สุนิสา

เส้นทางสู่ “ความว่าง” ของอ้อม - สุนิสา สุขบุญสังข์

เส้นทางสู่ “ความว่าง” ของอ้อม - สุนิสา สุขบุญสังข์

ในแวดวงคนบันเทิง อ้อม - สุนิสา สุขบุญสังข์ คือหนึ่งในหญิงผู้ที่สนใจเรื่องธรรมะอย่างจริงจังถึงขั้นปลงผมบวชมาแล้วถึงสามครั้ง ครั้งแรกอ้อมตั้งใจบวชเพื่อทดแทนบุญคุณมารดา ถัดมาบวชชีในโครงการบวชพุทธสาวิกาสอง​แผ่นดินของเสถียรธรรมสถาน  ล่าสุดอ้อมบวชเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในโครงการที่จัดขึ้นโดยวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ณ ประเทศอินเดีย การบวชแต่ละครั้งล้วนแต่ทำให้เธอผู้นี้ได้เรียนรู้มากขึ้น

การบวชครั้งล่าสุดแตกต่างจากครั้งที่ผ่านมาอย่างไรคะ

ที่ผ่านมาทั้งสองครั้ง อ้อมไม่เคยรู้สึกเสียดายผม แต่บวชครั้งที่สามเป็นช่วงที่ชอบผมตัวเองมาก ไม่อยากโกน ซึ่งแปลกเพราะที่ผ่านมาเราผ่านการเสียดายมาแล้วทำไมยังกลับมาเสียดายได้อีก นั่นสอนว่าไม่มีอะไรแน่นอน บางสิ่งที่เคยทำได้ มาวันนี้อาจทำไม่ได้ก็ได้

ครั้งล่าสุดที่บวช ได้ไปบวชที่ใต้ต้นโพธิ์ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสรู้ตรงนั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการไปบวชตรงนั้นเราจะได้มากหรือน้อยต่างไปจากคนที่บวชในเมืองไทยหรือคนที่ไม่บวช แต่การที่ได้ไปบวชตรงนั้นอาจเรียกว่า ศรัทธาสร้างความฮึกเหิมเพื่อที่จะก้าวไปให้ถึง เพราะว่าจุด

มุ่งหมายของเราก็คือเดินตามรอยพระพุทธเจ้า อ้อมตั้งใจไปถึงแค่ไหน

ถ้าคิดว่าบวชเอาบุญก็อาจจะไม่ถูกนักเพราะเริ่มก็จะเอาแล้ว แต่ถ้าไปสักพักถึงช่วงกลางและปลาย เปลี่ยนความอยากได้เป็นการให้ การละ การดับทุกข์ อ้อมว่าโอเคนะเหมือนมีทุกข์ก่อนแล้วเห็นธรรม วินาทีที่อ้อมบวช ณ เวลานั้นเป็นการปวารณาตัวต่อหน้าครูบาอาจารย์เท่านั้นเองว่าเราจะถือศีลประพฤติพรหมจรรย์ในช่วงเวลาหนึ่ง ให้สมกับที่เราลางาน ให้สมกับที่แม่ยอมให้ไปและคนรอบข้างพร้อมที่จะเข้าใจเรา อย่าทำให้คนอื่นเสียเวลา และอย่าทำให้ตนเองเสียเวลา ลำพังเราหายใจทิ้งไปวัน ๆ ก็เสียเวลาแล้ว เพราะฉะนั้นในช่วงเวลานี้ต้องเอาให้ได้คำว่าเอาให้ได้ของคนเรามีหลายแบบ บางคนเอาสงบให้ได้ บางคนเอาฌานให้ได้ บางคนหวังนิพพาน

สำหรับอ้อม มาตรองดูตั้งแต่บวชครั้งแรก ใจคงเบื่อกับการเกิด ๆ ตาย ๆ วนอยู่แบบนี้เลยจะหาทางจะออกไป แต่ไม่รู้จะไปยังไง แล้วมันออกไปได้จริงหรือเปล่า ทั้งที่ก็ไม่เชื่อนะว่านิพพานต้องเห็นต่อเมื่อตายแล้ว แต่ก็ดันไม่เชื่อในศักยภาพตัวเองที่เราหรือใคร ๆ ก็อาจจะทำได้ในช่วงอายุนี้ เราไม่กล้าคิดอย่างนั้น เพราะรู้ตัวว่าเราไม่ได้เพียรอะไรเลย ยังไม่เคยลงทุนกับมันจริง ๆ จึงไม่กล้าหวังผล บางวันไม่ได้ปฏิบัติ ยังโกรธยังหงุดหงิด ไม่ได้ดูใจตนเอง ไม่ได้รู้จักกับความว่าง ความเบาได้เท่าไหร่ เหมือนเรารู้ว่าเราอยากจะไป แต่เราอายที่จะพูดว่าเราจะไป

การบวชครั้งแรก ความสนใจอยู่ในระดับละชั่วทำดี แต่อย่างน้อยก็ช่วยเปิดใจเรามากขึ้น บวชครั้งที่สองได้เรียนรู้เรื่องการปลดทุกข์จากการเข้าห้องน้ำที่อินเดีย

สอนอย่างไรคะ

อ้อมเป็นคนที่มีข้อจำกัดเรื่องเข้าห้องน้ำเยอะมาก ต้องพกถุงที่มีทั้งสเปรย์ ทั้งกระดาษผ้าเช็ดทำความสะอาด แต่ห้องน้ำที่อินเดียโหดมาก ของทุกอย่างที่พกไปนั้นใช้ไม่ได้เลยแม้แต่ถังขยะยังไม่มี ตอนนั้นมีพี่นักข่าวสายธรรมะบอกว่า น้องอ้อมเชื่อพี่ ข้างทางดีที่สุดเวลานั้นอ้อมอั้นมานานมาก จึงลองเชื่อพี่เขาสักครั้ง จังหวะที่เราไปทำธุระข้างทางได้เห็นว่าความสบายมันเกิดขึ้น มวลท้องของเรามันเบาคลายจากความปวดบวมที่เกิดจากการบรรจุน้ำใจเราก็เบา ก็เข้าใจทันทีว่า เช่นนี้เองหรือที่ว่าทุกข์มันคลายและเปลี่ยนเป็นสุข นี่คือการปลดทุกข์สมชื่อ ทำให้อ้อมค่อย ๆ เรียนรู้และมองเห็นว่าความเรียบง่ายในชีวิตไม่ต้องตั้งกฎตั้งเงื่อนไข ความง่ายก็ไม่เสียหายตรงไหน

ทราบมาว่าการบวชครั้งที่สามทำให้อ้อมได้พบครูบาอาจารย์ท่านหนึ่งที่อ้อมเรียกว่าคุณทวด 

อ้อมได้ยินจากคุณยายจ๋า (แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต) มาก่อนหน้านี้แล้วว่ากุฏิที่อ้อมเคยอยู่ตอนบวชครั้งแรกมีคุณทวด (ประภัสสร โหละสุต) มาพัก ท่านคือผู้ที่ย่นความงานเขียนของท่านพุทธทาส เจ้าของนามปากกา “เช่นนั้นเอง” อายุ 92 ปี ระหว่างบวชครั้งที่สาม มีโอกาสได้พบท่าน ทันทีที่เห็นก็วิ่งเข้าไปกราบถามตอบกันครั้งสองครั้ง อ้อมก็ถามพรวดไปว่า สอนอ้อมแบบคอร์สเข้มได้ไหมกล้าพูดได้ไงไม่รู้ ท่านก็ว่า ถ้าเล่น ๆ อย่ามาเพราะเสียเวลาทั้งคู่ แต่ถ้าตั้งใจก็พร้อมสอน

คลิกเลข 2 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป

คุณทวดสอนอะไรบ้างคะ

มาถึงคำแรกท่านก็สอนศัพท์ยากเลยบอกว่า “เลือกเอา เราจะอยู่ฝั่งสังขตะหรือ อสังขตะ” นี่คือคำแรกที่อ้อมจดลงสมุด เจอคำนี้เข้าไปอ้อมสะกดไม่ถูกเลย คือแค่เราอ่านหนังสือธรรมะเจอคำว่าอายตนะก็จะไม่ไหวแล้ว เจอสังขตะเข้าไปมึนเลย แต่เราก็ไม่ยอมแพ้ จึงฟังจนได้ความหมายว่า “เที่ยงหรือไม่เที่ยง” แล้วคุณทวดก็สอนหลายอย่างท่านพูดเรื่อง “ความว่าง” ความว่างเท่ากับนิพพาน ท่านพูดเรื่องกายกับจิตที่แยกกัน

แม้เราจะรู้อยู่แล้วจากการอ่านหนังสือแต่ระหว่างที่อ้อมนั่งเรียนกับคุณทวด ท่านทำให้อ้อมเชื่อว่ากายกับจิตมันแยกกันได้ไม่ได้ถึงขั้นอะไรกระทบก็ไม่เดือดร้อน แต่ก็เข้าใจได้มากกว่าเดิม คุณทวดสอนกระทั่งว่าตา หู จมูก ลิ้นของเรานั้นมาเป็นพวง ๆ และมาอาศัยร่างกายที่เป็นแท่ง ๆ นี้ คุณทวดอธิบายเล่น ๆ ว่า ถ้าให้ตา หู จมูก ลิ้นมาเป็นพวง ๆ ก็คงจะไม่เข้าท่า ออกมาคงดูไม่สวย เลยบรรจุเข้าไปในร่างกาย ตัวหลักจริง ๆ แล้วมีเท่านี้แล้วก็มีจิตมาอาศัยอยู่ เกื้อกูลกันไป แต่เราก็ไปยึดเอาว่าร่างกายนี้คือตัวกู ของกู เชื่อมั่นว่ากายกับจิตเป็นเรื่องเดียวกัน คุณทวดสอนอย่างลัด สั้น แต่ทำให้เข้าใจมากขึ้น คือสภาวะที่ไม่มีอะไร ไม่มีกู ไม่มีตัวแบบที่อ้อมเข้าใจ ความว่างคือความสงบเย็น เบา สบาย ปราศจากอวิชชา (เพราะมันไม่โง่แล้ว) ว่างจากกิเลส ไม่มีโลภะ โทสะโมหะ ซึ่งก็ต้องเลือกว่าจะว่างแบบไหน จะว่างแบบถาวรหรือว่างแบบชั่วขณะ สำหรับมือใหม่อย่างอ้อม คงขอเป็นว่างแบบชั่วขณะก่อน ต่อไปก็อาจว่างนานขึ้นหรือว่างบ่อยขึ้นเพราะชีวิตเรามีให้เลือกอยู่สองทาง จะว่างหรือจะวุ่น อ้อมเข้าใจเรื่องความว่างมากขึ้น แต่ไม่กล้าพูดออกมา กลัวเขาจะหาว่าเพี้ยน เพราะชีวิตของเรายังติดอยู่กับความโลภ ความโกรธความหลง ด้วยหน้าที่การงานและปัจจัยต่าง ๆทั้งยังมีคู่ปรับเป็นเรื่องในอดีตและอนาคตอีกสุดท้ายจึงยังไม่พ้นเรื่องกิน กาม เกียรติ โลภโกรธ หลง เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณทวดสอนก็สามารถนำมาใช้ได้ในยามที่อยู่ในวัด

คุณทวดสอนอย่างไรในเมื่อเรายังติดสิ่งต่างๆ อยู่

เราคุยแม้กระทั่งว่าโลกใบนี้แท้จริงแล้วน่าเบื่อ ไม่น่าอยู่ อ้อมเคยพูดว่าชีวิตเรานั้นคือกองทุกข์เคลื่อนที่ อ้อมก็ถูกคนอื่นต่อว่าว่ามองโลกในแง่ร้าย แต่อ้อมคิดว่าตัวเองมองโลกอย่างที่มันเป็น มองตามความจริงยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราตื่นมาไม่แปรงฟัน มีกลิ่นปาก เราก็สร้างทุกข์ให้ผู้อื่น ไม่ได้ขับถ่ายก็เป็นทุกข์ ไม่ได้กินข้าว เกิดความหิวก็เป็นทุกข์ เราถูกธรรมชาติบังคับ มนุษย์เราไม่ค่อยยอมรับว่าตัวเองเป็นทุกข์สักเท่าไรยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เรานั่งนาน ๆ จนต้องเปลี่ยนท่า ถามว่าทุกข์ไหม คนส่วนใหญ่มักบอกว่าไม่ทุกข์ แค่เมื่อย แต่หากพิจารณาก็จะรู้ว่าความเมื่อยแท้จริงแล้วก็คือความทุกข์

เราพยายามหลีกเลี่ยงคำว่าทุกข์ คำว่าตายก็เช่นเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงความตายก็คือความจริงอย่างหนึ่งของโลกมนุษย์ ที่แม้กระทั่งพระพุทธเจ้าก็ยังหลีกหนีไม่พ้น ดังนั้นเราพึงระลึกถึงความตายเพื่อเตือนตนเองไม่ให้ตั้งตนอยู่ในความประมาทไม่ดีกว่าหรือ

คุณทวดบอกว่า ธรรมโฆษณ์ของท่านพุทธทาสภิกขุเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติตาม ท่านพยายามย่นคำสอนของท่านพุทธทาสให้สั้นกระชับเหมาะสมกับเวลาและสติปัญญาที่เรามีแล้วสิ่งที่ท่านสอนก็ทำให้เรามั่นใจว่านิพพานมีอยู่จริง เห็นได้จริง ๆ แบบไม่จำกัดสถานภาพเพศ วัย และเวลา ก็ถ้าถึงเวลาก็นั่นแหละแต่มันก็ไม่ได้ง่ายหรอกนะคะ คุณทวดพูดบ่อยว่าไม่งั้นพระอรหันต์ก็เดินชนกันหัวแตก ยิ่งถ้าอ้อมไม่ลงมือทำอย่างจริงจัง มันก็ไม่ถึงไหน แต่ก็คิดว่าถ้ามันยังไม่หลุดพ้นชาตินี้แล้วต้องโผล่มาอีก อย่างน้อยให้จิตคุ้นชินกับเรื่องนี้ให้มาก ๆ เถอะ ไม่ไหวจะเกิดบ่อย ๆ

หลังจากปฏิบัติธรรม มีคนมองว่าอ้อมแปลกบ้างไหม

คนอื่นจะมองว่าเราบ้าหรือไม่นั้น ความประพฤติของเราก็มีส่วน อย่าเอาแต่โทษมุมมองความคิดของผู้อื่น ถ้าหากเราก้าวเข้าสู่ทางธรรมแล้วทำตัวแปลกประหลาดอวดภูมิความรู้ ใส่ชุดขาวมาทำงาน พูดแต่ศัพท์แสงประหลาด แต่การกระทำยังคงเหมือนเดิม ไม่มีการพัฒนา อย่างนี้ก็อาจจะบ้าอย่างที่เขาว่ากันจริง ๆ อ้อมก็ทำตัวเหมือนคนปกติทั่วไปในสังคม เพราะยังต้องกินต้องใช้เป็นปกติ ยังใช้เงินแลกความสะดวกสบาย เพียงแต่เราพึงหาเงินด้วยจิตบริสุทธิ์ไม่ยึดติดกับทรัพย์ที่ได้มา เมื่อได้มาก็เข้าใจว่าต้องเสียไปเป็นธรรมดา ไม่ใช่ว่าเข้าวัดแล้วเราไม่ต้องการเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแล้ว

แต่คนเรามีหลายแบบ บางคนปฏิบัติธรรมแล้วก็ดีขึ้น บางคนก็เสมอตัว ขึ้นอยู่กับว่าเขาพบเส้นทางที่จะพาเขาไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจนหรือไม่ บางคนเจอผู้นำทางผิดก็น่าเห็นใจ บ้างก็หลงไปกับสิ่งที่ตัวเองทำแล้วคิดว่าดี อย่างนี้เรียกติดดี แล้วเอามาตรฐานความดีของตนเองไปตัดสินว่าการกระทำหรือความเชื่อของผู้อื่นเป็นสิ่งผิด พระพุทธองค์เองก็ไม่เคยตรัสว่าสิ่งที่ท่านทำคือสิ่งถูก สิ่งที่ผู้อื่นทำคือสิ่งผิด แต่ในท้ายที่สุด วิถีปฏิบัติของท่านก็พิสูจน์ตัวเอง เพียงแต่เราอาจต้องเลือกผู้นำทางสักนิด เลือกคนที่สอนให้เราลด ละ เลิก กิน กาม เกียรติ เพราะสำหรับอ้อมแล้ว ยิ่งมีมากก็ยิ่งร้อน ยิ่งทุกข์ แต่เมื่อเรายังดำเนินชีวิตในโลก ในสังคม เราก็ยังต้องมี แค่ต้องใช้ให้เป็น

คลิกเลข 3 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป

หากทุกข์เกิดขึ้น อ้อมมีวิธีดับทุกข์อย่างไร

บางคนบอกว่า เมื่อทุกข์เกิดขึ้นให้มองโลกในแง่บวก แต่อ้อมเลือกที่จะมองโลกตามความเป็นจริง ทุกข์ก็คือทุกข์ แล้วจึงหาวิธีจัดการกับทุกข์ โดยการย้อนกลับมามองถึงต้นเหตุของความทุกข์ ถ้าหากทุกข์เกิดที่ใจก็ปรับแก้ที่ใจ แต่ถ้าหากเกิดจากปัจจัยภายนอก อย่างเช่นเรื่องเศรษฐกิจ เราก็ต้องเริ่มปรับที่ใจเราก่อน และเมื่อเรามีสติ ปัญญาก็มา เรียกว่าสติกับปัญญามาคู่กัน เมื่อใจหายร้อน หายวุ่น ปัญญาก็จะค่อย ๆ เกิดขึ้นเราคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้เดี๋ยวนั้น แต่ปัญญาจะคอยบอกเราว่าต้องทำอย่างไร

อ้อมไม่ได้บอกว่าการเข้าวัดสามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง แต่อย่างน้อยที่สุดเราจะมองปัญหาด้วยความเข้าใจว่าเดี๋ยวปัญหาก็จะผ่านไป ไม่มีปัญหาใดคงอยู่ชั่วนิรันดร์ เมื่อเรารู้ว่าสุดท้ายแล้วปัญหาทุกอย่างจะคลี่คลายเราก็จะไม่จมอยู่กับความทุกข์ อย่างเมื่อประมาณปี 55 อ้อมถูกขโมยขึ้นบ้าน เอานาฬิกานับสิบเรือนที่อ้อมสะสมไว้ เงินสดและอื่น ๆ ไปจำนวนไม่น้อย แต่คนใกล้ตัวกลับไม่ค่อยมีใครรู้เรื่องนี้ เพราะอ้อมยอมรับความเป็นจริงได้ ไม่เป็นเดือดเป็นร้อน คิดเสียว่าสมบัติผลัดกันชม อย่างที่คุณทวดกล่าวว่า “คิดเสียว่าทรัพย์สินเหล่านี้มันมีเท้าเราไม่เดินจากมัน มันก็เดินไปจากเราอยู่ดีหรือไม่ก็มีคนอื่นมาพรากทรัพย์จากเราไป”

ในความเป็นจริงการบอกตนเองไม่ให้ทุกข์นั้นเป็นเรื่องยาก แต่เมื่อเรานั่งจ้องหน้ากับความทุกข์ อ้อมว่าความทุกข์นั้นหายไปนะเหมือนกับเวลาที่เราจ้องหน้ากับความโกรธความโกรธก็จะหายไป แต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้จ้องหน้ากับความทุกข์และความโกรธ ปัญหาจึงเกิดขึ้น คุณทวดสอนว่า เมื่อเกิดโทสะให้บอกตัวเองว่า “กูไม่เอากับมึงแล้วโว้ย”สำหรับอ้อม วิธีนี้ถือว่าได้ผล เพราะจากที่เราโกรธมาก ๆ ความโกรธก็ลดลง

อ้อมเดินเข้าสู่เส้นทางสายธรรมะได้อย่างไร

จริง ๆ แล้วอ้อมกับแม่ก็ยังงง ๆ เพราะตั้งแต่เด็กแค่ให้นั่งสมาธิอ้อมก็หนีแล้ว แต่ก็มีลางสังหรณ์ว่าตัวเองจะได้บวช จนกระทั่งอายุได้สามสิบกว่า คิดอยากทำรายการธรรมะแต่ก็ไม่ได้ทำ หลังจากนั้นก็ไปเจอคุณยายจ๋าท่านชวนไปเรียนเรื่องปฏิจจสมุปบาท ตอนนั้นก็ยังไม่เข้าใจ แต่ก็เป็นเหมือนประตูให้เราได้ทำงานจิตอาสาและเจอคนที่แนะนำให้อ้อมลองสวดมนต์ทำวัตร อ้อมไปเจอบทสวดที่ว่าโสกะปะริเทวะ ทุกขะ โทมะนัสสุปายาสาปิ ทุกขา (แม้ความเศร้าโศก ความร่ำไรรำพันความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์) ทำให้อ้อมกระจ่างเลยทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นความทุกข์จริง ๆ

ในทางวิทยาศาสตร์มีคนกล่าวว่าบทสวดมนต์จะมีคลื่นเสียงที่ทำให้จิตใจสงบอ้อมว่ามันก็เป็นไปได้ แต่ด้วยความที่อ้อมอ่านฉบับแปล ผนวกกับตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่ใจเราเปิด นิ่ง รับฟังเสียง จึงทำให้เกิดความเข้าใจในความหมายที่แท้จริง บางคนยังไม่ทันสวดมนต์ก็หวังผลเสียแล้วการหวังผลอาจเป็นกำลังใจให้เราได้ในระยะสั้นแต่หากจะให้ได้ผลในระยะยาว เราต้องเข้าใจบทสวดมนต์อย่างถ่องแท้

หลังจากนี้จะบวชอีกไหมคะ

อาจไม่บวชแล้วก็ได้ เพราะคุณทวดทำให้รู้ว่า การบวชก็ดี แต่ไม่บวชก็ได้ มันง่าย ๆ แค่นั้น ไม่ต้องทุกข์ว่าต้องบวชไหมอยู่ที่เหตุปัจจัย ถ้าจะบวชก็บวช ถ้าไม่ได้บวชก็ไม่ได้แปลว่าไม่สนใจธรรมะแล้ว เพราะรูปลักษณ์และเสื้อผ้าไม่ได้เป็นตัวตัดสินหรือบ่งบอกว่าจิตหลุดพ้นได้รู้จักกับนิพพาน

อ้อมว่าธรรมชาติไม่ได้คัดเลือกคนด้วยสภาวะภายนอก นิพพานไม่ได้ซื้อได้ด้วยเงิน นิพพานไม่ได้ได้มาด้วยชุด นิพพานคือการลงทุนที่ต้องแลกด้วยใจของเรา แลกด้วยความเพียรของเรา แลกด้วยความว่างของจิตเรา ความว่างในความเข้าใจของอ้อมคือต้องเอาความว่างในใจของเราแลกไปจึงจะได้ความว่างกลับมา

จะใส่ชุดไหนจึงไม่สำคัญเท่ากับมีหัวใจแห่งพุทธะหรือยัง


เรื่อง กองบรรณาธิการ ภาพ สุเมธ วิวัฒน์วิชา ผู้ช่วยช่างภาพ วรวุฒิ วิชาธร, ธนทัช หิรัญวรกุล สไตลิสต์ ณัฏฐิตา เกษตระชนม์


Secret คือแรงบันดาลใจ
สั่งซื้อนิตยสารหรือสมัครสมาชิก Secret ได้ที่ 0-2423-9889
ทาง Naiin.com : https://www.naiin.com/magazines/title/SC/

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.