เรียนฟิน ฟิน ที่ ฟินแลนด์
นอกจากจะเป็นต้นกำเนิดของโทรศัพท์ยี่ห้อโนเกีย และตัวการ์ตูนโทรลในตำนานอย่าง “มูมิน” แล้ว ฟินแลนด์ ยังมีระบบการศึกษาที่ได้รับการยกย่องว่าดีที่สุดในโลกอีกด้วย หลายคนอาจสงสัยว่าเหตุใดประเทศในแถบสแกนดิเนเวียแห่งนี้ถึงมีระบบการศึกษาที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก เค้ามีอะไรที่แตกต่างหรือเป็นจุดเด่น พี่ก้อย – กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์ บรรณาธิการหนังสือเล่ม สำนักพิมพ์ openworlds ศิษย์เก่าฟินแลนด์ จะมาช่วยไขข้อข้องใจให้กับเรากัน
“อยากท้าทายตัวเอง” ฟินแลนด์คือจุดหมาย
เราจบปริญญาตรีทำงานมาได้สักปีนึงก็อยากเรียนต่อ ตอนนั้นเพื่อนสมัยมหาวิทยาลัย (อ.จุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ) เค้าเคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน (AFS) ที่ฟินแลนด์มาชวนไปเรียน ก็เลยรู้ว่าที่ฟินแลนด์ให้เรียนฟรีตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาเอกเลย แม้แต่คนต่างชาติเองก็ไม่เสียเงิน โดยมีโควต้ารับว่าปีนี้แต่ละคณะในมหาวิทยาลัย จะเปิดให้มีนักศึกษาต่างชาติเรียนกี่คน เราเลยลองหาคอร์สที่ตัวเองสนใจแล้วสมัครไป ด้วยความที่อยากท้าทายตัวเอง อยากไปในที่ที่เราไม่รู้จัก ดินแดนที่เราไม่คุ้นเคย ฟินแลนด์จึงเป็นเป้าหมายที่เราเลือก
“ความเสมอภาค” และโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน คือนิยามของการศึกษาฟินแลนด์
สาขาที่เลือกเรียนคือ Digital Culture คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยยูวาสกูล่า (Jyväskylä) เรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของมนุษย์ วิพากษ์วัฒธรรมของมนุษย์ในยุคดิจิทัล ประเทศในแถบนอร์ดิกเค้าจะมีภาควิชาใหม่ๆ ให้ผู้ที่สนใจได้เลือกเรียน โดยไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่กับกรอบวิชาแบบเดิม การเรียนการสอนเค้าเน้นให้เราไปเท่าทันโลก เราสนใจเรื่องภาษา วัฒนธรรม วรรณคดี บันเทิงคดีต่างๆ อยู่แล้ว เลยเลือกเรียนสาขานี้
ฟินแลนด์มีพื้นฐานเรื่องความเสมอภาค เรารู้จากประสบการณ์ตรงเลย คือ ตอนนั้นมีเปิดรับสมัครนักศึกษาแลกเปลี่ยนไปเรียนที่โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ทางมหาวิทยาลัยก็เปิดรับให้ทุกคนสมัครได้เลย
“เค้าถือว่า ณ วันที่คุณเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้นแล้ว คุณก็มีสิทธิเท่าเทียมกับนักศึกษาคนอื่นๆ รวมถึงพลเมืองของประเทศเค้าด้วย”
มหาวิทยาลัยบังคับเรียนภาษาฟินแลนด์ขั้นพื้นฐาน 2 ตัวเพื่อให้เรามีพื้นในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วคนฟินแลนด์ที่อายุไม่เกิน 40 ปีก็สามารถสื่อสารกับเราด้วยภาษาอังกฤษได้นะ สำหรับรายวิชามี 3 รูปแบบคือวิชาพื้นฐาน วิชาเลือก แล้ววิชาพิเศษที่เปิดเป็นคอร์สสั้นๆ โดยผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ มาสอนให้
วิชาความรู้เป็นสิ่งที่ไม่ตายตัว มาจากทุกที่และเปลี่ยนไปตลอด ทำให้เราได้ฟังทัศนะใหม่ๆ จากทั่วโลก การศึกษาที่ฟินแลนด์
เป็นไปเพื่อมนุษย์ที่หลากหลาย
“รัฐสวัสดิการ” ค่าครองชีพแพง ภาษีสูง แต่กลับใช้เงินน้อยกว่า
มหาวิทยาลัยยกเว้นค่าเล่าเรียนให้ แต่ค่ากินอยู่เราจ่ายเอง ฟินแลนด์เหมือนเป็นประเทศที่แพงนะ ค่าครองชีพที่นั่นแพง จ่ายภาษีสูง แต่เรากลับใช้เงินไม่เยอะ เพราะที่นั่นเป็นรัฐสวัสดิการ คือรัฐดูแลทุกอย่าง การศึกษาฟรีสำหรับทุกคน หากตกงานรัฐจะจ่ายเงินอุดหนุนให้ โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรมนั้นแทบไม่มีเลยเพราะทุกคนท้องอิ่มจึงไม่มีความจำเป็นต้องก่อคดี และมีค่าลดหย่อนหลายๆ อย่างให้กับคนในประเทศ อย่างค่ารถเมล์สำหรับนักเรียน นักศึกษาก็คิดในราคาที่ถูกกว่า
วันแรกที่เจอหน้าอาจารย์แนะแนวเค้าบอกเลยว่าถ้านักศึกษาอยากจะประหยัดเงิน ให้เข้าป่าเก็บเบอร์รี่ เก็บเห็ด แล้วก็ล่าสัตว์ พอได้ยินอย่างนั้นนักศึกษาต่างชาติทั้งห้องหัวเราะครืนเลย แต่สุดท้ายแล้วเชื่อมั้ยว่าทั้ง 3 อย่างนั้นทุกคนได้ทำหมดเลย เพราะกิจกรรมหย่อนใจหลักๆ ของพวกเราคือนั่งเล่นริมทะเลสาบ เนื่องจากฟินแลนด์เป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ ขับออกมาจากเมืองหลวง 5 กิโลเมตรก็เป็นป่าแล้ว
วัฒนธรรมการอยู่กับธรรมชาติของชาวฟินน์ “เรียนรู้ธรรมชาติเรียนรู้ตัวเอง”
วัฒนธรรมการอยู่กับธรรมชาติ อย่างถ้าขับรถไปตามไฮเวย์แล้วเห็นรถจอดอยู่ข้างทาง เป็นอันรู้กันว่าเจ้าของรถเดินเข้าป่าไปแล้ว ไปเก็บเห็ด เก็บเบอร์รี่ ล่าเป็ดอะไรก็ว่ากันไป ที่นี่เดินไปทางไหนก็เจอทะเลสาบแล้ว ลองเสิร์จแผนที่โลกดูได้เลย ทุกครอบครัวจะมีบ้านริมทะเลสาบ ซึ่งไม่ใช่สิ่งหรูหราอะไรแต่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนในประเทศนี้
ที่ต้องการใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติ
ช่วงปิดเทอมฤดูร้อน 3 เดือน เราเลยลองไปเป็นคนงานในไร่สตรอว์เบอร์รี่ ที่เมืองเวซาโตะ (vesanto) กับเพื่อนชาวเยอรมันและจีน เป็นเรื่องประทับใจที่สุดคือได้ทดสอบตัวเอง ลองทำสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะทำได้อย่างการไปเก็บสตรอว์เบอร์รี่ นั่งยองๆ เก็บวันละหลายๆ ชั่วโมง ทำให้เราได้เพื่อนใหม่ที่เป็นคนจากรัสเซีย โดยเค้าใช้เวลาช่วงนึงมาทำงานในไร่ เพื่อเก็บเงินไปสานฝันการเป็นนักแสดงละครเวทีต่อที่ประเทศของตัวเอง
อีกเรื่องคือเราได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ พอมีวันหยุดเราก็ปั่นจักรยานไปหามุมนั่งสเก็ตภาพวิวทิวทัศน์ต่างๆ อยู่ในกรุงเทพฯ เหมือนเรารู้จักธรรมชาติแล้ว แต่พอไปอยู่ฟินแลนด์ เรากลับได้รู้จักกับธรรมชาติที่แท้จริง ได้รู้จักความเงียบ ซึ่งเราสามารถสัมผัสกับตัวตนของตัวเองในอีกมุม เราได้รู้จักกับธรรมชาติทั้งธรรมชาติของตัวเอง และธรรมชาติรอบๆ ตัว
บางคนอาจทนไม่ได้นะกับความเงียบ เวลาหน้าหนาวที่ช่วงเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน บางครั้งเราก็รู้สึกเหงากับบรรยากาศมืดๆ สลัวๆ นั้นเหมือนกัน ในช่วงระยะเวลา 3 – 4 เดือน (ต.ค. – ธ.ค.)
การศึกษาที่ “เน้นพัฒนามนุษย์” มองเห็นมนุษย์เป็นมนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักร
โมเดลการศึกษาแบบฟินแลนด์จะเอาไปปรับใช้กับที่อื่นได้อย่างไร ผู้เขียนหนังสือ Finnish Lessons 2.0 บอกเอาไว้ว่าถ้าสวมโมเดลเลยนั้นทำไม่ได้ เพราะรูปแบบนี้พัฒนาขึ้นเพื่อให้เหมาะกับคนฟินแลนด์ ประเทศที่มีประชากร 5 ล้านคน งบประมาณประมาณนี้กับระบบแบบนี้ แต่ถ้ามีการถอดบทเรียน ข้อคิด วิธีการบางอย่างของฟินแลนด์แล้วนำมาปรับให้เข้ากับบริบทของไทย อาจเป็นไปได้มากกว่า
เรื่องที่เราคิดว่าสามารถนำมาปรับใช้ได้ในประเทศไทยคือ การศึกษาที่ยั่งยืน เน้นไปที่การพัฒนามนุษย์ โดยเห็นมนุษย์เป็นมนุษย์ พัฒนามนุษย์ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ไม่ใช่พัฒนาเพื่อมาเป็นฟันเฟืองของระบบเศรษฐกิจเพียง
อย่างเดียว สามารถดึงเอาศักยภาพของคนออกมาได้อย่างเต็มที่ การศึกษารูปแบบนี้จะไม่นำเอาบล็อกๆ เดียวมา
วัดคนทุกคน เพราะแต่ละคนต่างมีความถนัดที่แตกต่างกัน
ระบบการศึกษาของฟินแลนด์ เห็นคนเป็นมนุษย์ ไม่ได้เป็นเครื่องจักรในระบบอุตสาหกรรม มนุษย์นั้นผิดพลาดได้ มีธุระในชีวิตได้ ทำให้มีการจัดสอบ 2 – 3 รอบ เพราะ “เข้าใจความเป็นมนุษย์” ไม่ได้มองว่าคุณสอบไม่ผ่านแล้วคุณเป็นคนโง่
ในห้องเรียนฟินแลนด์ชั้นประถมจะมี “ครูพิเศษ” ที่คอยช่วยเด็กที่มีปัญหา ณ จุดใดจุดหนึ่งในชีวิต พวกเขาจะเตรียมความพร้อมในการรับมือกับนักเรียนแต่ละคน เพราะเขามองทุกคนอย่างเสมอภาค จะไม่แบ่งแยกว่าเด็กคนนี้อ่านออกช้า เรียนรู้ช้า ให้จัดไปอยู่อีกห้องนึง หรือต้องไปเรียนที่โรงเรียนเฉพาะทาง แต่ครูพิเศษนี้เองที่จะเป็นคนคอยช่วย
ประคับประคอง เด็กๆ จะไม่รู้สึกว่าตัวเองถูกกีดกันออกไปอยู่ในอีกมุมนึง
เราคิดว่าการมองมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ สามารถเริ่มทำได้เลยนับตั้งแต่วันนี้ด้วยตัวของเราเอง
หมายเหตุ: ฟินแลนด์เพิ่งเปลี่ยนแปลงเรื่องการยกเว้นค่าธรรมเนียมการศึกษาเมื่อ 2 – 3 ปีที่แล้ว โดยนักศึกษาต่างชาติต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษา (ยกเว้นคนที่ถือสัญชาติใน EU ที่ยังได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม)
ผู้ที่สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ cimo.fi ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของฟินแลนด์ที่ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างชาติ
บทความที่น่าสนใจ
“เยียวยาเจ้านายตัวเองซะ ก่อนที่จะประสาทกิน!” คุยปัญหาน่าปวดหัวกับ ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ