ทำยังไงให้ ไม่ซึมเศร้า
4 ทัศนคติวัย 40+ ทำยังไงให้ ไม่ซึมเศร้า ? ผู้สูงอายุ คือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และประเทศไทยเราเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วตั้งแต่ปีนี้ ที่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่บ้านเรามีประชากรเด็กน้อยกว่าผู้สูงอายุ
แม้หลายหน่วยงาน ทั้งส่วนที่ดูแลสวัสดิการสังคม และที่เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น กระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้นิ่งดูดาย ศึกษาและดูงานจากประเทศที่อยู่ในสังคมผู้สูงอายุแล้ว เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เพื่อมาปรับใช้กับสถานการณ์ของบ้านเรา ทว่า งานส่วนใหญ่ก็เป็นแนวรับ (แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น ปัญหาสุขภาพ โรคเรื้อรังต่างๆ) มากกว่าแนวรุก (ป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น หรืออย่างน้อยก็ผ่อนหนักเป็นเบาบ้าง)
ในฐานะ บ.ก.นิตยสารสุขภาพ ที่ได้ยินเรื่องเหล่านี้มาพอสมควร ใกล้ชิดคลุกคลีกับทั้งฟากคนวางแผน และฟากคนที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ เลยพอมองเห็นว่า หลายเรื่องสามารถป้องกันได้ ตั้งแต่วัยนี้แหละ 40-50 ปี (แบบบ.ก.) ซึ่งแน่นอนเรายังไม่ใช่ผู้สูงอายุ แต่กำลังจะเป็นในเวลาอันใกล้ ถ้าใครเป็นเพื่อนเฟสกับบ.ก.มาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว จะเริ่มได้ยินคำนี้จากเรา “New Gen Aging”
ถามว่าทำไมต้องนิยามตัวเองแบบนี้ “New Gen Aging” เหตุผลคือ ความเป็น Gen X ของเราที่มีลักษณะเฉพาะตัวบางอย่าง เช่น เกิดและโตในยุคอะนาล็อก บรรยากาศของสงครามอินโดจีนและสงครามเย็น(การแบ่งสองฟากโลกคอมมิวนิสต์และประชาธิปไตย) ยังลอยอวล รวมทั้งกระแสของพวกบุพผาชน (เสรีภาพสุดขั้วแบบเอ็กเต็นเชียลลิสม์…แผ่มาจากคุณพ่อฌองปอลซาร์ต และคุณแม่ซีโมนเดอโบวัวร์) สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพล ต่อศิลปะที่คนนี้เจนนี้เสพ ไม่ว่าหนังสือหรือบทเพลง จนกลายเป็นวิธีคิดการใช้ชีวิตและการสร้างงานของนักเรียนศิลปะยุคนั้น อิอิ สมัยเป็นนักเขียนอิสระในวัย 20+ บ.ก.ก็เคยเป็นแบบนั้น
นี่คือ ที่มาอันลึกซึ้งของคนรุ่นเรา “New Gen Aging” ซึ่งบางคนอาจคิดว่า วุ๊ย จะต้องสาววววยาวววไปไหน เราก็บอกได้ว่า ที่มาเก๋ๆ ง่ายๆ ของชื่อ “New Gen Aging” คือ เรากำลังจะเป็นผู้สูงอายุในในทศวรรษหน้า และท่ามกลางกระแสสุขภาพที่กำลังไหล่บ่า ท่วมหัวท่วมหูอยู่ขณะนี้ เราก็ควรตระหนัก และเตรียมตัวอะไรไว้บ้าง เพื่อเมื่อเป็นผู้สูงอายุ เราจะยังเป็นบุคคลมากคุณค่า สามารถเก๋ไก๋ สวย สดใส เชิดใส่ลูกๆ ได้
…แทนการเป็นบุคคลที่มีร่างกายอ่อนแอ เช่น กระดูกผุพัง สายตาและสมองทำงานไม่สัมพันธ์กัน การทรงตัวจึงไม่ดี หูรูดกระเพาะปัสสาวะไม่ทำงาน ตัวอย่างทั้งหมดจึงทำให้ความอดทนต่ำ ยิ่งเมื่อสวัสดิการรัฐไม่เอื้อ จึงเรียกร้องการบริการจากคนรุ่นหลัง สุดท้ายเลยแปลงร่างกลายเป็นมนุษย์ป้าโดยสมบูรณ์
ฉะนั้นคนวัย “New Gen Aging” จึงต้องเตรียมสุขภาพสมองให้พร้อม (ความจำยังดี การประมวลข้อมูลมาใช้ยังเลิศ ประกอบกับประสบการณ์มากมาย เราจะยังช่วยคนรุ่นหลังขับเคลื่อนโลกใบนี้ได้อยู่) ไหนจะสุขภาพกาย ซึ่งนอกจากการกินอาหารสุขภาพแล้ว ยังต้องออกกำลังกาย เพื่อสร้างหรือคงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ คงประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ รักษาความสามารถในการทรงตัว และความยืดหยุ่นของเส้นเอ็นทั่วร่างกาย
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ เรา “New Gen Aging” จะต้อง จะต้อง จะต้อง…ย้ำ…ไม่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถรักษาความแข็งแรงของร่างกายดังกล่าวไว้ได้เลย และวิธีการง่ายๆ เพื่อช่วยให้เราไม่เป็นทุกข์เรื้อรัง จนโรคซึมเศร้าถามหา ในคนรุ่น “New Gen Aging” มีดังนี้ค่ะ
- ปรับเปลี่ยนทัศนคติ สมัยก่อนบ.ก.เคยเป็นเฟมนิสต์สุดขั้ว (มี The Second Sex ของคุณแม่ซีโมนเดอโบวัวร์ เป็นคู่มือชีวิต โชคดีที่เป็นพุทธศาสนิกชนสายแข็ง เลยไม่ยอมผิดศีลข้อสาม เหมือนลูกศิษย์คุณแม่ซีโมนจำนวนหนึ่ง) แต่เมื่อพิจารณาโลกรอบตัวในเวลาต่อมา ก็รู้ว่า วัฒนธรรมไทยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของทุกสรรพสิ่งได้ เพราะเราเป็นสังคมพุทธ สังคมแห่งความเมตตากรุณา ผู้นำที่ดี (ไม่ว่าหญิงชาย ในสังคมระดับไหน) ต้องมีจิตใจกว้างใหญ่ เหมือนผืนฟ้าแผ่นทะเล และมนุษย์เรา อีกทั้งสัตว์โลก และธรรมชาติ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เราไม่สามารถแยกความสำเร็จของเราวันนี้ ออกจากการเกื้อกูล และสั่งสอนจากคนรอบข้าง ทั้งทางตรงและอ้อม
- มองโลกตามเป็นจริง ในยุคสงคราม ผู้นำไม่กี่คนกุมชะตาเราไว้…ผู้คนเล็กๆ อย่างเราไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งระดับโลกได้ เราจึงต้องฝัน…ฝันถึงความปรองดอง ฝันถึงความรัก ฝันถึงความสุขสงบ แต่เมื่อสงครามล้างเผ่าพันธุ์จบลง เราวิเคราะห์เองได้ว่า สงครามเกิดจากกิเลสของปัจเจกที่เป็นผู้นำ และกลุ่มปัจเจกที่เป็นประชาชนในประเทศ การป้องกันการเกิดสงครามใดๆ ย่อมมาจากการขัดเกลาจิตใจตนเองให้สงบ ลดละกิเลสลง…ซึ่งผลจากการฝึกการขัดเกลาจิตใจ ทำให้เรามองโลกตามความเป็นจริง ซึ่งทำให้เรารู้ว่า ชีวิตมีแค่ปัจจุบันเท่านั้น เราแก้ไขความผิดพลาดในอดีตไม่ได้ แต่เราสามารถใส่พลังจัดเต็ม ทำวันนี้ให้ดีที่สุด เท่าที่คนเล็กๆ อย่างเราจะทำได้ เพื่ออนาคตที่ดี ที่เราสามารถหวังได้
- ช่วยเหลือคนอื่น สรรพสิ่งในโลกเชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียว (Oneness) ชีวิตที่ราบรื่นคือ ชีวิตที่ไปด้วยกัน จูงมือกันและกันไปเรื่อยๆ พ่อแม่ พี่น้อง ครอบครัว ลูกเต้า คนรัก เพื่อน และผู้คนรอบๆ ตัว บางที การมอบความช่วยเหลือให้เพื่อนที่กำลังมีปัญหา อาจทำให้เรารู้สึกหนักเหนื่อย (เพราะเราก็มีปัญหาของเรานี่หว่า)…แต่อย่าลืมว่า เมื่อเราอยู่ในปัญหาของเรา เราจะเห็นปัญหาใหญ่เท่าฟ้า แต่เมื่อเราถอยตัวออกมา หันหน้าไปช่วยคนอื่น หันกลับมาอีกที ปัญหาของตรูนี้น้อยนิดกะจิริด J คนใจใหญ่ที่เอาตัวเข้าไปแบกรับภาระของครอบครัวและคนรัก มักจะพบความสุขอันยิ่งใหญ่ จากความสุขของคนที่เรารัก เป็นการเพิ่มคุณค่าและความเคารพตนเอง ในแง่การละวางตัวตน ความอดทนเผากิเลส ความเมตตากรุณา…ซึ่งล้วนเป็นธรรมะชั้นสูง ที่พระพุทธเจ้าสอนว่า ต้องฝึกฝนจากสถานการณ์จริงทั้งสิ้น
Note
– การพึ่งพาตนเองได้ คือการช่วยเหลือคนอื่นอย่างหนึ่ง
– การช่วยเหลือคนอื่น เป็นการฝึกความเข้มแข็ง จงท้าทายตนเองให้ทำให้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ
- สื่อสารตรงไปตรงมา คนเจน “New Gen Aging” ถูกเลี้ยงมาโดยคนรุ่นเก่า ที่มีค่านิยมเก่าๆ เช่น ต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ ห้ามพูด ห้ามเถียง ซึ่งถ้าจะว่าไป ก็เป็นเรื่องดี เพราะการไม่พูดซะบ้าง ย่อมลดความขัดแย้งลง แต่ในโลกที่ข้อมูลข่าวสารท่วมหูท่วมหู เราออนไลน์กัน 24 ชั่วโมง บอกเล่าคำคม ข้อมูลนั่นนี่ แต่ไม่ค่อยสื่อสารความต้องการของเราตรงๆ (ซึ่งแน่นอน ย่อมไม่ใช่การบอกเล่าผ่านออนไลน์) สาเหตุอาจด้วยเราไม่รู้ว่าเราต้องการอะไร (เพราะพ่อแม่เราไม่เคยถามความต้องการของเรา ๆ เลยไม่เคยถูกฝึกให้มองความติ้งการของตนเอง) หรือยังติดนิสัยห้ามบอกความต้องการของตัวเอง…อิอิ นี่จึงอาจเป็นสาเหตุประการหนึ่ง ที่ยังไม่มีสินค้าที่สามารถเจาะตลาดคนกลุ่มนี้ได้ ทั้งๆ ที่นักการตลาดรู้ว่า คนรุ่น “New Gen Aging” มีฐานะทางการเงินที่มั่นคง พร้อมจะจ่ายเพื่อความยั่งยืนของสุขภาพและความสุข