มัททวะ

10 ทศพิธราชธรรม – ธรรมที่พ่อสอน (มัททวะ)

10 ทศพิธราชธรรม – ธรรมที่พ่อสอน (มัททวะ)

Secret ขอน้อมนำ ทศพิธราชธรรม ข้อที่ 5 (มัททวะ) มาเผยแพร่เพื่อให้ผู้อ่านได้น้อมนำมาเป็นแบบอย่างในการครองตนเพื่อความสุขแบบพอเพียง

5. มัททวะ

ความสุภาพ อ่อนโยน

มัททวะ คือการปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วย

ความอ่อนโยน ความนุ่มนวล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นผู้มีพระราชอัธยาศัยสุภาพอ่อนโยน ทั้งพระวรกาย พระราชดำรัส และพระราชหฤทัยอย่างไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน ไม่ว่าจะเสด็จ-พระราชดำเนินไป ณ ที่แห่งใดหรือประทับอยู่ที่ใด ทรงมีสัมมาคารวะต่อสถานที่ ตลอดจนบุคคลต่าง ๆ ตามวัยวุฒิ คุณวุฒิ และชาติวุฒิ แม้กระทั่งต่อบุคคลที่เสมอพระองค์หรือต่ำกว่า จึงทรงเป็นที่รักและนับถือของพสกนิกรชาวไทย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเล่าว่า สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงสอนพระองค์เสมอว่า “อย่าลืมตัว”

“…ภูมิพลต้องเหยียบดิน ไอ้การลอยไม่เหยียบดิน เสร็จ ใช้ไม่ได้ ภูมิพลนี่เหยียบดิน เนี่ยไม่ใช่ดิน ข้างใต้นี่พื้นดินถึงเดิน เดินไปบนภูเขาก็เดินบนดิน เหาะเฮลิคอปเตอร์แล้วลงมาถึงก็เดินกับดิน”

พระราชดำรัสพระราชทานแก่บุคคลต่าง ๆ ที่มาเข้าเฝ้าฯ เนื่องในโอกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม พ.ศ. 2546


ดังนั้นภาพที่ชินตาประชาชนชาวไทยเสมอคือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชประทับลงกับพื้นและมีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จอย่างใกล้ชิดราษฎรที่ได้เข้าเฝ้าฯใกล้ชิดต่างประทับใจในพระราชอัธยาศัยอันอ่อนโยนของพระองค์ดังที่ พระพรหมมังคลาจารย์ (หรือหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ) ได้เล่าไว้ในปาฐกถาธรรมเรื่อง “พระจริยวัตรของในหลวง” เมื่อวันที่ 4ธันวาคม พ.ศ. 2520 ความว่า

“…มีคนที่นราธิวาสคนหนึ่งชื่อนายอ้วนแกเป็นกำนันเก่า เป็นคนดีอยู่ในศีลในธรรมเรียบร้อยมาก แล้วก็ขยันทำมาหากิน มีสวนเงาะ สวนยาง ไม่รู้เรื่องอะไร ในหลวงเสด็จฯไปสวนตาคนนี้ ได้ไปนั่งคุยกันใต้ต้นเงาะใหญ่เป็นเวลาตั้งชั่วโมง แกเขียนจดหมายมาเล่าปลื้มใจ ทนไม่ได้ต้องมาเล่าให้อาตมาฟังบอกว่าท่านเจ้าคุณเอ๋ย ตั้งแต่เกิดมาเป็นนายอ้วน ไม่มีตอนไหนที่จะดีใจเท่าตอนนี้ ดีใจที่ในหลวงเข้าไปในสวน แล้วไปนั่งไต่ถามความเป็นอยู่ของชาวบ้านในท้องถิ่น แกบอกว่าถึงแม้จะตายไปก็ไม่เสียดายแล้วชาตินี้…”

จากเนื้อความในหนังสือ ตามรอยพ่อก - ฮ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ ข้าราชบริพารผู้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทเล่าถึงพระราชอัธยาศัยสุภาพอ่อนโยนของพระบาท-สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไว้ว่า

“…ผมเคยได้รับคำสั่งให้ไปเข้าเฝ้าฯเพราะการทำงานของผมมีปัญหา พระองค์ท่านรับสั่งว่ามีปัญหาเกิดขึ้น และพระราชทานแนะว่าควรปฏิบัติอย่างไร ให้โอกาสเราแก้ตัวใหม่ ไม่โปรดเสียเวลาอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วแต่มีพระราชประสงค์ให้แก้ไขต่อไปข้างหน้ามากกว่า ในการรับสั่งน้ำพระเสียงจะไม่มีกร้าวหรือเชิงดุ ตรงกันข้ามกลับรับสั่งด้วยน้ำ-พระเสียงที่เย็นและปลอบใจเรา ฉะนั้นเมื่อคนทำผิด ถ้าไปเข้าเฝ้าฯจะยิ้มออกมาทุกคน”

ข้อมูลจาก นิตยสาร Secret


ทศพิธราชธรรมข้อที่ 1 10 ทศพิธราชธรรม ธรรมที่พ่อสอน (ทาน)

ทศพิธราชธรรมข้อที่ 2 10 ทศพิธราชธรรม ธรรมที่พ่อสอน (ศีล)

ทศพิธราชธรรมข้อที่ 3 10 ทศพิธราชธรรม ธรรมที่พ่อสอน (ปริจจาคะ)

ทศพิธราชธรรมข้อที่ 4 10 ทศพิธราชธรรม  ธรรมที่พ่อสอน (อาชชวะ)

ทศพิธราชธรรมข้อที่ 6 ทศพิธราชธรรมข้อที่ 6 ตบะ (ความเพียร)

ทศพิธราชธรรมข้อที่ 7 ทศพิธราชธรรมข้อที่ 7 อักโกธะ (ความไม่โกรธ)

ทศพิธราชธรรมข้อที่ 8 ทศพิธราชธรรมข้อที่ 8 อวิหิงสา (ความไม่เบียดเบียน)

ทศพิธราชธรรมข้อที่ 9 ทศพิธราชธรรมข้อที่ 9 ขันติ (ความอดทน)

ทศพิธราชธรรมข้อที่ 10 ทศพิธราชธรรมข้อที่ 10 อวิโรธนะ (ความหนักแน่น เที่ยงธรรม)

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.