอกันจึงจะอยู่ร่วมกันได้ หากพ่อมีศีลธรรม แต่แม่เอาแต่กินเหล้าเมายา ลูกติดเกม ครอบครัวไม่มีทางมีความสุข เราจึงให้เขาพาครอบครัวมาร่วมอบรมด้วย ข้อที่สาม ผู้โดยสารไม่ต้องกังวลเลยว่าจะถูกโกงหรือถูกทำร้าย ดึกดื่นก็นั่งรถได้อย่างสบายใจ ข้อสุดท้าย เมื่อเขามีศีลธรรมเป็นเครื่องนำทางแล้ว เขามีโอกาสเผยแผ่ธรรมให้คนอื่นๆ ได้ด้วย ทั้งผู้โดยสารและผู้ร่วมอาชีพ ผ่านการพูดคุยหรือเปิดบทบรรยายธรรมจากพระอาจารย์ทางวิทยุ หากผู้โดยสารมีเรื่องเครียดมา เมื่อได้ฟังธรรมอาจช่วยคลี่คลายปัญหาชีวิตเขาได้”
คลิกเลข 3 เพื่ออ่านหน้าถัดไป
ทางโลกและทางธรรมต้องก้าวไปพร้อมกัน
พระครูสมุห์ไพรินทร์ อธิบายว่า โครงการเพื่อสังคมที่วัดสังฆทานจัดทำขึ้นทั้งหมด ไม่ได้เป็นไปเพื่อชื่อเสียงของวัด แต่เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
“เราไม่ได้ถือว่าวัดสังฆทานเป็นวัดปฏิบัติ ต้องปฏิบัติธรรมอย่างเดียวเท่านั้น หรือคิดเพียงว่ากิจของสงฆ์คือการรับบิณฑบาต นั่งสมาธิ เดินจงกรม แต่เราคำนึงเสมอว่าวัดต้องไม่ใช่ผู้รับเพียงอย่างเดียว เงินที่ญาติโยมนำมาทำบุญ ต้องนำมาสร้างสาธารณประโยชน์ เมื่อประชาชนเดือดร้อน เราต้องช่วยเหลือ เพราะยามที่เขามั่งมีเขาก็ทำบุญกับเรา ยามที่เขาตกทุกข์ได้ยาก จะบอกว่าไม่ใช่หน้าที่ของพระก็ไม่ถูกต้อง
“การคลายความทุกข์ของประชาชนเป็นหน้าที่หนึ่งของสงฆ์ แม้หลวงพ่อสนองจะเน้นให้ช่วยเหลือคนให้หมดทุกข์ทางใจ แต่ทุกข์ทางกายท่านก็ไม่ละเลย เช่นเดียวกัน งานด้านศาสนา ฆราวาสก็อย่าคิดว่าเป็นหน้าที่ของพระไม่ใช่ธุระของฉัน จริงๆ แล้ว ศาสนาและสังคมจะเจริญได้ ต้องอาศัยพุทธบริษัท 4 คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ต้องอาศัยความสามัคคีจากทุกฝ่าย เรียกง่ายๆ ว่าทางโลกและทางธรรมต้องก้าวไปพร้อมกัน”
โครงการเพื่อสังคมของวัดสังฆทานแสดงให้เห็นว่า วัดไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงที่พึ่งทางจิตใจเสมอไป แต่สามารถทำหน้าที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้สังคมดีขึ้นได้เช่นกัน
เรื่อง Pitchaya ภาพ วรวุฒิ วิชาธร
คอลัมน์ Travel in peace นิตยสาร Secret
Secret คือแรงบันดาลใจ
สั่งซื้อนิตยสารหรือสมัครสมาชิก Secret ได้ที่ 0-2423-9889
ทาง Naiin.com : https://www.naiin.com/magazines/title/SC/