ผู้ป่วยมะเร็ง

พี่สาวสู้ชีวิต ป่วยมะเร็งกว่าทศวรรษ

ผู้ป่วยมะเร็ง

ย้อนกลับไปมองเคสผู้ป่วยมะเร็ง ที่เราเคยสัมภาษณ์ตั้งแต่สมัยมาทำงานที่นิตยสารชีวจิตใหม่ๆ และเรื่องราวของเธอยังประทับอยู่ในใจเรา เป็นเหมือนไอดอลของการสู้โรคมะเร็ง โดยปัจจุบันเธอยังแข็งแรงดี เธอคนนั้นคือพี่อ้อยค่ะ

เราพบพี่อ้อยในคอร์สชีวจิต สมัยนั้น (10 กว่าปีที่แล้ว) จัดขึ้นที่สวนสามพราน เธอเป็นนางพยาบาลดูแลผู้ป่วยในวอร์ดโรคมะเร็ง ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่างเทเบิ้ลทอล์คครั้งหนึ่ง เธอได้รับเชิญให้ออกมาเล่าเรื่องของตนเอง ซึ่งนอกจากความป่วยไข้ด้วยโรคมะเร็งไทรอยด์แล้ว เธอยังมาขับขานบทกลอน ซึ่งแต่งสด ณ ขณะนั้นให้ทุกคนฟังด้วย

เราได้รับมอบหมายให้สัมภาษณ์เรื่องราวของเธอลงคอลัมน์ สู้ชีวิต (ปัจจุบันคือ บันทึกหัวใจแกร่ง) ซึ่งเป็นนิยายชีวิตของผู้ป่วย เราจึงนัดหมายวันเดินทางลงไปหาเธอที่บ้าน

จำได้ว่า เราขอถ่ายรูปเธอสวมชุดนางพยาบาลเต็มยศในโรงพยาบาลที่พี่อ้อยทำงาน เป็นช็อตแรก หลังจากนั้นก็สัมภาษณ์เรื่องราวของเธอในห้องผู้ป่วย พี่อ้อยเล่าเรื่องของพ่อของเธอที่ป่วยเป็นมะเร็งกระดูก และด้วยหน้าที่ลูกและนางพยาบาล เธอก็ดูแลพ่อที่เจ็บปวดทุกข์ทรมานจนลมหายใจสุดท้าย ก่อนที่จะพบก้อนเนื้องอกในมดลูกของตนเอง (จำได้ว่า เราฟังเรื่องของพี่อ้อยไป จับมือพี่อ้อยไว้ด้วย…คนเล่าก็น้ำตาไหล คนฟังก็ร้องไห้)

ซึ่งเมื่อตัดก้อนเนื้องอกออกไปแล้ว ก็นึกว่าชีวิตจะเข้าที่ เพื่อเธอสามารถมีความสุขกับคุณแม่ น้องๆ และหลานๆ พร้อมกับการเรียนในระดับปริญญาเอก…เปล่าค่ะ เธอตรวจพบว่ามีความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ และเธอเป็นมะเร็งไทรอยด์

ระหว่างการรักษา เธอตะเวนขึ้นลงระหว่างกรุงเทพฯ และสุราษฎร์ธานี เพราะยังต้องมามหาวิทยาลัยเนืองๆ ด้วยไม่ต้องการทิ้งความฝันของการเป็นด็อกเตอร์ โดยช่วงนั้น ชีวิตรักของเธอก็เล่นตลก สร้างความทุกข์ใจอย่างใหญ่หลวงให้ ราวกับชะตากรรมโถมทับลงมาเรื่อยๆ โดยไม่เว้นที่ว่างให้ชีวิตได้หายใจเอาความสุขสงบเข้าไปบ้างเลย

คลิกอ่านหน้าถัดไป

ถ้าใครเคยมีปัญหาความผิดปกติของไทรอยด์ จนต้องตัดออก จะรู้ว่าการตัดไทรอยด์ออกข้างหนึ่ง มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันมหาศาล เส้นประสาทและกล้ามเนื้อการควบคุมร่างกายซีกหนึ่งผิดเพี้ยนไป คุณอาจไม่สามารถแปรงฟันได้แบบปกติ เพราะบังคับกล้ามเนื้อใบหน้าและมือไม่ได้ ไหนจะเรื่องของความจำ เพราะต่อมไทรอยด์เชื่อมโยงกับการทำงานของสมอง ในส่วนของความทรงจำ โดยเฉพาะความจำระยะสั้น แน่นอนว่าต้องกระทบกับการเรียนระดับสูงของเธอ

พี่อ้อยไม่ท้อแท้และยอมแพ้อะไรเลยค่ะ หลังจากสัมภาษณ์และเขียนเรื่องของเธอลงในนิตยสารชีวจิตปีที่ 5 ทั้งหมด 4 ตอนต่อเนื่อง (สร้างความประทับใจให้ผู้อ่าน โดยสำรวจจากคำชม และตัวพี่อ้อยเอง ที่นำเรื่องของตนเอง ที่ตีพิมพ์ในนิตยสารแล้วไปเผยแพร่ และเธอบอกว่ามีคนชื่นชอบมาก) เรายังติดต่อกันอยู่ในฐานะพี่สาวและน้องสาว จนรู้ข่าวว่าเธอจบปริญญาเอกแล้ว และสามารถของบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐ มาช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งอีกมากมาย

ล่าสุด มะเร็งมารุกรานเต้านม แล้วค่อยๆ ไปจู่โจมที่ปอด ขณะที่พี่อ้อยก็รับการรักษาไปตามปกติ โดยจิตใจตนเองจดจ่ออยู่กับการช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งในจังหวัดบ้านเกิด ซึ่งก็ต้องหาสถานที่ ทุนรอน พันธมิตรและทีมงาน ก่อร่างสร้างองค์กรเป็น มูลนิธิบ้านปันรักเพื่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อใช้เป็นที่พักพิงสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่มีบ้านอยู่ในอำเภอที่ห่างไกลจากโรงพยาบาลศูนย์มะเร็งประจำจังหวัด พวกเขาจำเป็นต้องมารับเคมีบำบัดหรือรังสีรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากการผ่าตัดก้อนมะเร็งออกไป ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีร่างกายอ่อนเพลียมาก ไม่สามารถเดินทางไปกลับบ้าน-โรงพยาบาลได้ โดยเฉพาะบางรายมีอาการแพ้อย่างรุนแรง

มูลนิธิแห่งนี้เป็นรูปเป็นร่างมา 2-3 ปีแล้ว สามารถทำตามจุดประสงค์ในการช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างดี ซึ่งหากผู้ใดสนใจจะร่วมทำบุญ บริจาคทุนทรัพย์ให้มูลนิธิแห่งนี้ ติดต่อ https://www.facebook.com/profile.php?id=100006844575100

ปัจจุบันพี่อ้อยยังทำงานอยู่ค่ะ เธอยังเบิกบานสดใสสู้มะเร็งของตนเองไป พร้อมกับช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งคนอื่นๆ

 

 

 

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.