พิชิตซึมเซา
จะซึมเศร้าก็ไม่ซึมเศร้า เอ๊ะ ยังไงกัน ยัยบ.ก.คนนี้
ซึมเศร้า เป็นอาการของโรค ได้แก่ อารมณ์แปรปรวน กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ไม่มีแรงและกำลังใจ
ซึมเซา เป็นความเงื่องหงอย ละเลย เพิกเฉย ไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ ขี้เกียจ (แต่อาจจะยังกินได้ นอนหลับ)
หนังสือชื่อ New Aging เขียนโดยสถาปนิกวัย 40+ Matthias Hollwich ที่บ.ก.กำลังจะเล่าให้ฟังในตอนนี้ ด้วยความที่เขาไม่ได้เป็นแพทย์ เหมือนผู้เขียนหนังสือหลายๆ เล่มที่บ.ก.นำมาเขียนถึง ฉะนั้นวิธีการของเขาอาจไม่สามารถแก้โรคซึมเศร้าได้ แต่แก้ความ “ซึมเซา” ตามคำจำกัดความข้างต้นได้
เอาล่ะ เรามาว่ากันเล้ยยยยย
1.รักวัย New Gen Aging ของเรา จากที่เขียนไปเมื่อวาน ไม่มีอะไรสุขไปกว่าวัยที่เราอยู่นี้อีกแล้ว เป็นช่วงชีวิตที่สวยงาม เรามองโลกในแง่ดีแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จะว่าไป ทัศนคติของคุณสถาปนิกคนนี้กับ บ.ก. ไม่ต่างกันเท่าไร แค่บ.ก.อธิบายด้วยปรัชญาล้ำลึก อิอิ (ดีป่าวหว่า)
2. เข้าสังคมบ้าง วัยนี้แหละที่ธรรมะที่เรายึดเหนี่ยว และบุญที่เราทำมาตลอดทั้งชีวิต จะนำพากัลยาณมิตรที่มีธรรมะเสมอกันเข้ามาใกล้ชิด พูดกันง่ายๆ เราจะพบเพื่อนแท้ ที่ไม่มีวัน “เท” นอกจากนี้เราจะเห็นคุณค่าของความเป็นเพื่อนแท้ และทำให้มันต่อยอดและงอกงามต่อไป เพื่อนชวนไปไหน เราไม่ไปบ้าง เพื่อนก็ไม่โกรธ เราอยู่ตามลำพังโดยไม่มีเพื่อนบ้าง เราก็ไม่งอแง
3. อย่าเกษียณ เพราะพลังเยอะขึ้น โดยเฉพาะในวัย New Gen Aging เราจะพบแพชชั่นใหม่ ไอ้โน่นก็อยากทำ ไอ้นี่ก็อยากมีส่วนร่วม เพื่อนคนนั้นเก่งเรื่องนี้ อยากรู้เคล็ดลับจากเขาจัง เพื่อนอีกคนเก่งอีกเรื่อง แหมดีจัง บางคนก็อยากมาเรียนรู้บางอย่างจากเรา แหมเรามีคุณค่าขนาดนั้นเชียวหรา… อู้วววววฮูววววว ทำไมโลกช่างน่าอยู่เช่นนี้หนอ
4. ออกกำลังกาย พูดถึงประโยชน์กันบ่อยๆ แต่วิธีการหรือ…ไม่ต้องเข้ายิมทุกวันก็ได้ คนแอ็กทีฟอย่าง เรา New Gen Aging เดินเร็วหรือวิ่งขึ้นบันไดก็ได้ หรือการได้ออกจากบ้านไปทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะบ.ก.ชอบอาบแสงตะวัน ถ่ายรูปพระอาทิตย์อัสดง และดอกหญ้าน้อยๆ การได้ลุกนั่ง ย่อเข่า บ่อยๆ ก็ช่วยเสริมกำลังข้อต่อได้เช่นกัน หรือการสค็วอชขณะรีดผ้าหรือแปรงฟันก็ไม่เลวนะคะ (แต่ต้องวางท่าให้ถูก มิเช่นนั้นแทนการสร้างกล้ามเนื้อสะโพกและข้อเข่า กลับกลายเป็นการทำลายลูกสะบ้า (ภาษาโบราณ หมายถึงข้อต่อหัวเข่า อิอิ) ของตนเอง เอ่อออม…ตอนนี้บ.ก.อยากปีนหน้าผา ใครจะไป ชวนบ.ก.ด้วยนะคะ
5. กินอะไรก็เป็นเช่นนั้น ก็นะ…เรื่องนี้บอกกันบ่อยๆ ว่าอาหารสุขภาพดีอย่างไร แต่ถ้ามันฝื้นนนนฝืน ก็หาเพื่อนกินอาหารสุขภาพสิ เพื่อนบ.ก.บางกลุ่มมักรวมตัวกันทำแบบนี้ ดูน่ารักดีค่ะ หรือบางคนอาจเก๋กว่านั้น เปิดบ้านเป็นครัวทำอาหารสุภาพกันซะเลย อย่างไรก็ตาม ต้องออกตัวว่า บ.ก.ไม่ค่อยสัดทัดเรื่องกินนัก เพราะกินแต่อาหารสุขภาพแนวชีวจิต และลิ้นก็เป็นจระเข้ ไม่รู้สึกว่าอะไรอร่อยกว่าอะไร รู้ว่าสิ่งนี้ดี ก็กินให้อิ่ม จบค่ะ จึงไม่ต้องชวนบ.ก.ไปกินข้าวนะคะ อิอิ
6. เป็นนายของเทคโนโลยีออนไลน์ แช็ตบ้างในเรื่องที่ต้องแช็ต เข้าไปดูเพื่อนๆ ในเฟสบ้างว่าเขาทำอะไรกัน อ่านข่าวสารหลอกๆปลอมๆบ้าง (จะได้รู้ว่าของจริงคืออะไร อิอิ) แต่ก็บล็อกหรืออันเฟรนด์บางเจ้าที่เข้ามาก่อกวน หรือดราม่าให้ “ป้า” รำคาญ นอกจากนี้ควรแบ่งเวลาการออนไลน์ ซึ่งถ้าไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ลองนึกถึงธรรมะของพระพุทธเจ้า ท่านให้จดจ่อกับปัจจุบัน เช่น คุยงานหรือคุยกับเพื่อนอยู่ ก็ไม่ต้องรูด “โทสัพ” เดินข้ามถนนหรือขึ้นตึกขึ้นบันได ก็ไม่ต้องรูด “โทสัพ” หากนั่งรอเพื่อนในร้านกาแฟ ก็ทอดสายตาไปมองฟ้ามองผู้คนบ้าง ขอร้องอย่าบอกว่า สมองที่ดีต้อง มัลติท๊าสกิ้งได้ นั่นเป็นการหลอกให้คุณทำงานเพิ่ม เพราะที่จริงในทางการแพทย์ วิธีนี้จะทำให้สมองเสียสมดุล เสียสมาธิ ก่ออาการทางจิตใจหลายอย่าง
7. ครอบครัวคือสวรรค์ ไม่มีอะไรหรือใครในโลกนี้สำคัญกว่าคนในครอบครัว ถ้าพวกเขาไม่อยู่ไกลอีกฟากโลกหนึ่ง จงกลับไปเยี่ยมเยียนพ่อแม่ปู่ย่าตายาย บ่อยเท่าที่เวลาจะอำนวย ความสุขของท่านจะแผ่รัศมีออกไปทั่วหมู่บ้าน นอกจากบ้านเรา ญาติเรา พี่ป้าน้าอาทั้งตำบลอาจได้รับความสุขนี้ไปด้วย หรือถ้าไม่ได้ไปหาท่านเหล่านั้น การเก็บกวาดบ้าน หรือจัดของให้เข้าที่เรียบร้อยอยู่เสมอ ก็ย่อมช่วยทั้งเรื่องความสุขใจ และเรื่องสุขอนามัย Less is More ท่านว่าอย่างนั้น (แล้วบ.ก.จะเล่าเรื่องนี้ทีหลังค่ะ)
8. แชร์ประสบการณ์กับคนรุ่นหลัง การปรับวิธีการสื่อสารในการพูดคุยกับคนรุ่นหลัง โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนมาตรฐานการใช้ชีวิตและวิธีคิดบางอย่าง ถือเป็นการลดตัวตนอย่างดี เพราะนอกจากเราจะได้เรียนรู้ความสามารถของคนยุคดิจิตอล (วัย >30 ปี)
ซึ่งเท่าที่ บ.ก.เจอพวกหัวกะทิของคนเหล่านี้ เขาจะลดความเป็น self-center หรือทำทุกอย่างเพื่อความสำเร็จ ความมีชื่อเสียง และความร่ำรวยของตัวเอง และเพิ่มการทำเพื่อประโยชน์ของคนอื่น ชุมชน และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย เนื่องจากโลกยุคดิจิตอลที่การสื่อสารทำให้เราเห็นทุกมุมโลกอย่างง่ายดายและรวดเร็ว เราจะเห็นความทุกข์ยากของคนอีกกว่าครึ่งโลก ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน “หากเราละเลย คนทุกข์ยากเหล่านั้น พวกเขาจะมาเบียดเบียนเราไม่ทางหนึ่งก็ทางใด เช่น อาชญากรรม สงครามการแย่งชิงดินแดน ต่อให้ไม่กระทบเราตรงๆ ก็อาจส่งผลทางอ้อมต่อเศรษฐกิจ และสวัสดิภาพ เราจึงต้องช่วยทำให้สถานการณ์เหล่านี้คลี่คลายลงบ้าง”…เด็กวัย 25 ปี คนหนึ่งบอก บ.ก. แบบนี้
ฉะนั้น เมื่อพบคนรุ่นหลังมีวิธีคิดแบบนี้ เรา New Gen Aging ก็เบิกบาน มีกำลังใจ ที่เดินหน้าเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ เมื่อเราเปิดรับและชื่นชมคนเหล่านี้ พวกเขาก็พร้อมจะฟังประสบการณ์ชิกๆของเรา ซึ่งเป็นการช่วยให้คนรุ่นหลังให้มองเห็นอุปสรรคชีวิตที่เขาจะต้องพบเจอ และวิธีการเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม